วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สรุปข่าวสำคัญ วันที่ 11 ก.พ.56



40 ส.ว.ค้านร่างกม.นิรโทษกรรมฉบับ 'อุกฤษ'


          ในการประชุมวุฒิสภา วันนี้ (11 ก.พ.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.
          ได้หารือถึงเรื่องการออก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.) ที่มีนายอุกฤษ มงคงนาวิน เป็นประธานว่า ส่วนตัวขอคัดค้านร่างดังกล่าว เพราะ 1.นายกรัฐมนตรีอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการนิรโทษกรรม ให้กับผู้ที่กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้ง ส.ว.ไม่บังควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณากฎหมายที่จะนิรโทษกรรมความผิดดังกล่าว เพราะร่าง พ.ร.บ.มาตรา 3 ฉบับ คอ.นธ. ได้ระบุว่าจะนิรโทษกรรมให้กับการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งจะมีผลรวมถึงกรณีที่กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ อย่างกรณี "ดา ตอปิโด" หรือ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เป็นต้น
          2.ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ระบุว่า ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวในห้วงเวลาดังกล่าว ซึ่งไม่มีความชัดเจนในการตีความ ทำให้ถือโอกาสจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยในส่วนนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะมีการช่วยเหลือพรรคพวกกัน ดังนั้น เพื่อความชัดเจนให้ระบุเพิ่มเติมว่าไม่รวมถึงผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ซึ่งก็จะทำให้ไม่ต้องมีคณะกรรมการตีความอีก อย่างไรก็ตามตนสนับสนุนการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้เฉพาะในส่วนของประชาชน ทุกกลุ่มทุกสีที่ชุมนุมทางการเมืองที่เดือดร้อนในขณะนี้โดยเร็ว
          ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า หากรัฐบาลจะนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่มีความผิดในการชุมนุม ก็ทำได้ไม่ยาก โดยสั่งการไปที่ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อัยการ โดยสั่งไม่ฟ้อง ศาลก็ยกให้อยู่แล้ว ถ้าประชาชนคนไหนเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ต้องห่วง แต่คนที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นการสังหารทหาร 9 นาย ตำรวจ 2 นาย ประชาชนหลายสิบคน รวมถึงบาดเจ็บนับร้อยนับพัน ไม่ควรอยู่ในข่ายนิรโทษกรรม
          "อยากให้นายกฯทบทวนข้อเสนอ ของ คอป. ให้ครบทุกข้อโดยคำนึงถึงความเหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดความปรองดองและสร้างความขัดแย้งขึ้นใหม่ในสังคม เป็นการเผชิญหน้า ยกระดับความรุนแรงขึ้น ผู้กระทำผิดต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น เหยื่อและสังคม รัฐจะต้องให้หลักประกันและคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ดำเนินคดีกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งบนหลักนิติธรรมและมาตรฐานสากล ไม่ใช่ทำเพื่อพวกตนเอง"

