วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พธม.-ปชป.หนุนนิรโทษฉบับนิชา ข่าวหน้า 1 9 February 2556 - 00:00


พธม.-ปชป.หนุนนิรโทษฉบับนิชา




นิรโทษฯ เหยื่อการเมืองสลัด "ทักษิณ" ไม่พ้น  "เจริญ” แบไต๋สภารับเป็นคนกลางฟังข้อเรียกร้องทุกฝ่าย  สัปดาห์หน้านัดถก ปชป.-พท. ก่อนทำร่าง พ.ร.บ.เสนอเข้าสภา จับตาร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ นิรโทษฯ ผู้ชุมนุมกับบรรเทาความขัดแย้ง หมกเม็ดช่วย "ทักษิณ" ด้าน "ปานเทพ" แฉแกนนำเสื้อแดงอยากให้ยกเว้นความผิดทุกกลุ่ม "พธม.-มาร์ค" หนุนข้อเสนอ "นิชา" นิรโทษฯ เฉพาะคนทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แบบมีเงื่อนไข 
    หลังจากนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เชิญตัวแทนกลุ่มเสื้อแดงและเสื้อเหลืองหารือเพื่อหาแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะมีการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจำนวน 2 ฉบับ ให้กับประชาชนและแกนนำผู้ชุมนุม เมื่อวันศุกร์ นายเจริญเปิดเผยว่า การประชุมเป็นไปอย่างไม่มีเงื่อนไข และยังไม่มีข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะยังไม่ได้หารือกับ 2 พรรคใหญ่ การประชุมดังกล่าวได้แต่เพียงแนวทาง และยืนยันว่าสิ่งที่คุยเป็นเรื่องที่ดี ไม่ได้งุบงิบทำ
    ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมหารือประกอบด้วย นายก่อแก้ว พิกุลทอง  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย, ตัวแทนกลุ่มนิติราษฎร์,นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการกฎหมายอิสระ เป็นต้น
    ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงหรือไม่ว่าจะกลายเป็นประเด็นขัดแย้งรอบใหม่ นายเจริญกล่าวว่า คงไม่ เพราะกฎหมายนี้จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพราะจะได้เชิญทุกฝ่ายมาคุย เมื่อคู่ขัดแย้งพอใจ เป้าหมายใหญ่คือประเทศ บ้านเมืองถึงจะเดินหน้าไปได้ ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น คงเป็นไปไม่ได้ กฎหมายจะเขียนเฉพาะเจาะจงไม่ได้อยู่แล้ว 
    เมื่อถามว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันเรื่องการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาพิจารณาว่าคนกลุ่มใดบ้างจะเข้าข่ายการนิรโทษกรรม นายเจริญกล่าวว่า ตอนนี้ยังเป็นเพียงแนวคิด ยังไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นใคร แต่โดยหลักการต้องไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และสัปดาห์หน้าจะหารือกับพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ว่าพรรคใหญ่มีแนวทางเห็นร่วมหรือเห็นต่างอย่างไร โดยขณะนี้ได้เชิญตัวแทนจากกลุ่ม นปช. กลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย เข้าหารืออย่างไม่เป็นทางการ เพื่อรับฟังข้อเสนอของทุกฝ่ายในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนที่เป็นนักโทษการเมือง 
    "เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมล้วนเสนอมาจากกลุ่มการเมืองฝ่ายเดียว ไม่เคยผ่านการตกผลึกข้อเรียกร้องของทุกฝ่าย จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมา ดังนั้นทางสภาจึงต้องการเป็นตัวกลางรับฟังข้อเรียกร้องจากทุกฝ่ายจนได้ข้อสรุปร่วมกัน จากนั้นสภาจะเป็นผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ให้ ส.ส.ทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์เห็นชอบ ก่อนจะนำเสนอร่างเข้าสู่สภาให้ทันภายในสมัยการประชุมนี้” นายเจริญ ระบุ    
จ่อชงร่าง พรบ. 2 ฉบับ
    ด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เปิดเผยว่า จากการหารือยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ที่ชัดเจน เป็นเพียงแนวทางในการเจรจาเบื้องต้น ในฐานะตัวแทนกลาง ได้เสนอออกเป็น 2 แนวทาง โดยนำจุดเด่นของกฎหมายนิรโทษกรรมทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ คอ.นธ. นิติราษฎร์ และกลุ่มคนเสื้อแดง มาเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับประชาชน 2.ร่าง พ.ร.บ.เพื่อบรรเทาความขัดแย้ง หากได้รับการตอบรับก็จะตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการช่วยเหลือ ซึ่งจะต้องดูเป็นรายกรณีไป บางรายอาจได้รับการนิรโทษกรรม บางรายอาจได้รับการลดโทษ รอลงอาญา หรือแม้แต่การควบคุมพฤติกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะร่วมเป็นกรรมการด้วย 
