วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

สรุปข่าวการเมืองวันที่ ๑๐ ม.ค.๕๖



นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.กล่าวว่า ในวันนี้ (10 ม.ค.) เวลา 10.30 น.ตนพร้อมด้วย นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานนปช.จะเดินทางไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือสอบถามศาลรัฐธรรมนูญถึงคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังคลุมเครือไม่ชัดเจน กลายเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ จะถามเพียง 2 ข้อว่า 1.ห้ามโหวตวาระ 3 หรือไม่ 2.สั่งให้ทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 หรือเปล่า เพราะตอนนี้ ส.ส.และ ส.ว.ไม่มีความมั่นใจหากจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยที่ยังมีความสงสัยอยู่แบบนี้ ดังนั้น ผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดก็คือศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ตอบก็ไม่รู้แล้วว่าใครจะตอบเรื่องนี้จนมีข้อยุติ และคำตอบของศาลรัฐธรรมนูญเพียง 2 ข้อ อาจประหยัดงบได้ถึง 2 พันล้าน กรณีที่มีเสียงจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ว่าอาจจะไม่ตอบคำถามดังกล่าว ก็อยากให้รอดูหนังสือของตนก่อน มีเพียง 4 หน้า ถามสั้นๆ 2 ข้อ ถ้าไม่ตอบ ก็จะถามต่อไปเรื่อยๆ เพราะมันมีอยู่แค่นี้จริงๆ ที่เป็นปัญหา ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรที่จะต้องตอบ
"พงศ์เทพ" ยันรัฐสู้คดีพระวิหารเต็มที่ เชื่อไม่มีใครสั่งศาลโลกได้ เตือนม็อบป่วนอาจทำเสียรูปคดี กกต.สั่งตั้ง กก.ไต่สวน "มาร์ค-เทือก" รณรงค์คว่ำประชามติ
          ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่า การนำคณะที่ปรึกษาของไทยเดินทางไปพบปะหารือกับคณะที่ปรึกษาต่างประเทศ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อหาแนวทางในการต่อสู้คดีพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด
          นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ ซึ่งได้รับรอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแลด้านกฎหมายในคดีปราสาทพระวิหาร กล่าวถึงการนำคณะทีมที่ปรึกษาของไทยเดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ว่า การเดินทางครั้งนี้ เพื่อประสานงานกับที่ปรึกษาต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการหารือจากการที่ทีมที่ปรึกษาได้เตรียมแนวทางในการต่อสู้คดีไว้โดยในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศจะมีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ทำคดีมาแต่ต้น ร่วมเดินทางไปด้วย ทั้งนี้จะเป็นการหารือถึงแนวทางที่จะแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อศาลโลกว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง มีมุมมองอย่างไร และประเด็นไหนที่ควรจะหยิบยกขึ้นมาเป็นจุดที่จะให้ตุลาการในศาลโลกได้ฟัง ซึ่งจะเป็นการหยิบบางจุดสำคัญขึ้นมาเน้น มากกว่าอ่านเอกสารทั้งหมดซึ่งมีเยอะ
          ส่วนที่หลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวนั้น จะมีผลต่อรูปคดีหรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า "ก็ต้องช่วยกัน ตุลาการทุกท่านก็ได้รับฟังข้อมูลซึ่งไม่ใช่ข้อมูลจากในสำนวนอย่างเดียว ข้อมูลที่ท่านรับฟังจากข่าวอื่นๆ ก็มีอยู่ ซึ่งเราเองต้องพยายามสร้างทัศนคติที่ดีให้แก่ตุลาการเหล่านั้นเพราะหากมีทัศนคติที่ไม่ดีแล้วก็จะเป็นผลเสียต่อคู่ความ เราต้องพยายามช่วยกัน"
          เมื่อถามว่า เวลานี้มั่นใจเพียงใดในแนวทางการต่อสู้ของไทย นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ในส่วนของทีมที่ทำงาน และรัฐบาลพยายามจะทำอย่งดีที่สุด ด้วยข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่เราก็เลือกใช้ในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเรา ในส่วนของข้อกฎหมายก็จะพยายามอ้างอิงข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเรา ส่วนการตัดสินใจจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่ที่ตุลาการศาลโลกจะพิจารณา
          เมื่อถามว่า บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศตอนนี้เพียงพอหรือไม่ เนื่องจากในเวทีโลกไทยก็ต้องมีประเทศที่สนับสนุนด้วย นายพงศ์เทพกล่าวว่า "ตุลาการศาลโลกท่านมีแนวจริยธรรมของตุลาการอยู่ ซึ่งตุลาการที่ถูกต้องแท้จริงนั้น ไม่ใช่เป็นกรณีที่ท่านจะหวั่นไหวหรือปล่อยให้ใครไปโน้มน้าวอะไรได้"
          เมื่อถามว่า ในช่วงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจะรักษาบรรยากาศบริเวณชายแดนอย่างไร นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ต้องรักษาให้เห็นว่า ปัจจุบันทั้งไทยและกัมพูชาสามารถจะอยู่และไม่เกิดปัญหาเช่นในอดีต ซึ่งแต่เดิมนั้นจะเห็นว่า ปัญหาการต่อสู้กันไม่ใช่สิ่งที่ดี ตรงนี้ที่ผ่านมารัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และทำให้สถานการณ์บริเวณชายแดนจากที่ประชาชนต้องอพยพออกมา ตอนนี้ก็กลับไปทำมาหากินกันได้เหมือนเดิม
          ตรวจชายแดนไทย-เขมร 10 ม.ค.