นิรโทษกรรม‘เสื้อแดง’ยังไม่มีคำตอบสุดท้าย


          ความศรัทธาและเชื่อมั่น เป็นพลังดึงดูดให้เกิดความคิด รวมทั้งเป็นฐานรากในการสร้างชีวิตมนุษย์ให้เติบใหญ่อย่างมีคุณค่า แต่ความศรัทธาแตกต่างกับความ งมงายด้วยเส้นแห่งเหตุผลเป็นเขตแบ่งแยก ความงมงายเป็นอาการไร้เหตุผลมายึดเหนียว แต่ศรัทธาเกิดขึ้นบนพื้นฐานเหตุผลที่เชื่อมั่นและพิสูจน์ได้จริง พลังแห่งความเชื่อและศรัทธาได้สร้างสิ่งอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ขึ้นในโลกมาก มาย ทัชมาฮาล, พระธาตุเจดีย์ หรือพระ พุทธรูปองค์ใหญ่มหึมามากมายที่สร้างเอาบนยอดเขาหรือตามหน้าผา ล้วนเป็น ความอัศจรรย์จากการขับเคลื่อนของพลังแห่งความศรัทธาที่ผู้คนเชื่อมั่นทั้งสิ้น มิแตกต่างกัน ประชาชนเสื้อแดงที่เรียกว่า “กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล” มีนางสุดา รุ่งกุพันธ์ (หวาน) อาจารย์คณะ อักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นแกนนำ ได้รวม ตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5 จำนวนหลายพันคน ในรหัส “หมื่นปลดปล่อย” เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา
          ประชาชนเหล่านี้มีความศรัทธาและเชื่อมั่นตามระบอบประชาธิปไตยของประชาชนและพวกเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ช่วยเหลือ หมู่มิตรที่ติดคุกการเมืองให้มีอิสรภาพ กลับสู่ครอบครัว เป็นกำลังหลักของคนหาเช้ากินค่ำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกคณะรัฐประหาร ขับไล่ออกนอกประเทศมานานกว่า 5 ปี ในช่วงลงเลือกตั้งครั้งแรกของชีวิตเธอมีอายุ 46 ปี เธอเติบโตบนพื้นฐานนักธุรกิจ ผู้บริหาร กิจการของตระกูลชินวัตรมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และเธอไม่เคยข้องแวะกับการเมือง รวมถึงเข้าไปสัมพันธ์ทางอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น ชีวิตการเมืองครั้งแรกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เรียนรู้จากสนามเลือกตั้งปี 2554 เพียง 49 วันเท่านั้น แล้วผลเลือกตั้งทำให้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย
          เธอเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองคนสำคัญที่สังคมยังเต็มไปด้วยคำถาม ว่า เธอเข้าใจแกน ของประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไร แต่ด้วยกติกาตามจำนวน      เสียงเลือกตั้งได้หนุนส่งให้เธอเป็นนายกรัฐมนตรีมาได้เกือบ 2 ปี ชีวิตไม่ประสีประสาทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับมีฐานะตำแหน่งโดดเด่นทางการเมืองในวันนี้ แน่นอนส่วน สำคัญมาจากพลังมวลชนที่เกิดความศรัทธา และเชื่อมั่นในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่เรียกว่า พลังเสื้อแดงสนับสนุน คนเสื้อแดงสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจเป็นเพราะเชื่อมั่นว่า เธอมีจุดยืนบนแนวทางประชาธิปไตยเช่นกัน แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไหนล่ะ ประชาธิปไตยเฉพาะการเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยที่มีแก่นสารอยู่บนความ เท่าเทียมทางการเมืองและระบบยุติธรรม แบบเดียวกัน...ยากต่อการหยั่งรู้จุดยืนทาง การเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่มวลชนเสื้อแดงกลับศรัทธาและเชื่อมั่นว่า เธอเป็น คนการเมืองพันธุ์เดียวกัน
          หลังจากเฝ้าพิสูจน์และรอคอยมานานเกือบ 3 ปี คนเสื้อแดงอิสระ ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประโยชน์ ในทางการเมืองต้องรวมพลังเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศความเชื่อและความ ศรัทธาทางการเมืองออกมาให้ชัดเจน มวลชนเสื้อแดงเรียกร้อง เสนอแนวทางคณะนิติราษฎร์ให้รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์พิจารณาเพื่อเปิดประตูคุกให้นักโทษการเมืองเสื้อแดงกว่า 1,800 คนที่ไร้ความผิด แต่ถูกคุมขังได้รับอิสรภาพ
          แนวทางคณะนิติราษฎร์ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มเติมหมวดที่ 16 ว่าด้วยการนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง แนวทางเช่นนี้มวลชนเสื้อแดงเชื่อมั่นว่า เป็นหนทางให้เพื่อนที่ร่วมต่อสู้และสนับสนุนน.ส.ยิ่งลักษณ์ จนเป็นนายก รัฐมนตรีหญิง ได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศ อิสรภาพนอกคุกแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดูนิ่งเฉยไม่มีคำตอบใดๆ หนำซ้ำ มิตรร่วมต่อสู้ตามแนวทางประชาธิปไตยกันมาอย่างแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กลับเล่นสำนวนโวหารเพื่อแบ่งแยก พลังมวลชนเสื้อแดงออกไป นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน     นปช.ให้สัมภาษณ์ราวกับตัดมิตร โดยประกาศชัดเจนไม่เข้าร่วมด้วย และยังเปรียบเปรย พลังมวลชนเสื้อแดงอิสระว่า เป็นเหมือนกฐินคนละกอง น.พ.เหวง โตจิราการ สามีของธิดา กล่าวใส่ร้ายมวลชนเสื้อแดงอิสระว่า     “ไม่มีอะไรเพียงแค่ต้องการแย่งการนำเท่านั้น” ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้อง และขึ้นประกาศบนรถโมบายล์ว่า “รัฐบาลกับคนเสื้อแดงเป็นพวกเดียวกัน” แต่ท่าทียังไม่ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร เชื่อมั่นและศรัทธาพลังประชาชนแค่ไหน หรือพวกเขามองประชาชนเป็นเพียงแค่ฐานเพื่อก้าวไปสู่การถือครองอำนาจในรัฐบาล ซึ่งก็ได้รับอย่างสมใจอยากแล้ว
          วันนี้และอีกนานเกือบ 3 ปีที่มวลชนเสื้อแดงติดคุก นายกรัฐมนตรีลืมความเจ็บปวด ทุกข์ยากของคนเสื้อแดงที่กำลังถูกกระทำย่ำยีแล้วหรือ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์จุฬา กล่าวถึงอาการนิ่งเฉย กับคนเสื้อแดงติดคุกอย่างได้อารมณ์ว่า “รัฐบาลนี้เลือดเย็น”...หรือ.... หรือ...และหรืออีกมากมาย จนสุดหยั่งลึกความศรัทธาและเชื่อมั่นต่อประชาชน
          ที่มา: http://www.siamturakij.com

