วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มาตรการเยียวยา 16 ศพไฟใต้ เมื่อ 18 ก.พ.56



ชื่อเรื่อง มาตรการเยียวยา 16 ศพไฟใต้
 ผู้เขียน  -
 แหล่งข่าวหลัก หนังสือพิมพ์ข่าวสด
 คอลัมน์ข่าว การเมือง : รายงานพิเศษ
 URL http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd2Iyd3dNakU0TURJMU5nPT0=§ionid=TURNd05BPT0=&day=TWpBeE15MHdNaTB4T0E9PQ==
 เนื้อหาแนวคิดการเยียวยาผู้ก่อการร้าย 16 ศพ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์กลุ่มกองกำลังบุกโจมตีฐานปฏิบัติการนาวิกโยธิน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส มีทั้งเสียงสนับสนุนและความเห็นที่แตกต่าง มีข้อเสนอและความเห็นจากนักวิชาการซึ่งคร่ำหวอดกับปัญหาในพื้นที่และภาคประชาสังคม ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ถ้าเป็นการเยียวยาตามความเหมาะสม เพื่อให้ได้ภาพทางการเมืองในวงกว้างผมเห็นด้วย แต่ต้องภายหลังตรวจสอบอย่างละเอียดว่าสมาชิกในครอบครัวที่จะได้รับการเยียวยานั้นไม่เกี่ยวข้องหรือเห็นด้วยกับการปฏิบัติการที่เกิดขึ้น การเยียวยาเพื่อหวังเปลี่ยนความคิดทางการเมืองในทันทีไม่น่าจะมีผล เพราะอุดมการณ์เหล่านี้ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่ปี 2527 ขณะที่รัฐไม่เคยวางยุทธศาสตร์การต่อสู้ทางความคิด กรณีกรือเซะ ตากใบ หมดไปกี่ล้านแล้วได้อะไรบ้าง เราต้องสู้โดยใช้การวิเคราะห์จนมองออกว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มไหนเสียก่อน การใช้เหตุเฉพาะหน้ามาลบล้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันเป็นไปไม่ได้ เพราะปัญหาในพื้นที่นี้ไม่เหมือนที่อื่น การเยียวยาโดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์จะเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคต และสร้างความรู้สึกกับข้าราชการทั้งหลายที่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตทุกวันเหมือนกัน อย่าให้มองว่าเป็นสองมาตรฐาน อย่าให้คนมองว่ารัฐหลงกลกลุ่มผู้ก่อการร้าย ไม่เช่นนั้นจะแก้ยากขึ้นไปอีก การเยียวยาต้องใช้หลักจิตวิทยา เป็นการแสดงความเห็นใจในฐานะคนไทยด้วยกันที่ต้องสูญเสีย การสมานแผลท่ามกลางสงครามไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ไม่ใช่เน้นเรื่องตัวเงิน การปฏิบัติการของรัฐต้องให้สังคมวงกว้างเห็นว่าเหมาะสม สมควร ไม่ใช่ให้มองว่าเอาใจมวลชนที่สนับสนุนการก่อการร้าย เยียวยาแล้วต้องได้การเมือง แต่ถ้าช่วยแล้วเสียการเมืองก็ไม่ควรทำ นอกจากช่วยเหลือค่าทำศพ ก็ต้องปรับความคิด ให้ความรู้ที่ถูกต้องว่ารัฐไม่เหมือนกับที่เขาปลุกระดม แต่พร้อมช่วยและให้ความเสมอภาคเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน ต้องอาศัยผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปพูดคุยว่าเขาไม่ใช่คนชายขอบที่ถูกโดดเดี่ยว ส่วนการเยียวยาด้วยเงินก้อนต้องพิสูจน์ก่อนอย่างที่บอกไว้ข้างต้น เหตุที่เกิดขึ้นพบว่าผู้เสียชีวิตบางคนมาจากครอบครัวที่ยากจนจริงๆ และเป็นความหวังของครอบครัว การเยียวยาก็ต้องช่วยให้ครอบครัวเขามีความหวัง ซึ่งหลายฝ่ายต้องร่วมกันพิจารณา ส่วนผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น โดนลูกหลง ทรัพย์สินหรือพื้นที่ทำกินเสียหาย รัฐมีหน้าที่ดูแลและมีกองทุนอยู่แล้วช่วยได้ทันที ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การเยียวยากับคนกลุ่มนี้อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดกระบวนการสันติภาพ เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ในการแก้ไขความรุนแรง อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสันติภาพ โดยยึดหลักไม่ได้มองผู้เสียชีวิตเป็นผู้ร้ายแต่เป็นผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยใช้วิธีรุนแรงซึ่งกระทำผิดกฎหมาย แต่การจัดการต้องแยกแยะคนผิดจากครอบครัว การเยียวยาจากรัฐเป็นมุมมองในเชิงมนุษยธรรม เท่ากับเปิดให้มีการพูดคุยเพื่อหาแนวทางสันติ ตรงกันข้ามหากมองว่าเป็นโจรก็เท่ากับปิดประตูในการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้เป็นผลบวกต่อรัฐบาลแน่นอน แต่การเยียวยาต้องต่างจากกรณี 7.5 ล้าน เพราะเป็นคนละเงื่อนไข กรณี 7.5 ล้าน เป็นกรณีเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อประชา ชนเกินเลย หรือละเมิดสิทธิ์ของประชาชน ทำให้เกิดความสูญเสีย แต่กรณีนี้ต่างกัน การเยียวยาต้องสมเหตุสมผล เพื่อให้เป็นเงื่อนไขไปสู่การเปิดพื้นที่สร้างกระบวนการสันติอย่างที่กล่าว ลดเงื่อนไขความเกลียดชัง และอาจเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การพูดคุยเจรจากับกลุ่มที่ปฏิบัติการอยู่ในตอนนี้ และอย่ามองว่าการเยียวยาเป็นการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติการ แต่เป็นมาตรการที่ต้องการให้คนที่เหลืออยู่กลับมาสู่แนว ทางสันติ มีการพูดคุย การเยียวยาอย่างน้อยต้องให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตอยู่ได้ไม่ลำบาก ก่อนหน้านี้การเยียวยาในเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นการให้การศึกษาแก่ลูก ให้สวัสดิการด้านสังคม เรื่องการรักษาพยาบาล ส่วนการเยียวยาเป็นเงินก้อนก็ต้องพิจารณาว่าจำนวนที่เหมาะสมเป็นแค่ไหน เพราะเน้นการเยียวยาเรื่องจิตใจ และเป็นจิตวิทยาไม่เน้นเรื่องตัวเงินมากเท่าไหร่ กรณี 7.5 ล้าน เป็นผลกระทบเกิดจากรัฐผิดพลาดแต่กรณีนี้เป็นงานการเมือง เป็นมาตรการในเชิงจิตวิทยา การเยียวยาเพื่อลดความเกลียดชัง โกรธแค้น ขณะเดียวกันก็ต้องชี้แจงกับคนที่ไม่เห็นด้วยต่อการเยียวยาให้กับคนกลุ่มนี้ว่าเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ไม่ได้เน้นเรื่องเงินทองมากมายแต่ทำเป็นเชิงสัญลักษณ์ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ที่ปรึกษามูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า ในแง่มนุษยธรรมผมว่าน่าจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล และไม่ใช่การเยียวยาผู้เสียชีวิตแต่เป็นการเยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ลูกหลานหรือญาติเขาติดไปกับขบวนการก่อการร้าย คนที่เสียชีวิตไปแล้วคือคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐแต่ไม่ได้หมายความว่าครอบครัวเขาเห็นด้วย หรือมีส่วนรู้เห็น แน่นอนว่ามีคนที่เห็นต่างในเรื่องนี้โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก บางคนอาจมองว่ากรณีที่รัฐเป็นฝ่ายสูญเสียไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่โต การเยียวยาไม่ปรากฏเป็นข่าว หรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐบางคนอาจไม่เห็นด้วย มองอย่างเป็นธรรม ผู้ตายก็เป็นพลเมืองไทยเพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ เหมือนกรณีการต่อสู้ระหว่างเสื้อแดงกับทหารในเหตุการณ์รุนแรงปี 2553 ก็เป็นหลักการเดียวกัน ซึ่งต่อมามีการเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต เหตุการณ์กรือเซะ เดือนเม.ย.2547 ที่มีผู้เสียชีวิต 32 ศพ ทั้งที่รัฐอ้างว่ามีการยิงต่อสู้ และรัฐบาลสมัยนั้นก็บอกว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ก่อการร้ายแต่ก็มีการเยียวยาเบื้องต้นรายละ 5 แสน กรณีนี้ก็คล้ายคลึงกันคือเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่กระทำต่อเจ้าหน้าที่ แต่การเยียวยาให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายกรณีนี้ไม่ได้คิดว่าต้องเยียวยาให้เต็มจำนวน แต่ควรให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช่ถือหลักเกณฑ์เดียวกับ 7.5 ล้าน ต้องถือหลักเช่นเดียวกับกรณีกรือเซะ และรัฐต้องคิดอย่างละเอียดอย่าให้มองได้ว่าเลือกปฏิบัติ นอกจากค่าทำศพ อาจมีเงินอีกเล็กน้อยเพื่อช่วยหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นรายๆ ไป การเยียวยาเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่รัฐบาล ที่จะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เจ็บแค้น ชิงชังคนไทยด้วย หรือคนต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม จึงน่าจะเกิดผลบวก และเป็นผลบวกระยะยาว เพราะเช็ก ละเอียดแล้วจะพบผู้ก่อการร้ายในปัจจุบันเกี่ยวโยงกับผู้ก่อการร้ายในอดีต เนื่องจากเกิดความเคียดแค้น ชิงชัง เพราะคิดว่ารัฐไปฆ่าพ่อแม่พี่น้องของเขา การเยียวยาจะทำให้ความเคียด แค้น ชิงชังจากครอบครัวหรือญาติพี่น้องของผู้ตายลดน้อยลง การเยียวยาอย่างเหมาะสมกับเหตุและผลรัฐจะได้ประโยชน์มากกว่าเสีย และอาจส่งให้คนที่เหลืออยู่กลับใจมาเข้ากับภาครัฐได้ ในส่วนของชาวบ้านที่ไม่รู้อีโหน่ อีเหน่แต่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากเหตุการณ์ เช่น ชาวบ้าน หรืออาคารบ้านเรือนที่ปลูกอยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุแล้วโดนลูกหลง สวนยางพาราที่ต้องหยุดกรีดยาง แน่นอนว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบโดยตรง เหมือนกรณีประสบอุทกภัย เกิดภัยสงคราม หรือกรณีระเบิดโรงแรม ร้านรวงใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ
 วันที่เผยแพร่ 18 ก.พ. 2556
 วันที่บันทึกข้อมูล 18 ก.พ. 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น