วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

นิรโทษ-ปรองดอง อย่างไหนต้องมาก่อนหลัง บทบรรณาธิการ 12 February 2556



นิรโทษ-ปรองดอง อย่างไหนต้องมาก่อนหลัง


เวลานี้มีข้อถกเถียงกันมากว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่แยกประชาชนออกเป็นฝักฝ่ายนี้ต้องแก้ไขปัญหาด้วยการนิรโทษกรรมบุคคลที่ทำผิดกฎหมายก่อนเพื่อนำไปสู่การปรองดอง หรือต้องทำให้สังคมเกิดการปรองดองกันก่อนแล้วค่อยออกกฎหมายนิรโทษกรรม
    สังคมไทยอาจคุ้นเคยกับการนิรโทษกรรม แต่ไม่คุ้นกับการสร้างความปรองดอง เพราะเราไม่เคยขัดแย้งรุนแรง และแตกหักมากอย่างเช่นในปัจจุบันมาก่อน นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน 2475 มาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเคยออกกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ครั้ง 
    ครั้งแรกคือ พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2475 ประกาศโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ โดยให้การกระทำทั้งหลายของคณะราษฎรที่เป็นการละเมิดกฎหมาย ไม่ให้เป็นการละเมิดบทกฎหมายเลย
    และครั้งที่ 22 ครั้งสุดท้าย ที่ประเทศไทยมีการนิรโทษกรรม บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในมาตรา 309 ที่ว่า “บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้”
    แต่ส่วนใหญ่ของการนิรโทษกรรม คือการนิรโทษกรรมให้กับคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร จะมีแปลกไปบ้างคือ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ.2489 ออกโดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นการยกโทษให้แก่ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่นในครั้งที่ญี่ปุ่นเข้ามาไทย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
    เมื่อเราไม่คุ้นเคยกับการสร้างความปรองดอง ถ้าไม่ตั้งหลักให้ดี ปัญหานี้จะกลายเป็น ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แต่หากพิจารณาอย่างรอบคอบ มองปัญหาให้รอบด้าน จะพบว่าสังคมสันติสุขนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการปรองดองกันก่อน แม้จะยากที่จะทำให้แต่ละฝ่ายปรองดองกันได้ แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเกิดสัญญาณที่ดี เมื่อตัวแทนของประชาชนแต่ละฝ่าย ทั้งเหลืองและแดงร่วมโต๊ะเดียวกัน เพื่อหารือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม 
    แม้ไม่อาจเรียกว่าปรองดองได้เต็มปาก แต่ทำให้เห็นว่า หากไม่นั่งโต๊ะเดียวกันเพื่อคุยปัญหาร่วมกัน ความขัดแย้งก็ไม่อาจแก้ไขได้ ฉะนั้นที่ต่างฝ่ายต่างเสนอพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด นิรโทษกรรม โดยไม่มีการหารือกันทั้งสังคม ก็ยากที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรมได้ 
    มีการนิรโทษกรรมครั้งหนึ่งที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุด นั่นคือ พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ออกโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นพ้นผิดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่เข้าชุมนุม และทหารที่ทำการปราบปรามประชาชน
    แต่การนิรโทษกรรมในครั้งนั้น แม้ประชาชนจะพ้นความผิดทั้งหมด แต่ผู้ที่สังหารประชาชน รวมถึงผู้สั่งการก็พ้นความผิดไปด้วย หากนำมาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันจะยิ่งเกิดความขัดแย้งหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะการนิรโทษกรรมทุกความผิดที่เกิดจากการชุมนุม แทบทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ยกเว้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนเดียว ที่มีคดีคอรัปชั่นติดตัวมากมาย 
    เราพูดกันมามากแล้วว่า แนวทางการนิรโทษกรรมควรเป็นแบบไหน แต่สุดท้ายหาแนวทางที่ลงตัวไม่ได้ เนื่องจากแต่ละฝ่ายต้องการให้ฝ่ายของตนเองได้ประโยชน์มากที่สุด นั่นเพราะไม่มีการนั่งหารือร่วมกันให้เป็นเรื่องเป็นราวนั่นเอง การหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการจะเป็นประตูเปิดไปสู่ความปรองดอง และเมื่อหารือจนถึงจุดที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ การปรองดองก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อนั้นก็สามารถนิรโทษกรรมได้ แต่การที่จะเดินไปสู่จุดนั้นไม่ง่ายเลย ถ้าไม่เริ่มเสียตั้งแต่วันนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น