ทหารนำกำลังตรวจยึดพื้นที่ป่าสงวนถูกนายทุนบุกรุก

หัวหน้าชุดที่ทำการทางยุทธวิธี กองกำลังสุรนารี 
(ทกย.กกล.สุรนารี) สนธิกำลังกับกองร้อยทหารพรานที่ 
2601เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ 
อ.บ.8 บุกตรวจยึดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบุณฑริก จ.อุบลราชธานี 
ถูกนายทุนเข้าไปบุกรุกโค่นป่าไม้ขนาดใหญ่ล้มระเนระนาดเพื่อ 
ปลูกยางพารารวมเนื้อที่กว่า 200 ไร่
พ.ท.ไกรเดช โป๊ะสูงเนิน 
หัวหน้าชุดที่ทำการทางยุทธวิธี กองกำลังสุรนารี(ทกย.กกล.สุรนารี) อ.บุณฑริก 
จ.อุบลราชธานีสืบทราบว่ามีกลุ่มนายทุนเข้าบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติบุณฑริก 
โดยการแผ้วถางป่า ตัดต้นไม้ เพื่อปลูกยางพารา จำนวนมากจึงได้สั่งการให้ร.อ.ธนาคม 
เลื่อนทอง นำกำลังทหารชุดที่ทำการทางยุทธวิธี กองกำลังสุรนารี 
สนธิกำลังกับกองร้อยทหารพรานที่ 2601 เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ 
อ.บ.8 จำนวน 30 นายกระจายกำลังเข้าตรวจสอบป่าบริเวณเขตบ้านสร้างหอม อ.บุณฑริก 
จ.อุบลราชธานี 
ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติบุณฑริก
ปัจจุบันมีเนื้อที่ป่าคงเหลือ 
180,076.26 ไร่จากการตรวจสอบพบว่า ป่าดังกล่าวเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์พื้นที่ชุ่มน้ำ 
และเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำโดมน้อยไหลลงสู่เขื่อนสิริธร 
ได้ถูกนายทุนเข้าไปบุกรุกโค่นป่าไม้ขนาดใหญ่ล้มระเนระนาดบางต้นถูกใช้ขวานฟันโดยรอบเพื่อให้ต้นไม้ยืนต้นตาย 
ซึ่งบริเวณที่ถูกบุกรุกมีต้นไม้พะยูงจำนวนมาก 
ถูกตัดโค่นลงเพื่อเตรียมลำเลียงออกมาขาย 
และได้เข้ายึดพื้นที่และใช้ยาฆ่าหญ้าแปลสภาพเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นบริเวณกว้าง รวมปริมาณเนื้อที่กว่า 
200 
ไร่
หลังตรวจสอบแล้วในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้บันทึกพร้อมทั้งถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุเอาไว้อย่างละเอียด 
และจัดเจ้าหน้าที่ปิดทางเข้าออกพื้นที่ป่าทั้งหมด 
สำหรับผู้ที่เข้าไปบุกรุกเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องที่ 
และมีข้าราชการตลอดจนชาวบ้านรวมอยู่ด้วย 
ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุมผู้กระทำผิดแต่อย่างใด 
เบื้องต้นจะได้รวบรวมพยานหลักฐานเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 
พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ฝ่าฝืนและบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ 
ต่อไป