          รายงานข่าวจาก จ.ศรีสะเกษ แจ้งว่า วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก มีกำหนดจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านเขาพระวิหาร และพื้นที่ชายแดนโดยรอบ โดยมีศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่โรงเรียนภูมิชรอลวิทยา ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยขณะนี้ พล.ต.ชลิต เมฆมุขดา ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ได้เดินทางลงพื้นที่แล้ว เพื่อเตรียมต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์และติดตามความเคลื่อนไหวในพื้นที่
          รายงานข่าวแจ้งว่า ความเคลื่อนไหวของหมู่บ้านสมัชชาธรรมยาตราทวงคืนเขาพระวิหารมณฑลบูรพา ของกลุ่มธรรมยาตรา ยังคงปักหลักอยู่ที่หมู่ 4 บ้านโศกขามป้อม อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งเวที และเครื่องขยายเสียง มีการเปิดเพลงปลุกใจ และเพลงเกี่ยวกับประวัตศาสตร์เขาพระวิหาร เพื่อแสดงจุดยืนและเจตนารมณ์ในช่วงที่รอการเคลื่อนไหวของมวลชน ที่จะมาสมทบในวันเสาร์ที่ 12 มกราคม ขณะเดียวกันทางหมู่บ้านสมัชชาธรรมยาตราได้จัดทำหุ่นฟางทหาร เพื่อให้เป็นตัวแทนของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าไทยจะทวงคืนเขาพระวิหารกลับคืนมา
          ปัดตอบพธม.จี้ปฏิเสธอำนาจศาลโลก
          นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี โฆษก ครม.เงาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการปะชุม ครม.เงาว่า ครม.เงายังกังวลใจเกี่ยวกับท่าทีรัฐบาลในการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร จึงขอเรียกร้องให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการรักษาอธิปไตยของชาติด้วย เพื่อไม่ให้กระทบการต่อสู้คดีในศาลโลก เพราะที่ผ่านมาจุดยืนของนายสุรพงษ์ยังคลุมเครือ นอกจากนี้พรรคได้เตรียมตั้งกระทู้สดถามนายสุรพงษ์ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 10 มกราคมนี้ด้วย
          ตั้งกก.สอบ"มาร์ค-เทือก"จี้คว่ำประชามติ
          นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ในนามชมรมนักกฎหมายผู้รักความเป็นธรรม ได้ยื่นขอให้ กกต.ตรวจสอบการกระทำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณีมีจดหมายเปิดผนึกผ่านทางเฟซบุ๊คส่งถึงคนไทยทุกคนให้ร่วมกันคว่ำการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปราศรัยที่ จ.นครปฐม เชิญชวนประชาชนไม่ให้ไปลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐะรรมนูยว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่เป็นต้นเหตุให้ต้องยุบพรรคหรือไม่ โดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองมีคำสั่งลงวันที่ 2 มกราคม ให้ตั้งคณะกรรมการไต่ส่วนข้อเท็จจริง โดยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
          เลขาธิการ กกต.แถลงว่า กกต.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ขอให้ตรวจสอบ คุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกคุมขับเพราะศาลอาญาถอนประกันว่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(4) ประกอบมาตรา 101(3) และมาตรา 100(3) ประกอบ พ.ร.บ.พรรคเมืองมาตรา 8, 19, 20 หรือไม่ และขอให้ส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนุญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 โดยให้ดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
          กกต.ถกคณะทำงานประชามติ 11 ม.ค.
