วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คนพื้นที่ยี้เคอร์ฟิว ประสานเสียงผุดปัญหาเพิ่ม/สุกำพลไม่หือกูรูเหลิม! ข่าวหน้า 1 9 February 2556


คนพื้นที่ยี้เคอร์ฟิว ประสานเสียงผุดปัญหาเพิ่ม/สุกำพลไม่หือกูรูเหลิม!



กรรมการอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนใต้ นักวิชาการ ข้าราชการ ประชาธิปัตย์ ประสานเสียงค้าน "เหลิมเคอร์ฟิว" ชี้มีแต่สร้างปัญหาเพิ่ม ปฏิบัติศาสนกิจ ทำมาหากินไม่ได้ อีกทั้งเคยทำมาแล้วแต่ไม่ได้ผล "สุกำพล" กลืนเลือด แหย่ได้แหย่ไปไม่ได้โกรธ ขณะที่ "ยิ่งลักษณ์" สั่งตำรวจแยกไฟใต้  ก่อความไม่สงบหรือเรื่องส่วนตัว
    จากกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) มีแนวคิดที่จะให้ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา หลังเกิดเหตุยิงพ่อค้าผลไม้ 4 คนในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และยิงครูชาวนานั้น มีเสียงคัดค้านจากพื้นที่  เพราะยิ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน  
    นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา เผยเมื่อวันศุกร์ว่า ฝ่ายทหารเคยประกาศเคอร์ฟิวในเขตพื้นที่ อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2550 และประกาศยกเลิกเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2552 รวมเวลาการประกาศนานกว่า 2 ปี สถานการณ์ในเขต อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในห้วงที่ประกาศเคอร์ฟิวคงมีเหตุรุนแรง และสร้างเงื่อนไขทางความรู้สึกกับพี่น้องประชาชนมุสลิมไม่สะดวกละหมาดที่มัสยิดในเวลากลางคืน รวมทั้งไม่กล้าและไม่สามารถออกกรีดยางในช่วงเช้ามืด เหตุใดจึงจะประกาศใช้เคอร์ฟิวใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และ อ.กรงปินัง จ.ยะลา มีอะไรเป็นตัวชี้วัดว่าต้องประกาศใช้ และต้องประกาศเลิกใช้ 
    เขาระบุว่า ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และ อ.กรงปินัง จ.ยะลา มีข้อมูลสถิติย้อนหลังเกี่ยวกับการเกิดเหตุรุนแรงมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และ อ.กรงปินัง จ.ยะลา อาศัยข่าวดังจาก 2 เหตุการณ์ล่าสุดคือ คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มชาวนาจาก จ.สิงห์บุรีและสุพรรณบุรีที่ช่วยชาวบ้านฟื้นฟูนาร้างตามโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ใน ต.บาโลย อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บกว่า 10 ราย เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ก.พ.2556 เวลาบ่ายสี่โมงเย็น และถัดจากนั้นอีก 4 วัน มีคนร้ายยิงพ่อค้ากับลูกน้องรับซื้อผลไม้เสียชีวิต 4 ราย ในบ้านพักริมทางหลวงแผ่นดิน 410ยะลา-เบตง เวลากลางดึกที่มีการค้าขายตามปกติ มาเป็นเหตุผลกระนั้นหรือ 
    "การไม่สามารถเดินทางเวลากลางคืนไปในที่ต่างๆ ที่จำเป็นมาก กรณีละหมาดศพคนตาย กรณีเดินทางไปดูแลญาติสนิทที่เจ็บป่วย กรณีรับ-ส่งบุตรหลานไปเรียนช่วงค่ำถึงกลางคืน กรณีผู้เรียนต้องไปทำกิจกรรมในตัวเมืองระยะทาง 16  กิโลเมตรกลับบ้านกลางคืน ความเครียดของคนในพื้นที่เพิ่มขึ้น  เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน และนักเรียน/นักศึกษา   เป็นอุปสรรคในการเดินทางตามปกติที่มีการสัญจร  การรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้อยค่า จากกฎหมายพิเศษหลายชั้นที่มีในพื้นที่ และที่สำคัญคือ อีกประมาณ 5 เดือนจะถึงช่วงการถือศีลอดของมุสลิม จะเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นแก่คนในพื้นที่ " นายนิมุกล่าว