ห่วงป.ป.ง.ยึดปอเนาะญีฮาด กระทบแก้ปัญหาชายแดนใต้ ค้านเคอร์ฟิว


          วันที่ 11 ก.พ. นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ตนเป็นห่วงการแก้ปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล เหมือนกับถอยหลังเข้าคลองอีกครั้งหนึ่ง หรือเหมือนกับการพายเรือในอ่าง จากกรณีที่ ป.ป.ง.ยึดปอเนาะญีฮาด อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพราะกระทบจิตใจของประชาชนนับถือศาสนาอิสลามและปอเนาะอีก 400 แห่ง เนื่องจากเป็นสถาบันสอนศาสนา ขอให้แยกบุคคลกับสถาบันออกจากกัน หากบุคคลทำผิดดำเนินคดี แต่อาคารและที่ดินไม่ได้ทำผิดก็ไม่ควรจะยึด เพราะเป็นหัวใจของประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม อาจจะมีการตอบโต้รุนแรง ให้ศึกษาประวัติศาสตร์ของสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ที่มีการก่อตั้งขบวนการบีอาร์เอ็นขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐจนมาถึงปัจจุบัน มาจากการยึดสถาบันปอเนาะนี้เอง เพราะจะมีการแก้แค้นเกิดขึ้นจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง
          นายเจ๊ะอาหมิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรค ปชป. เปิดเผยว่า ตนเชื่อว่าสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้จะรุนแรงขึ้นอีก โดยมีชนวนของการที่ ป.ป.ง.ยึดปอเนาะญีฮาด ขอให้คิดและวิเคราะห์แยกสถาบันกับบุคคลออกจากกัน เมื่อบุคคลที่อยู่ในปอเนาะทำผิดดำเนินการไปตามกฎหมาย แต่สถาบันปอเนาะซึ่งเป็นสถาบันทางศาสนาอิสลามไม่ควรเข้าไปยึดอายัดไว้ เพราะส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ คิดว่ารัฐบาลกำลังสร้างเงื่อนไขแห่งสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาใหม่ การยึดปอเนาะ
          “การประกาศใช้เคอร์ฟิวในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิตและจิตใจของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของฝ่ายตรงข้าม นำไปเป็นข้ออ้างขยายผลในการปลุกระดมให้เกลียดชังรัฐ สะท้อนให้เห็นว่านโยบายรัฐบาลถอยหลังเข้าคลอง ไม่สามารถจะครบคุมสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ จึงใช้ยาแรง เพราะบางครั้งการออกกฎหมายของรัฐ จะเป็นช่องทางในการนำไปขยายผล ในการปลุกระดมมวลชน ฝากไปยังรัฐบาลว่าในการคิดการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ คิดในกรอบการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ให้รอบครอบ ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลแห่งความเป็นจริง การแก้ปัญหาอย่าแก้โดยผ่านทางสื่อสาธารณะ เมื่อผิดพลาดแก้ไขได้ยาก”นายเจ๊ะอาหมิงกล่าว