          นายภุชงค์กล่าวถึงกรณีนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเชิญกกต.ไปหารือเรื่องการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ได้รับการประสานให้ร่วมหารือที่ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 11 มกราคม เวลา 13.30 น. ว่า ตนและนายธนินศร์ ศรีประเทศรองเลขาธิการด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกประชามติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะไปรับฟังความคิดจากคณะทำงาน โดยจะนำเสนอประเด็นที่เป็นปัญหาและอุปสรรค หากรัฐบาลจะมีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
          ซัดรัฐใช้สถาบันศึกษาเป็นตราประทับ
          นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า พรรคเพื่อไทยให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้หาทางออกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการทำประชามติว่า น่าจะเป็นการซื้อเวลามากกว่า เพราะยังไม่สามารถหาช่องทางที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แฝงเร้นได้ จึงเป็นไปได้ว่า รัฐบาลจะใช้สถาบันการศึกามาเป็นตราประทับ เพื่อเป็นข้ออ้างในการหาข้อยุติ ทางที่ดีนายกรัฐมนตรี ควรเร่งตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง
          "ตู่-ธิดา"เตรียมบุกถามศาลรธน.
          นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวว่า วันที่ 10 มกราคม เวลา 10.30 น. ตนพร้อมด้วยนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานนปช. จะเดินทางไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือสอบถามศาลรัฐธรรมนูญถึงคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะถามเพียง 2 ข้อว่า 1.ห้ามโหวตวาระ 3 หรือไม่ และ 2.สั่งให้ทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 หรือไม่ เพราะตอนนี้ ส.ส.และส.ว.ไม่มั่นใจหากจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยที่ยังมีความสงสัยอยู่แบบนี้ ดังนั้นผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดก็คือศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถ้าไม่ตอบก็ไม่รู้แล้วว่าใครจะตอบเรื่องนี้จนมีข้อยุติ และคำตอบของศาลรัฐธรรมนูญเพียง 2 ข้อ อาจประหยัดงบได้ถึง 2,000 ล้าน
          นายจตุพรกล่าวถึงกรณีมีเสียงจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ว่าอาจจะไม่ตอบคำถามดังกล่าวว่า อยากให้รอดูหนังสือของตนก่อน มีเพียง 4 หน้า ถามสั้นๆ 2 ข้อ ถ้าไม่ตอบก็จะถามต่อไปเรื่อยๆ เพระมันมีอยู่แค่นี้จริงๆ ที่เป็นปัญหา ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรที่จะต้องตอบ
          สภาเลื่อนถกร่างปรองดอง 4 ฉบับ
          ที่รัฐสภา วันที่ 9 มกราคม มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานหลังจากที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ....(กำหนดหลักเกณฑ์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ในเรื่องการไถ่ถอนและมรดกฯ) ในวาระ 2-3 เสร็จสิ้นแล้ว ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ได้เสนอต่อที่ประชุมขอให้เลื่อน พ.ร.ก.แก้ไขประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 18 พ.ศ.2555 ร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่าง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญา ในศาลแขวง ร่าง พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาลสัตว์ ร่าง พ.ร.บ.รถยนต์ และ ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ขึ้นมาพิจารณาต่อจากร่าง พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ซึ่งอยู่ในวาระที่ 7 ของเรื่องที่ที่ประชุมเห็นชอบ ให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน
          ทั้งนี้ ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบ ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติทั้ง 4 ฉบับ ที่ค้างการพิจารณาและถูกเลื่อนมาหลายครั้ง ต้องถูกเลื่อนพิจารณาออกไปอีก
          ครม.ยังไม่อนุมัติจัดเสวนาปรองดอง
          วันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีนายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ โดยเป็นการพิจารณาความคืบหน้ากรณีที่รัฐบาลให้กระทรวงมหาดไทยจัดเสวนาเพื่อสร้างความปรองดอง โดยเชิยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง ทั้งนี้กรรมาธิการได้ตั้งประเด็นซักถามต่อการดำเนินโครงการที่ถูกมองว่าอาจเป็นการชี้นำมากกว่ารับฟังความเห็น อีกทั้งในส่วนการคัดเลือกวิทยากรนั้น มีการคัดเลือกผู้ใกล้ชิดรัฐบาลมาทำหน้าที่
          ด้าน นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในฐานะกรรมการเพื่อคัดกรองกลุ่มตัวอย่าง สรุปเนื้อหาประเด็น การจัดสานเสวนาเพื่อสร้างความปรองดองชี้แจงว่า ขณะนี้กระบวนการคัดเลือกวิทยากรที่ร่วมในโครงการ ตามที่ระบุไว้ 440 คนนัน ยังไม่ได้เริ่ม เพราะคณะรัฐมนตรียังไม่ได้อนุมัติในหลักการ ทั้งนี้ ยืนยันให้ทุกฝ่ายสบายใจว่า การคัดเลือกนักวิชาการเข้ามาทำหน้าที่ต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นผู้สนใจเรื่องของบ้านเมือง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และต้องเป็นกลาง สามารถควบคุมเวทีสัมมนาให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ส่วนที่มาของนักวิชาการนั้นได้ให้สถาบันการศึกษาชื่อดัง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้นำเสนอรายชื่อ ก่อนที่จะให้นายธงทอง จันทราศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกรอบสุดท้าย
          นายมนตรี นาคสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ในฐานะอนุกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินการจัดทำเวทีประชาเสวนา ชี้แจงโดยย้ำว่ากระบวนการจัดเสวนาปรองดอง ขณะนี้ยังไม่มีประเด็นใดที่ตกผลึกยกเว้นหัวข้อที่จะใช่ว่า"เวทีประชาเสวนา หาทางออกประเทศไทย" ส่วนที่กังวลว่ารกระทรวงมหาดไทยจะให้นายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการชี้นำประเด็น เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลนั้น ยืนยันว่า ไม่มีอย่างแน่นอนและหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยเป้นผู้ที่อำนวยความสะดวกให้แก่การจัดโครงการเท่านั้น
          "ขณะนี้โครงการได้ชะลอออกไปก่อน แต่เหตุผลที่ชะลอนั้น ผมไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายคือคณะรัฐมนตรี โดยแผนได้เสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2556 แต่ ครม.ก็ยังไม่ได้อนุมัติแต่อย่างใด ดังนั้นการเดินหน้าใดๆ ต้องรอมติ ครม.อีกครั้ง" นายมนตรี กล่าว
          ทั้งนี้ นายมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ไม่สามารถตอบแทน ครม.ได้ ถึงกรณีการชะลอโครงกานเสวนาสร้างความปรองดอง ผู้สื่อข่าวต้องสอบถามครม.เอง ส่วนที่ตั้งประเด็นว่าเพื่อต้องการรวมเวทีเสวนา เพื่อสร้างความปรองดองเข้ากับการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมา
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ได้สั่งการผ่านการประชุมเพื่อมอบนโยบายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555 โดยระบุให้กระทรวงมหาดไทยบูรณาการและปรับรูปแบบเวทีประชาวเสวนา หาทางออกประเทศไทย และเวทีรับฟังความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้เป็นเวทีเดียวกัน
          ศาลรธน.นัดวราเทพฟังคำวินิจฉัย1ก.พ.
          นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการปะชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้มีการอภิปรายในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภารวม 24 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (3) ประกอบมาตรา 174(5) จากกรณีที่ต้องคำพิพากษาจำคุก 2 ปี และให้รอลงอาญา 2 ปี ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีทุจริตหวยบนดินหรือไม่ เป็นครั้งที่ 2 และเห็นว่าประเด็นข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้ว เหลือเพียงประเด็นข้อกฎหมาย จึงนัดลงมติและนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 14.00 น.