           ด้านนายซาฟีอีน เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งหากรัฐบาลเตรียมประกาศเคอร์ฟิว เนื่องจากจะส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านต้องงดกิจกรรมต่างในช่วงเวลาที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งชาวบ้านอาจจะต้องเยี่ยมญาติหรือไปประกอบพิธีศพในห้วงเวลาดังกล่าวนั้นไม่ได้ โดยเฉพาะการประกอบศาสนกิจในช่วงเวลากลางคืนอีกด้วย ซึ่งจะสร้างปัญหาที่ใหญ่หลวงกับพี่น้องประชาชน
มีแต่สร้างปัญหาใหม่
    ขณะที่นายอับดุลอาซิ เจ๊ะมามะ รองประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส กล่าวว่า การประกาศใช้เคอร์ฟิวในพื้นที่นั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบลงได้ จึงขอให้รัฐบาลทบทวนความคิดดังกล่าวให้ดี ก่อนที่จะทำอะไรลงไป ซึ่งหากทำอะไรลงไปโดยไม่คิดไตร่ตรองให้ดีแล้ว อาจจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกทางหนึ่ง  
    นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ประธานคณะกรรมการการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ได้แล้วยังอาจเป็นเงื่อนไข ที่ฝ่ายผู้ก่อเหตุได้ใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างกระแสให้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ และทำให้เกิดกระแสการไม่ยอมรับการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ซึ่งอาจจะนำมาสู่ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น 
    สอดคล้องกับ ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา บอกว่า หากมีการวิเคราะห์ตามพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา กับ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ต้องดูว่าพื้นที่เหล่านี้มีการก่อเหตุบ่อยหรือไม่ ซึ่งการวิเคราะห์พื้นที่ ต้องมีการวิเคราะห์อย่างชัดเจน เรื่องถัดมาก็เป็นเรื่องของช่วงเวลา ต้องมาดูอีกว่าช่วงที่เกิดเหตุเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างเวลาที่ประกาศเคอร์ฟิวหรือไม่ หากมีการวิเคราะห์กันจริงๆ ส่วนมากเหตุการณ์จะเกิดก่อนเวลาที่มีการเคอร์ฟิว ซึ่งการประกาศเคอร์ฟิวจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เพราะพี่น้องประชาชนในพื้นที่จะต้องมีการทำละหมาด 5 เวลา และช่วงที่สำคัญคือจะต้องมีการละหมาดในช่วงเช้าตรู่ ต้องไปทำการละหมาดที่มัสยิด หากเกิดการเคอร์ฟิว ก็จะเป็นการสกัดกั้นการปฏิบัติศาสนกิจ 
     จากเหตุการณ์สังหารพ่อค้าผลไม้พร้อมลูกจ้าง 4 ราย พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง ผบก.ภ.จว.ยะลา ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.เมธา สิงหะเสนา ผกก.สภ.กรงปินัง และ พ.ต.ท.อดินันท์ อิสมาแอ รอง ผกก.สภ.กรงปินัง มาช่วยราชการที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา พร้อมสั่งการให้ พ.ต.อ.สุชาติ คล้ายจันทร์พงศ์ เดินทางไปรักษาราชการในตำแหน่ง ผกก.สภ.กรงปินัง แทนตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา
    นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า การลงไปในพื้นที่ของรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้ก็ถือว่ามีความสำคัญ และมีผลในทางปฏิบัติ เพราะหากลงพื้นที่แล้วไปคลุกคลีด้วยตัวเองจะทำให้ทราบถึงสถานการณ์ สามารถรวบรวมข้อมูลและปัญหาในพื้นที่มานำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบได้โดยตรง มีความรวดเร็วกว่าการที่จะให้ฝ่ายประจำในพื้นที่รายงาน เพราะมีขั้นตอนหลายอย่างและล่าช้า
"มาร์ค" ให้ "เหลิม" ย้อนดูตัวเอง