    "ส่วนกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถเข้าข่ายร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ 2 ได้ แต่จะไม่นำเรื่องคดีทุจริตมาเกี่ยวข้อง จะเน้นไปในประเด็นทางการเมือง เช่น การสไกป์ปลุกระดมผู้ชุมนุม เป็นต้น ยืนยันว่าการเสนอแนะ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับไม่มีการสอดไส้ช่วยเหลือใครอย่างแน่นอน ที่สำคัญเชื่อว่า พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับจะตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย" นายวีรพัฒน์กล่าว
    ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงการหารือดังกล่าวว่า เป็นการพูดคุยหารือกันแบบไม่ผูกพันองค์กรของแต่ละฝ่าย โดยนายก่อแก้วเห็นว่ามวลชนของแต่ละฝ่ายที่ได้กระทำความผิดก็ล้วนแล้วแต่กระทำตามความเชื่อ คำสั่ง และปลุกเร้าบนเวทีเท่านั้น ดังนั้นจึงควรจะหาทางในการยกเว้นความผิดให้กับมวลชน และให้แกนนำเป็นผู้รับผิดชอบแทนทั้งหมด ส่วนตนแสดงจุดยืนไปว่าพันธมิตรฯ มีจุดยืนชัดเจนว่าให้ทุกอย่างดำเนินไปตามหลักนิติรัฐ เพราะผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายก็จำเป็นต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายก็ต้องได้รับโอกาสพิสูจน์ความ บริสุทธิ์ของตัวเองตามกระบวนการยุติธรรม มิใช่ไปยกเว้นความผิดทั้งๆ ที่เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ แต่ถ้าสังคมและผู้มีส่วนได้เสียจะเห็นว่าจะมีใครควรได้รับยกเว้นความผิดได้ ควรจะเป็นกรณีที่มีความเห็นพ้องต้องกัน และมีคำอธิบายได้ต่อสังคมด้วย
    นายปานเทพระบุว่า ตนได้อ่านจดหมายของนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เกี่ยวกับข้อเสนอ/เงื่อนไขการนิรโทษกรรม 4 ข้อ (รายละเอียดหน้า 12) ให้ที่ประชุมฟังด้วย พร้อมบอกว่า หากสามารถดำเนินตามข้อเสนอและเงื่อนไขของคุณนิชาแล้วก็สามารถดำเนินการออกเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ทันที ซึ่งจะทำให้มีคนบางกลุ่มได้รับการเยียวยาและช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ตาม แม้นายก่อแก้วยังมีความเห็นอยากจะช่วยคนทุกกลุ่ม แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธข้อเสนอและเงื่อนไขเหล่านี้ได้ 
หมกเม็ดช่วย นช.ทักษิณ
    เขาบอกว่า ในการพูดคุยจึงมีข้อเสนอว่าน่าจะให้มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บนเงื่อนไขของคุณนิชา แยกเป็นฉบับหนึ่ง ซึ่งนายเจริญจะขอเชิญประชุมตัวแทนฝ่ายค้านและรัฐบาลเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรมตามนี้ หากไม่มีฝ่ายใดขัดข้อง ส่วนอีกด้านหนึ่งดูเหมือนว่าทางแกนนำ นปช.จะมีความกังวลที่ตอบคำถามผู้ที่กระทำความผิดของคนเสื้อแดงกลุ่มอื่นๆ ไม่ได้ จึงเห็นว่าน่าจะมี พ.ร.บ.อีก 1 ฉบับ ที่จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการพูดคุยและการพิจารณาในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 
    "ซึ่งผมได้ชี้แจงไปว่า เนื่องจากการออกกฎหมายลักษณะเช่นนี้ก็จะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการ ซึ่งทางพันธมิตรฯ จะไม่ขอเข้าร่วมด้วย เพราะเป็นการตั้งไปตามสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งฝ่ายรัฐบาลกุมเสียงข้างมาก จึงไม่ต้องการไปเป็นเครื่องมือหรือใช้เป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุม และผมได้แสดงความเห็นว่ากฎหมายลักษณะเช่นนี้ก็จะมีปัญหาและความขัดแย้งอีกในตอนตั้งคณะกรรมการ ซึ่งอาจใช้เวลาอีกนาน หรือหากไม่ฟังเสียงคนที่ไม่เห็นด้วย ก็ต้องเกิดการเผชิญหน้านอกสภาอยู่ดี" นายปานเทพกล่าว