อดีตผช.ผบ.ทบ.ลั่นยังไม่จำเป็นต้องเคอร์ฟิวชายแดนใต้
"พล.อ.พิเชษฐ์" อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก โยนรัฐบาลตัดสินใจเคอร์ฟิว ขณะส่วนตัวระบุ ยังไม่จำเป็น จี้ ทหารในพื้นที่ทำงานอย่างจริงจัง
พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า สถานการณ์ภาคใต้ในขณะนี้สมควรจะประกาศเคอร์ฟิวหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่ส่วนตัวมองว่าสถานการณ์ขณะนี้ ยังไม่จำเป็นต้องประกาศ เพราะยังไม่หนักหนา และการประกาศออกไป อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมได้ ดังนั้น ควรหันมากำชับทหารในพื้นที่ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง และเข้มงวดเรื่องการตรวจตรายามวิกาลมากกว่า เพราะส่วนตัวเชื่อว่าหากดำเนินการอย่างจริงจัง จะสามารถหยุดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ได้นอกจากนี้ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ยังกล่าวว่า ผู้บัญชาการทหารบก ทำเต็มที่ด้านยุทธศาสตร์แล้ว แต่ด้านยุทธวิธีต้องดีด้วย อย่าให้เสียเปรียบฝ่ายตรงข้าม ทหารอย่าหละหลวม เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแน่ใน 1 - 2 ปีนี้

เลขาฯจุฬาราชมนตรีลั่นยังไม่ถึงเวลาเคอร์ฟิวใต้
เลขานุการจุฬาราชมนตรี เผย ยังไม่ถึงเวลาเคอร์ฟิวใต้ ชี้ กฎหมายในพื้นที่มีมากเกินความจำเป็นแล้ว แนะถามคนในพื้นที่ก่อน
นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล เลขานุการจุฬาราชมนตรี เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องประกาศเคอร์ฟิว เพราะกฎหมายที่ใช้ในพื้นที่ ก็มีมากเกินความจำเป็นแล้ว ดังนั้น ต้องดูที่น้ำหนัก และเหตุผลของคนในพื้นที่ก่อนว่าจำเป็นหรือไม่ อีกทั้ง ส่วนตัวเชื่อว่าสถานการณ์ภาคใต้ในขณะนี้ แม้จะรุนแรง แต่คนในพื้นที่เริ่มรับได้แล้ว ดังนั้น การจะประกาศใช้หรือไม่ประกาศใช้ ก็ไม่แตกต่างกัน เพราะภาครัฐยังทำงานปกติ แต่ยอมรับว่า การประกาศใช้จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของทหารง่ายขึ้น แต่อาจมีผลกระทบทางด้านจิตวิทยาของประชาชนในพื้นที่ได้
"ถ้าถามคนในพื้นที่ ก็ค่อนข้างรับและปรับตัวกับสถานการณ์ที่มันขึ้นๆ ลงๆ ของเหตุการณ์ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ในแง่ของคนในพื้นที่ อาจจะมองว่ามันยังไม่จำเป็น และยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ" นายซากีย์ กล่าว
นอกจากนี้ เลขานุการจุฬาราชมนตรี ยังกล่าวว่า การประกาศใช้เคอร์ฟิว อาจทำให้การสร้างสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่มีมากขึ้น และจะมีการท้าทายอำนาจรัฐมากขึ้นตามมาด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น