          ด้าน นายวราเทพให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมจะไปฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อย่งไรก็ตาม ยังยืนยันเหมือนเดิมคือ มีเจตนาที่บริสุทธิ์ว่ามีคุณสมบัติที่ครบ และมั่นใจในกระบวนการตรวจสอบที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการก่อนที่จะยื่นใบกรอกคุณสมบัติให้แก่นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ไม่ได้กังวลอะไร
          "มาร์ค-เทือก"จ่อฟ้องดีเอสไอ
          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นเรื่องฟ้องร้องผู้ที่เกี่ยวข้องกับการมีมติให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งข้อกล่าวหาในคดีต่างๆ ฐานทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ รวมอยู่ด้วย ส่วนจะรวมถึงนายกรัฐมนตรี หรือฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้ให้นโยบายด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ ต้องดูเป็นกรณีไป แต่ขณะนี้กำลังรวบรวมรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องดูจากคำสั่งต่างๆ ให้ครบถ้วน และกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจร่างคำฟ้องครั้งสุดท้ายส่วนจะยื่นคำร้องต่อหน่วยงานไหน จะเป็น ป.ป.ช.หรือศาลด้วยหรือไม่นั้น คงต้องขอดูรายละเอียดก่อน--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
'ตู่-ธิดา'บุกศาลถามปมแก้ไขรธน.ลั่นวินิจฉัยคลุมเครือถ้าตอบชัดประหยัดงบ2พันล้าน-กกต.ตั้งสอบมาร์คชวนคว่ำประชามติ


          โพสต์ทูเดย์ -กลุ่ม นปช. ยกขบวนถามศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ จี้ตอบเรื่องประชามติ
          นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 ม.ค. ตนเองและนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช.จะไปยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสอบถามถึงคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคลุมเครือไม่ชัดเจนจนกลายเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่
          ทั้งนี้ จะถามเพียง 2 ข้อ ว่า 1.ห้ามโหวตวาระ 3 หรือไม่ และ 2.สั่งให้ทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 หรือไม่ เพราะตอนนี้ สส. และ สว. ไม่มีความมั่นใจ หากจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยที่ยังมีความสงสัยอยู่แบบนี้ ดังนั้นผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ
          "ถ้าไม่ตอบก็ไม่รู้แล้วว่าใครจะตอบเรื่องนี้จนมีข้อยุติและคำตอบของศาลรัฐธรรมนูญเพียง 2 ข้อ อาจประหยัดงบได้ถึง 2,000 ล้านบาท" นายจตุพร กล่าว
          อย่างไรก็ตาม กรณีที่โฆษกศาลรัฐธรรมนูญระบุก่อนหน้านี้ว่า อาจจะไม่ตอบคำถามดังกล่าว ก็อยากให้รอดูหนังสือของตนเองก่อน มีเพียง 4 หน้า ถามสั้นๆ2 ข้อ ถ้าไม่ตอบ ก็จะถามต่อไปเรื่อยๆเพราะมีอยู่แค่นี้จริงๆ ที่เป็นปัญหา
          ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า นายอภิชาต สุขัคคานนท์ประธาน กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกร้องให้คนไทยร่วมกันคว่ำการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคหรือไม่ ภายใน 30 วัน
          นอกจากนี้ ในวันที่ 11 ม.ค. ตนเองจะไปร่วมหารือกับนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะนำเสนอประเด็นที่เป็นปัญหาและอุปสรรค
          ทั้งนี้ ประเด็นที่เป็นปัญหา อาทิกฎหมายกำหนดให้การออกเสียงประชามติกระทำในวันเดียว แต่ให้ผู้อยู่นอกราชอาณาจักรออกเสียงได้ รวมถึงกรณีหากมีการประกาศให้มีการทำประชามติ กกต.จะต้องทำให้เสร็จภายใน 120 วัน แต่ระหว่างนั้นหากมีการยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุดและรับไว้พิจารณา กกต.ต้องหยุดจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ซึ่งจะนับช่วงเวลากันอย่างไร กฎหมายไม่ได้ระบุไว้
          "จริงอยู่ หากจะขจัดปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งต้องใช้กระบวนการของสภา แต่คณะของ กกต.ที่ไป มีหน้าที่ไปรับฟังและแจ้งให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคหากมีการทำประชามติ ตามที่กกต.มอบหมายเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จะไปเสนอว่าปัญหาอุปสรรคเหล่านี้จะต้องแก้ด้วยวิธีการใด เพราะหน้าที่นี้เป็นของฝ่ายการเมือง" นายภุชงค์ กล่าว
          นายสามารถ แก้วมีชัย สส.เชียงรายทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การโหวตวาระ 3 ที่ยังค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุมนั้น อาจจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง สส. สว. มาช่วยหาทางออก จะได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติไปในทางเดียวกัน เช่น สมมติว่าคณะกรรมาธิการฯ เสนอให้คว่ำการโหวตรัฐธรรมนูญวาระ 3 แล้วเห็นว่าควรแก้ไขเป็นรายมาตรา ก็จะใช้เป็นข้อยุติทันที m--จบ--
          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ร้อยแปดวิถีทัศน์: ประชามติหรือเดินหน้าวาระ 3 ? :มติพรรคเพื่อไทยคือ'ไม่มีมติ'!