    ขณะที่นายก่อแก้วกล่าวว่า เป็นเพียงการสอบถามความเห็นและมุมมองเบื้องต้นของแต่ละบุคคลเท่านั้น ยังไม่มีข้อสรุปอะไร ข้อเสนอนี้ไม่เหมือนกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ เช่น คณะนิติรนาษฎร์ให้นิรโทษกรรมตูมเดียวไปเลย แต่ตรงนี้จะแบ่งเป็นสองกลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่โดนกระทำเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถนิรโทษกรรมได้เลย ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา 
    นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำเสื้อแดงอีสาน 20 จังหวัด  กล่าวว่า นายเจริญ จรรย์โกมล ได้เชิญให้ไปร่วมหารือในวงเมื่อวานนี้ด้วย แต่ปฏิเสธไป เนื่องจากตอแหลไม่เป็น ถ้าต้องไปแล้วต้องไปนั่งคุยกับกลุ่มพันธมิตรฯ ทำใจไม่ได้หรอก อย่างไรก็ตามในช่วงปีสุดท้ายของรัฐบาลควรยื่นไปเลย ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ปรองดอง และการนิรโทษกรรม หากเกิดการต่อต้านมากรัฐบาลก็สามารถยุบสภาได้ ถือว่าไม่เสียของ 
      นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำ นปช.กล่าวถึงการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ส่งร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฉบับ นปช.ให้กับทางคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว หลังจากนี้คงต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาขบวนการต่างๆ ส่วนจะออกมาในรูปแบบใด กลุ่ม นปช.ไม่ขัดข้อง เนื่องจากมีเป้าหมายในการนำไปสู่การนิรโทษกรรมเหมือนกัน 
หนุนข้อเสนอ "นิชา"    
    ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พร้อมจะให้ความร่วมมือหากนายเจริญเชิญไปหารือเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมที่จะไม่สร้างความขัดแย้ง โดยอยากให้มีการหารือให้ครอบคลุมทุกฝ่าย แต่ยังไม่ทราบว่าแนวทางของนายเจริญจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้เห็นว่าเป็นความพยายามต่อเนื่องที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม จึงขอยืนยันว่าให้ยึดประโยชน์ส่วนรวมและประเทศ ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เชื่อว่าความพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมให้ทุกฝ่ายยอมให้มีการนิรโทษกรรมทั้งหมดเพื่อไปเริ่มต้นใหม่เป็นเรื่องที่ยาก ทั้งนี้ ตนได้เสนอแนวทางอย่างชัดเจนไปแล้วว่า แนวทางที่นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ออกมาเสนอนั้น มีเหตุผลสอดคล้องกับที่ตนเคยเสนอว่าให้จำกัดขอบเขตการนิรโทษกรรมให้ชัดเจน  หากรัฐบาลสนใจก็ควรมาพูดคุยกัน
      นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ที่หลายฝ่ายตกผลึกร่วมกันคือ นิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ทำผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และหรือ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคง หากออกกฎหมายในประเด็นที่ทุกฝ่ายตกผลึกร่วมกันก่อนจะสามารถทำได้ ส่วนการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้แกนนำถือเป็นประเด็นที่ต้องหารือกัน ซึ่งขณะนี้มีประเด็นที่เป็นปัญหาคือ การนิรโทษกรรมให้กับแกนนำผู้ชุมนุม, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  และผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา ดังนั้นรัฐบาลควรต้องแสดงความชัดเจนว่าสิ่งที่ทุกฝ่ายตกผลึกร่วมกันขอให้เดินหน้าโดยไม่ต้องรอพิจารณาทีเดียวพร้อมกัน เพราะนั่นอาจถูกโยงให้เป็นเรื่องที่เข้าข่ายช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณได้ 
    ขณะที่ นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) กล่าวว่า เป็นแนวทางที่ตนเห็นด้วย เพราะหากให้กลุ่มที่มีความขัดแย้งได้มาหารือร่วมกันก่อน จะช่วยลดความขัดแย้งลงได้ รวมถึงถ้านำตัวแทนของพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลมาหารือร่วมกันอาจจะลดเงื่อนไขที่นำไปสู่การถกเถียงที่ก่อให้เกิดการเสียเวลาที่จะออกกฎหมายเพื่อช่วยประชาชน ซึ่งทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น