วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เผาเมืองไร้คนสั่ง ก่อแก้วออกลายเอี่ยวนิรโทษ/ม็อบแดงมวลชนนำเอง ข่าวหน้า 1 12 February 2556



แดงเผาเมืองไร้ผู้สั่งการ! "ก่อแก้ว” อ้าปากกระดกลิ้นหวังอยู่ในข่ายนิรโทษกรรม อ้างหน้าตาเฉยไม่มีนักการเมืองร่วมสั่งการและเป็นแกนนำเสื้อแดง ทั้งที่เห็นอยู่ทนโท่ "จตุพร” ส.ส.พรรคเพื่อไทย คือแกนนำคนสำคัญเมื่อครั้งชุมนุมปี 2553 ขณะที่ "เจริญ จรรย์โกมล” เดินสายหารือปลดปล่อยนักโทษการเมือง เผยเบื้องต้นเห็นด้วยในหลักการ 
    ข้อเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง และเป็นผู้ที่มีความสุจริตทางการเมือง โดยแสดงออกตามสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะประชาชน แต่ไม่รวมถึงแกนนำ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น จนถึงขณะนี้เริ่มพบเจตนาที่น่าสงสัยจากฝ่ายแกนนำเสื้อแดง ที่พยายามปฏิเสธว่าตนไม่ใช่แกนนำหรือผู้สั่งการ  
    ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า "การชุมนุมของมวลชนที่ผ่านมา ไม่พบนักการเมืองเข้าร่วมในการสั่งการ หรือร่วมเป็นแกนนำ แต่อาจมี ส.ส.ที่ร่วมขึ้นเวทีบ้าง แต่ไม่ใช่มาในฐานะการออกคำสั่งให้มวลชนปฏิบัติตาม อีกทั้งการชุมนุมของมวลชนเป็นเรื่องของประชาชน ไม่เกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง” 
    ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ให้ระบุถ้อยความว่า "ผู้ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองจะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะถือเป็นแกนนำและผู้สั่งการการชุมนุม”
    เป็นที่น่าสังเกตว่า การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 นั้น มีแกนนำคนสำคัญที่เป็นส.ส. คือนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชาชน ก่อนจะถูกยุบพรรคแล้วไปเป็น ส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทย 
    นายก่อแก้วกล่าวถึงข้อเสนอของนายไพบูลย์อีกว่า การเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมโดยระบุถ้อยคำดังกล่าว คงไม่สามารถทำได้ เพราะถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตนไม่ทราบเหตุผลของการนำเสนอประเด็นดังกล่าว ว่าแท้จริงต้องการหาทางออก หรือช่วยเพิ่มปัญหาให้ถกเถียงกันไม่รู้จบ
    เขาย้ำว่า การชุมนุมของมวลชนที่ผ่านมา ไม่พบนักการเมืองเข้าร่วมในการสั่งการ หรือร่วมเป็นแกนนำ แต่อาจมี ส.ส.ที่ร่วมขึ้นเวทีบ้าง แต่ไม่ใช่มาในฐานะการออกคำสั่งให้มวลชนปฏิบัติตาม ทั้งนี้ หากจะเขียนแบบนั้นจริง นักการเมืองอย่างนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา, นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยร่วมชุมนุมกับมวลชน จะถือว่าเข้าข่ายด้วยหรือไม่ ซึ่งความคิดที่เสนอนับว่าดี แต่นำไปปฏิบัติคงยาก
    วันเดียวกัน ที่กระทรวงมหาดไทย นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินทางเข้าพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อหารือแนวทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยใช้เวลาหารือประมาณ 45 นาที  
    นายเจริญเผยหลังการหารือว่า ได้เจรจากับกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง และผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เหลือพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวที่ไม่ได้คุย ว่าตอนนี้น่าจะมีกฎหมายออกมาบรรเทาให้กับประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดี 
    "กลุ่มประชาชนพวกนี้น่าจะได้รับการนิรโทษกรรมออกไปก่อน เพราะอาจจะมาเรียกร้องด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเป็นเสรีภาพของประชาชน แต่ละฝ่ายก็มีจำนวนหลายร้อยคน และมีองคาพยพที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งอัยการ, ศาล,  กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาสังคม ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
    นายเจริญกล่าวต่อว่า เรามีแนวความคิดจะเชิญสองพรรคใหญ่ร่วมประชุม พูดคุยกับเสื้อเหลืองและเสื้อแดง โดยจะจัดให้สภาฯ เป็นพื้นที่พูดคุย เพื่อให้แต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็นว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งอาจจะใช้คำว่ากฎหมายนิรโทษกรรม หรือกฎหมายบรรเทาความขัดแย้งก็ได้ โดยให้แต่ละฝ่ายเสนอเงื่อนไขขึ้นมา ถ้ารับได้ก็จะเขียนเป็นหลักกฎหมายให้