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้ ร.ต.อ.เฉลิมมองย้อนกลับไปว่าความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวพันกับการที่ ร.ต.อ.เฉลิมเดินทางประเทศมาเลเซียด้วยหรือไม่ อย่าไปมองแยกกัน ต้องมองให้เห็นภาพรวมว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้ถูกทาง เพราะที่ผ่านมาเคยมีการประกาศใช้เคอร์ฟิวในปี 49 แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกไป เนื่องจากกระทบกับวิถีชีวิตประชาชน และหากจะกลับไปใช้อีกครั้ง ก็ต้องหารือกันอย่างรอบคอบก่อน อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลหันกลับไปประกาศเคอร์ฟิวจริง ก็เป็นตัวบ่งชี้ว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหา แสดงว่าสภาพไม่ดีขึ้น และอาจรุนแรงขึ้น ถึงขั้นที่ ร.ต.อ.เฉลิมใช้คำว่า มีการดื้อยา จึงต้องใช้ยาแรงขึ้น ทั้งที่ในรัฐบาลของตนพยายามใช้กฎหมายพิเศษให้น้อยลง และได้มีการประกาศลดพื้นที่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปได้แล้วในบางจุดเหมือนแนวทางลดการใช้ยา
    วันเดียวกันนี้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความขัดแย้งกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ไม่มีอะไร เป็นเรื่องของความคิดที่จะคิดกันได้ อยู่พรรคการเมืองเดียวกันไม่มีเรื่องของความขัดแย้ง  เป็นความเห็นที่แตกต่างก็ฟังกัน ท่านจะเหน็บบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา เพราะอาวุโสมากกว่า รับฟังกันไป ไม่มีโกรธเคือง การประกาศเคอร์ฟิวเป็นมาตรการอย่างหนึ่ง ต้องดูว่าเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ ท่านเองก็หวังดีว่าพื้นที่ใดปัญหามากจะประกาศเคอร์ฟิวเป็นบางเวลาได้หรือไม่ สำหรับตนไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วย 
    ถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ ร.ต.อ.เฉลิมพูดในทำนองว่าท่านไม่มีความรู้ในเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.อ.สุกำพลตอบว่า “เขาก็แหย่ผม ไม่เป็นไร เจอกันก็คุยกัน ไม่เป็นไร อย่าทำให้มีปัญหากัน ผมกับ ร.ต.อ.เฉลิมไม่ได้มีปัญหา ก็คุยกัน และคงไม่ต้องมีการเคลียร์กัน”
    ซักว่า ร.ต.อ.เฉลิมพูดแรงเกินไปหรือไม่ รมว.กลาโหมตอบว่า “อย่ามองให้มันแรง ในเมื่อผมบอกว่าไม่แรง อย่ามาถามแหย่” เมื่อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิมบอกว่าถ้าอยากดูแลงานภาคใต้ก็ให้ไปขอกับนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า “ผมก็คงไม่ขอ จะไปขอทำไม ก็แหย่กันไป ไม่ได้โกรธกัน ถ้าโกรธก็คือเอาจริง แต่ผมไม่ได้โกรธ เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กนิดเดียว อย่าถามให้มีปัญหากับคุณเฉลิม เพราะผมไม่มี เจอก็คุยกัน ผมก็ยกมือไหว้ก่อน พวกคุณอยากให้เป็นเหรอ อย่างนี้ถือเป็นบ่างช่างยุ แต่ยืนยันว่าผมไม่ไปทำหรอก เขาเป็นผู้ใหญ่และเป็นผู้บังคับบัญชาเรื่องภาคใต้โดยตรง ผมเป็นทหารก็ต้องฟัง ไอ้ที่มากระแนะกระแหนว่าเป็นทหารอากาศก็ว่าไป ตอนกินไวน์กันแหย่กันแรงกว่านี้อีก” พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวพร้อมหัวเราะ           
    ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้น พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า นายกฯ ได้ฝากถึงปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และ สตช. เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นจริงโดยละเอียดทั้งหมด มีการสืบสวนพยาน และพิสูจน์หลักฐานต่างๆ แยกสถานการณ์ ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากเรื่องส่วนตัวหรือไม่ หรือเรื่องการบริหารจัดการ เครื่องมือที่ไม่สมบูรณ์ หรือเป็นเรื่องของการก่อความไม่สงบ เพราะทุกเรื่องอาจไม่ได้เกิดจากปัญหาความไม่สงบเพียงอย่างเดียว
    น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี  เข้ามาช่วยเหลืองานด้านความมั่นคงว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ณ วันนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ครม.ก็ยังทำงานอยู่คงต้องรอเรื่องโอกาสและความเหมาะสมอีกครั้ง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น