วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ต.ค.นี้คนกรุงได้ก่อนคูปองลดโทรทัศน์ดิจิทัล เมื่อ 20 ก.พ.56



ต.ค.นี้คนกรุงได้ก่อนคูปองลดโทรทัศน์ดิจิทัล
 
ประเด็นการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอะนาล็อกสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล เป็นที่จับตามองของประชาชนคนไทย 22 ล้านครัวเรือน ผู้รับชมโทรทัศน์ของประเทศไทย
พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ในเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าจะเริ่มแจกคูปองเงินส่วนลดสำหรับสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบอะนาล็อกไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่ ก่อนขยายการแจกคูปองดังกล่าวให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชานเมือง และทุกพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมการเปลี่ยนผ่านจากทีวีระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิทัลได้สมบูรณ์ภายใน 4 ปี หรือครอบคลุม 95% ภายในปี 2560
“การแจกคูปองให้กับประชาชน=ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นไปตามแผน=งานการขยายโครงข่ายเพื่อรองรับการส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ซึ่งปกติจะเริ่มขยายโครงข่ายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ๆ ก่อนขยายไปยังจังหวัดแถวชานเมือง และในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ”

สำหรับ กสท. ได้วางแผนเริ่มต้นการออกใบอนุญาตเพื่อให้บริการโครงข่ายกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์
แก่ผู้ประกอบการในเดือน เม.ย.56 แล้วดำเนินการออกใบอนุญาตช่องบริการสาธารณะในเดือน พ.ค.56  ก่อนที่จะเกิดการประมูลโทรทัศน์ดิจิทัลช่องบริการธุรกิจ 24 ช่อง ในเดือน ก.ค.– ส.ค. 56  ซึ่งนับจากนั้นอีก 3 เดือน กสท. จึงจะสามารถแจกคูปองส่วนลดให้แก่ประชาชนได้ช่วงเดือน ต.ค.– พ.ย. 56
พ.อ.ดร.นที กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลอย่างจริงจัง
ดังนั้นโทรทัศน์ที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้จึงเป็นโทรทัศน์ที่รองรับการส่งสัญญาณในระบบอะนาล็อก ทั้งโทรทัศน์ที่มีรูปทรงจอแบน และโทรทัศน์ที่ยังเป็นรูปทรงใหญ่

ต่อข้อถามที่ว่าประชาชนจำนวน 22   ล้านครัวเรือนที่เป็นผู้รับชมโทรทัศน์อยู่ในขณะนี้ ควรที่จะซื้อโทรทัศน์ที่มีภาครับโทรทัศน์ระบบดิจิทัลอยู่ในเครื่อง หรือซื้อกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ที่เปลี่ยนจากสัญญาณดิจิทัลเป็นสัญญาณในระบบอะนาล็อก (เซต ทอป บ็อกซ์) จึงจะคุ้มค่ามากกว่ากัน
พ.อ.ดร.นที กล่าวว่า ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ ไม่นิยมติดตั้งเครื่องรับสัญญาณระบบดิจิทัลไว้ในตัวเครื่องโทรทัศน์ 
เพราะเมื่อภาครับสัญญาณเสียจะมีค่าซ่อมแพงกว่า ดังนั้นจึงนิยมใช้การติดตั้งกล่องรับสัญญาณแทน สำหรับประชาชนไทยที่รับชมโทรทัศน์ 22 ล้านครัวเรือน มองว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ ควรซื้อกล่องรับสัญญาณแทน ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 800-3,000 บาท และการแจกคูปองเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการแบ่งเบาภาระ แต่ถ้าใครอยากได้กล่องสัญญาณที่มีคุณสมบัติสูงมาก ๆ และมีกำลังทรัพย์ในการซื้อก็สามารถกระทำได้

“เราเป็นประเทศที่เริ่มต้นเข้าสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลช้าที่สุดในอาเซียน แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีการก้าวเข้าสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่สมบูรณ์ก่อนประเทศอื่น ๆ เนื่องจากประเทศอื่น ๆ ติดปัญหาเรื่องการขยายโครงข่าย แต่ประเทศไทยจะเน้นให้ใบอนุญาตบริการโครงข่ายกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์แก่ผู้ประกอบการรายเดิมที่มีโครงข่ายอยู่แล้วและให้นำโครงข่ายมาใช้ประโยชน์”

พ.อ.ดร.นที กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ในการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล จะไม่ส่งผลกระทบเท่ากับการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ภาพขาวดำเป็นโทรทัศน์ภาพสีเหมือนครั้งอดีต  และคาดว่าประชาชนชาวไทยจะไม่ซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่และทิ้งโทรทัศน์เครื่องเดิมถ้ายังสามารถใช้งานได้

ตุลาคมนี้เตรียมพบกับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของระบบรับ-ส่งสัญญาณโทรทัศน์ในประเทศไทย ที่ผู้ชมโทรทัศน์ 22 ล้านครัวเรือนจะเป็นผู้ที่ได้ใช้งาน.
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น