    "จากการที่ได้คุยกับเสื้อเหลือง เสื้อแดง จึงเสนอต่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปว่า ควรมีการเสนอกฎหมายออกมา 2 รูปแบบ คือเอาเฉพาะประชาชนที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งสามารถทำได้ทันที อีกส่วนหนึ่งคือส่วนแกนนำ จะต้องเขียนในลักษณะมีคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมา ว่าเข้าข่ายหรือไม่อย่างไร ซึ่งอาจจะช้าไปบ้าง แต่การเสนอกฎหมายนั้นจะต้องเสนอเข้ามาพร้อมกันทั้ง 2 ฉบับ” นายเจริญกล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังมีคนไม่เห็นด้วยและคัดค้านในเรื่องนี้หรือไม่ นายเจริญกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีใครออกมาคัดค้าน ขนาดหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เห็นด้วยในหลักการเบื้องต้น แต่เงื่อนไขนั้นยังไม่ได้คุยกัน เพราะตอนนี้เราต้องเอาหลักการก่อน จากนั้นจึงจะเชิญแต่ละส่วนมาคุยถึงเรื่องเงื่อนไข 
    ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.ได้ขอหารือถึงข้อเสนอให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ว่า ตนขอคัดค้านร่างดังกล่าว เพราะ 1.ไม่อยากให้นายกฯ  ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้ง ส.ว.ไม่บังควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมความผิดดังกล่าว เพราะร่างพ.ร.บ.มาตรา 3 ฉบับ คอ.นธ.ได้ระบุว่า จะนิรโทษกรรมให้กับการกระทำใดๆของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งจะมีผลรวมถึงกรณีที่กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ อย่างกรณี ดา ตอร์ปิโด เป็นต้น
    นายไพบูลย์กล่าวต่อถึงข้อ 2 ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ระบุว่า ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งไม่มีความชัดเจนในการตีความ ทำให้ถือโอกาสจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยในส่วนนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะมีการช่วยเหลือพรรคพวกกัน ดังนั้น เพื่อความชัดเจนให้ระบุเพิ่มเติมว่า ไม่รวมถึงผู้ที่เป็น หรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ซึ่งก็จะทำให้ไม่ต้องมีคณะกรรมการตีความอีก อย่างไรก็ตาม ตนสนับสนุนการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้เฉพาะในส่วนของประชาชน ทุกกลุ่มทุกสีที่ชุมนุมทางการเมืองที่เดือดร้อนในขณะนี้โดยเร็ว
    นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมถือเป็นเรื่องที่ไม่ยากสำหรับรัฐบาล เพราะมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว แต่ถามว่าแล้วจะออกฎหมายนิรโทษให้กับใคร ใครได้ประโยชน์ คำนิยามว่า "ประชาชนผู้บริสุทธิ์” ใครจะเป็นผู้นิยาม มีการกล่าวอ้างว่ามีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นพันเป็นแสนคน ตนขอเรียนว่า คนจำนวนมากพันกว่าคนได้รับการประกันตัวไปแล้ว โดยเงินกองทุนยุติธรรม
    นายสมชายกล่าวว่า ที่เหลืออยู่ในเรือนจำ ที่วีไอพีหลักสี่ บางเขน 30 กว่าคน เป็นผู้ต้องหาอุกฉกรรจ์แทบทั้งสิ้น จะนิรโทษกรรมให้ด้วยหรือไม่ หากรัฐบาลจะนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่มีความผิดในการชุมนุมก็ทำได้ไม่ยาก  โดยสั่งการไปที่ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ อัยการ โดยสั่งไม่ฟ้อง ศาลก็ยกให้อยู่แล้ว ถ้าประชาชนคนไหนเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ต้องห่วง แต่คนที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นการสังหารทหาร 9 นาย ตำรวจ 2 นาย ประชาชนหลายสิบคน รวมถึงบาดเจ็บนับร้อยนับพัน ไม่ควรอยู่ในข่ายได้รับการนิรโทษกรรม
    นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนขออนุญาตอ่านข้อความของนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เขียนเผยแพร่ในสื่อขณะนี้ว่า "ในเมื่อยังมีคนไม่รู้ตัวว่าทำผิดอีกจำนวนมาก ในเมื่อยังมีคนผิดแต่ยังไม่ยอมรับผิด และไม่หลาบจำความผิดของตนอีกเป็นจำนวนมาก  แถมยังพร้อมจะย้อนกลับมาทำผิดอีก และเมื่อยังมีฆาตกรที่ยังไม่เดือดเนื้อร้อนใจเดินลอยนวลในสังคมอีกมาก การนิรโทษกรรมในวันนี้จึงเป็นประโยชน์เพื่ออันใด” ฟังดูเสมือนว่าตนและเพื่อน ส.ว.หลายคนใจร้าย ไม่ให้อภัย ไม่ยอมที่จะผ่อนปรน แต่จะถามว่ามีใครสำนึกผิดบ้าง
    นายประสารกล่าวต่อว่า เรื่องที่เกิดขึ้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ให้อภัยหรือไม่ แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบชั่วดี ความยุติธรรม ความถูกผิดของกฎหมาย หากไม่แยกแยะความถูกต้องได้ หรือเกี้ยเซี้ยกันไปเพื่อความปรองดอง หรือเพื่อแก้ไขปัญหาให้เฉพาะบางคน ตนคิดว่าสังคมไทยไม่สามารถอยู่ได้
    ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้า กรณีรัฐบาลส่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษารายละเอียดนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกลับมายังรัฐบาล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น