วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รัฐบาล-หน่วยงานความมั่นคง มีแนวคิดใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ดูแลชายแดนใต้ เมื่อ 20 ก.พ.56



ชื่อเรื่อง รัฐบาล-หน่วยงานความมั่นคง มีแนวคิดใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ดูแลชายแดนใต้
 ผู้เขียน  -
 แหล่งข่าวหลัก โทรทัศน์ไทยพีบีเอส
 คอลัมน์ข่าว ข่าวภูมิภาค
 URL http://www.thaipbs.or.th/content/รัฐบาล-หน่วยงานความมั่นคง-มีแนวคิดใช้-พรบความมั่นคงฯ-ดูแลชายแดนใต้
 เนื้อหารัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคง มีแนวคิดที่จะพิจารณาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เข้ามาแทนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นกฎหมายที่มีความเข้มข้นน้อยกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเปิดโอกาสให้สิทธิตามมาตรา 21 คือ ผู้ต้องหาที่เข้ามอบตัวในคดีความมั่นคง อาจเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมแทนการรับโทษได้ กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับที่รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง ใช้ดูแลสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ปี 2551 ,พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 และกฎอัยการศึก ซึ่งการประกาศใช้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ หากเปรียบเทียบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะพบว่า อำนาจการบังคับใช้ของ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร นับเป็นกฎหมายไม้นวม ที่นอกจากจะใช้อำนาจในการบังคับใช้ที่เข้มข้นน้อยกว่า และยังมีเงื่อนไขสำคัญตามมาตรา 21 ที่ระบุถึงการเปิดทางให้ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง ที่ยอมเข้ามอบตัวต่อทางการ สามารถเลือกเข้ารับการฝึกอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน แทนการรับโทษ ซึ่งทั้งหมดยังต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่า ผู้ต้องหารายนั้นๆ ได้กระทำการลงไปเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ โดยให้อำนาจศาลเป็นผู้พิจารณา แนวคิดการนำพระราชบัญญัติฉบับนี้มาใช้ ทดแทนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่กำลังจะหมดอายุลงในช่วงกลางเดือนหน้า เป็นแนวคิดที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมด้านความมั่นคงที่ร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ยังอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปที่ชัดเจน เบื้องต้น เห็นว่า หากพื้นที่ใดที่สถานการณ์เริ่มน้อยลง ก็จะเก็บเป็นข้อมูลไว้ เพื่อพิจารณาปรับลดจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นพ.ร.บ.ความมั่นคง หลังมีข้อมูลดังกล่าว หลายฝ่ายประสานเสียงเห็นด้วยในการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้ ซึ่งมีการตีความกันว่า นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากยึ้น ยังจะเป็นการส่งสัญญาณถึงสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายลง แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งจะพบว่า ขณะนี้ยังคงมีหลายพื้นที่ที่เกิดเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฉบับนี้ ที่ได้เริ่มนำร่องมาตั้งแต่ วันที่ 1 ธันวาคม 2552 ในสมัยรัฐบาลของ นายอภิทธิ์ เวชชาชีวะ จนมาถึงในปัจจุบัน ซึ่งบังคับใช้อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี พื้นที่รอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นอำเภอเดียวในพื้นที่สามจังหวัดที่ประกาศใช้ ทำให้อำนาจของกฎหมายฉบับนี้ บังคับใช้กับ 5 อำเภอจาก 37 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา หากชี้เฉพาะเจาะจงไปที่ความสำคัญของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯตามมาตรา 21 จะพบว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี หลังการประกาศใช้ มีผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ผ่านกระบวนการอบรมตามมาตรานี้ เสร็จสิ้นเพียง 2 คน และอยู่ในกระบวนการอบรมอยู่อีก 1 คน ซึ่งกรณีนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะนำว่า หากรัฐบาลต้องการให้กฎหมายฉบับนี้สัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น อาจต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมให้ความร่วมมือ เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการก่อนที่จะนำไปสู่การนำตัวผู้ต้องหาไปอบรม ที่ต้องผ่านขั้นตอนในการพิจารณาของศาล อาจทำให้ผู้ที่ต้องการเข้ามอบตัว ไม่มั่นใจว่า จะถูกศาลพิพากษาให้รับผิดหรือไม่ จึงมีผู้เข้าสู่กระบวนการนี้ไม่มากนัก แม้แนวคิดนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า จะประกาศใช้หรือไม่อย่างไร แต่รัฐบาล ยืนยันว่า กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม ขณะที่ฝ่ายค้าน ก็มีแนวโน้มที่จะเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนฝ่ายที่ต้องปฏิบัติการในพื้นที่อย่างกองทัพ แม้จะตอบไม่เต็มเสียงว่า สนับสนุนแนวทางนี้หรือไม่ โดยระบุว่า การจะบังคับใช้กฎหมายฉบับใด ต้องขึ้นอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวม และความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งหลายพื้นที่อาจต้องบังคับกฎหมายหลายฉบับร่วมกัน
 ภาพประกอบ [1]
 วันที่เผยแพร่ 20 ก.พ. 2556
 วันที่บันทึกข้อมูล 20 ก.พ. 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น