วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วสิษฐ เดชุกุญชร : รบกับโจรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ 19 ก.พ.56



ชื่อเรื่อง วสิษฐ เดชุกุญชร : รบกับโจรในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 ผู้เขียน  -
 แหล่งข่าวหลัก มติชนออนไลน์
 คอลัมน์ข่าว เด่นวันนี้
 URL http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1361244857&grpid=01&catid=&subcatid=
 เนื้อหาผมตั้งใจจะเขียนเรื่องอื่น แต่พอได้เห็นข่าวโจรบุกเข้าตีฐานนาวิกโยธินที่จังหวัดนราธิวาส แล้วถูกทหารตอบโต้จนโจรเสียชีวิตไปถึง 16 คน ก็เลยเปลี่ยนใจ ขอเขียนเรื่องนี้ก่อน ที่ผมเรียกว่า โจรŽ ก็เพราะพฤติการณ์ของมันเป็นแบบโจรจริงๆ และเป็นมหาโจร ไม่ใช่โจรกระจอกอย่างที่ (พ.ต.ท.) ทักษิณเคยเรียกหรือเข้าใจ ทางราชการเรียกเพราะๆ ว่า ผู้ก่อความไม่สงบŽ ก็แล้วแต่ แต่จังหวัดนราธิวาสเป็นหนึ่งในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตั้งอยู่ติดกับมาเลเซีย อีกสามจังหวัด คือสงขลา ยะลา และสตูล ส่วนปัตตานีเป็นจังหวัดเดียวที่ไม่ติดกับมาเลเซีย เฉพาะนราธิวาสนั้น เกือบทุกอำเภอต้องถือว่าเป็นพื้นที่วิกฤตทั้งนั้น เพราะมีเหตุการณ์โจรลอบวางระเบิด โจรฆ่าราษฎร ฆ่าครูฆ่าพระ และโจรลอบวางระเบิดและยิงฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อยู่เป็นประจำ เจ้าหน้าที่ ทั้งพลเรือน ตำรวจและทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในนราธิวาสนั้น จะว่าทำงานอยู่ในสนามรบตลอดเวลาก็ไม่ผิด การที่โจรสามารถเคลื่อนที่ฆ่าและทำร้ายชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อยู่ได้เสมอๆ นั้น แสดงว่าโจรสามารถทำให้ราษฎรกลัว จนราษฎรไม่กล้าให้เบาะแสความเคลื่อนไหวของโจรให้เจ้าหน้าที่รู้ ในการตอบโต้กับโจร ตำรายุทธศาสตร์ยุทธวิธีตั้งแต่ไหนแต่ไรมาสอนว่า ทหารหรือตำรวจต้องทำให้ชาวบ้านเชื่อถือและมั่นใจ จนกล้าบอกข่าวหรือให้เบาะแสความเคลื่อนไหวของโจร มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะตกเป็นเบี้ยล่างและได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิต ออกจากฐานหรือกำลังจะกลับฐาน ก็ถูกวางระเบิดหรือซุ่มยิงดังที่เป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านลือยอ ตำบลบาเระเหนือ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อคืนวันที่ 12 หรือเช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 นั้น แสดงว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป ชาวบ้านเชื่อถือและมั่นใจในเจ้าหน้าที่ ก่อนหน้านั้นจึงได้เตือนเจ้าหน้าที่และนาวิกโยธินที่ฐานปฏิบัติการของกองร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจที่ 32 ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านลือยอจึงรู้ตัว และเตรียมการตั้งรับเอาไว้ อย่างพร้อมสรรพ ตามข่าวและจากปากคำของทหารนาวิกโยธินผู้หนึ่ง ชุดลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ซึ่งวางกำลังไว้ก่อนแล้ว ปล่อยให้ส่วนหน้าของโจรผ่านเข้าไปก่อนโดยโจรไม่รู้ตัวตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา สี่ชั่วโมงต่อมาคือเมื่อประมาณ 1 นาฬิกาของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ กำลังส่วนใหญ่ของโจรจึงไปถึง คงเป็นเพราะได้รับรายงานจากส่วนหน้าและเข้าใจว่าทหารไม่รู้ตัว โจรจึงลงจากรถแล้วเข้าตีทันทีทั้งทางด้านหน้าและหลังฐาน เจ้าหน้าที่ซึ่งคอยพร้อมอยู่แล้วก็ตอบโต้ ผลก็คือโจรตายอยู่ในที่รบ 16 ศพ ส่วนเจ้าหน้าที่ปลอดภัยทุกคน ในการตรวจพื้นที่หลังการต่อสู้ เจ้าหน้าที่พบว่า โจรแต่งตัวในเสื้อผ้าชุดพรางคล้ายทหาร หรือตำรวจ บางคนสวมเสื้อเกราะป้องกันกระสุน อาวุธปืนที่ยึดได้ 16 กระบอกมีทั้งปืนเล็กยาว อัตโนมัติและปืนพก ปืนเล็กยาวบางกระบอกติดกล้องสำหรับเล็งด้วย ในรถยนต์ที่โจรทิ้งเอาไว้มี เชือก ขดลวด และถังแก๊ส แสดงว่าโจรเตรียมที่จะใช้เชือกหรือลวดมัดมือเท้าเจ้าหน้าที่ (หากจับเป็นได้) และจะเผาฐานปฏิบัติการแห่งนั้นด้วย นอกจากนั้น ยังปรากฏว่าโจรตัดต้นไม้ขวางถนนและโปรยตะปูไว้บนถนน เพื่อป้องกันมิให้กำลังเสริมของเจ้าหน้าที่เข้าไปยังฐานนาวิกโยธินแห่งนั้นได้ ข้อน่าสังเกตก็คือ โจรสามารถรวมกำลังกันได้มากถึงประมาณ 50 คน และเคลื่อนที่ด้วยรถยนต์กระบะบรรทุกสองคัน จักรยานยนต์อีกจำนวนหนึ่ง การเคลื่อนไหวในเวลากลางคืนทำโดยไม่กลัวว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจพบหรือสกัดกั้น หลังเกิดเหตุ ทั้ง พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศเคอร์ฟิว หรือห้ามประชาชนออกนอกบ้าน เฉพาะในตำบลที่เกี่ยวข้อง 6 ตำบล แต่ก็เพียง 24 ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยของราษฎรในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังติดตามจับกุมโจรเท่านั้น และทั้งแม่ทัพและ น.ท.ธรรมนูญ วรรณา ผู้บังคับฐานปฏิบัติการนาวิกโยธินแห่งนั้นได้แสดงความเสียใจกับครอบครัวของโจร เพราะเชื่อว่าคงไม่มีส่วนรู้เห็นกับพฤติการณ์ของโจรที่เป็นญาติของตน การแสดงท่าทีเช่นนั้นนับว่าถูกต้อง เพราะทหารและโจรเป็นคู่กรณีกันโดยตรง แต่การที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศจะชดเชยความเสียหายให้แก่ครอบครัวของโจรเกือบจะในทันทีนั้น ต่างกันและไม่สมควร เพราะรองนายกรัฐมนตรีคือผู้บังคับบัญชาคนหนึ่งของทหาร สิ่งที่น่าจะทำเป็นเบื้องแรกควรจะเป็นการยกย่องและให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่นาวิกโยธินที่ป้องกันฐานและป้องกันตนเองสำเร็จ เพราะถ้าฐานแตกและทหารเสียที่มั่นให้แก่โจร ไม่แต่เจ้าหน้าที่ทหารและครอบครัวญาติมิตรเท่านั้น แต่ประชาชนก็จะเสียขวัญ เพราะเห็นว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่เองก็ยังไม่สามารถรักษาฐานของตนไว้ได้ แล้วจะป้องกันรักษาชีวิตของเขาได้อย่างไร เหตุร้ายที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งล้วนเป็นบทเรียนทั้งนั้น บทเรียนบทหนึ่งสำหรับเหตุร้ายครั้งนี้ คือความเติบโตและกำเริบเสิบสานของโจรที่กล้าท้าทายกำลังของเจ้าหน้าที่ ขณะที่กำลังเขียนเรื่องนี้ก็มีข่าวว่ามีเหตุระเบิดหลายแห่งในจังหวัดปัตตานี แสดงว่าโจรยังไม่เข็ดหลาบ แต่ยังเดินหน้าท้าทายรัฐบาลต่อไปอีก ในขณะเดียวกับที่เตือนให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความระมัดระวังและพร้อมที่จะเผชิญและตอบโต้ การแก้แค้นของโจร รัฐบาลและผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะต้องนำบทเรียนนี้ไปพิจารณา เพื่อหาทางยับยั้งความเติบโตและความอุกอาจของโจรด้วยในระดับสูงและมิติที่กว้างกว่า รัฐบาลจะต้องหาทาง แสวงความร่วมมือจากรัฐบาลมาเลเซีย เพราะปรากฏว่าหลังเกิดเหตุโจรบางคนบางพวกหนีข้ามพรมแดนเข้าไปหลบอยู่ในประเทศนั้นเสมอ นอกจากนั้น รัฐบาลยังจะต้องปราบปรามอาชญากรรมอย่างอื่นๆ ที่อาจจะสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับโจร เช่น การลักลอบนำสินค้าเถื่อนข้ามแดนเข้ามาในประเทศ และการลักลอบค้ายาเสพติด เป็นต้น ถ้ามิฉะนั้นทหารและตำรวจก็จะตกอยู่ในฐานะต้องเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ต่อไปเรื่อยๆ และการทำสงครามกับโจรก็จะยืดเยื้อต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด
 ภาพประกอบ [1]
 วันที่เผยแพร่ 19 ก.พ. 2556
 วันที่บันทึกข้อมูล 19 ก.พ. 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น