          ไชยันต์ ไชยพร
         
          เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2556 สื่อ INN ได้ออกข่าวว่า "มติพรรคเพื่อไทยให้สถาบันการศึกษาดูแก้รัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน" และมติชนออนไลน์ลงข่าวว่าพรรคเพื่อไทยเล็ง "ขอสถาบันการศึกษา คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ สถาบันชั้นนำมาช่วยกันศึกษาว่าควรจะแก้ไขอย่างไร ประเด็นใดบ้าง โดยจะใช้การศึกษาประมาณ 45-60 วัน จากนั้น จะนำข้อศึกษาดังกล่าวมาหารือกันอีกครั้ง ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็จะดำเนินการทุกประการ"
          มติข้อเสนอดังกล่าวทำให้อดนึกถึงช่วงที่คุณทักษิณต้องเผชิญกับการต่อต้านประท้วงในปี 2549 ไม่ได้ เพราะนักวิชาการได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากตัวคุณทักษิณเท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุมาจากตัวรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วย นั่นคือ รัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อหวังให้ฝ่ายบริหารพรรคการเมืองใหญ่มีความเข้มแข็ง แต่เมื่อบวกเข้าวิธีการของคุณทักษิณแล้ว เลยทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป องค์กรอิสระและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ คุณทักษิณเลยเสนอแนวทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ขึ้น โดยให้"สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปทำข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540" (http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1631) ซึ่ง ศ. ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ ปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ข้อสังเกตต่อแนวทางในครั้งนั้นไว้ว่า "แต่ตอนนั้นผมเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต่างคนก็ต่างทำ เลยไม่เกิดผลในทางปฏิบัติและพอมีการรัฐประหาร ทุกอย่างก็จบสิ้นลง." (http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1631)
          มาคราวนี้ พรรคเพื่อไทยก็ใช้แนวทางเดิมเหมือนสมัยคุณทักษิณ แม้บริบทอาจแตกต่างกัน แต่เป้าหมายไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะในขณะนั้น คุณทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรีกำลังเผชิญกับการชุมนุมประท้วงของพี่น้องพันธมิตรฯอย่างหนักหน่วง การเสนอให้ สกอ. ไปทำข้อเสนอ อาจถูกตีความว่าเป็นการซื้อเวลา ซึ่งในที่สุดแล้ว สกอ. ก็ไม่มีผลอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจนตามข้อสังเกตของ ศ. ดร. นันทวัฒน์ข้างต้น ส่วนบริบทของพรรคเพื่อไทยขณะนี้ แม้ว่าพี่น้องพันธมิตรฯก็ยังคงยืนยันไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสเรียกร้องจากพี่น้องมวลชนคนเสื้อแดงให้เดินหน้าลงมติวาระ 3 โดยไม่ต้องทำประชามติ  ทำให้พรรคเพื่อไทยตกอยู่ในสภาวะทางสองแพร่ง นั่นคือ หากเดินหน้าลงมติวาระ 3 ก็ต้องเจอกับกระแสชุมนุมต่อต้านของพันธมิตรฯ+อีกหลายกลุ่มการเมืองและการเสี่ยงต่อการถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในแก้ไขมาตรา 291 โดยเพิ่มเงื่อนไขการมี  ส.ส.ร. ซึ่งเปรียบเสมือนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ให้คำแนะนำไปแล้วว่า   หากจะให้มี ส.ส.ร. เพื่อร่างใหม่ทั้งฉบับ ก็ควรทำประชามติเสียก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เกิดขึ้นได้เพราะผ่านประชามติ
          ที่ผ่านมา สื่อได้นำเสนอข่าวว่า คุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์เห็นควรให้ทำประชามติเพื่อเป็นทางออกต่อความเห็นที่ขัดแย้ง แต่ถ้าฟังแกนนำเสื้อแดงปราศรัยผ่านโทรทัศน์ช่องของเขา จะพบว่า แกนนำก็ดีและการให้ความเห็นของพี่น้องเสื้อแดงก็ดี มุ่งไปที่การเดินหน้าวาระ 3 โดยไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติ เพราะพวกเขาถือว่า ผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 เป็นประชามติมหาชนอยู่แล้ว มติของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า "ไม่สามารถมีมติในทางใดทางหนึ่งระหว่างเดินหน้าวาระ 3 หรือเดินหน้าทำประชามติ" แต่โยนให้  "สถาบันการศึกษา คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ สถาบันชั้นนำมาช่วยกันศึกษาว่าควรจะแก้ไขอย่างไร ประเด็นใดบ้าง โดยจะใช้การศึกษาประมาณ 45-60 วัน" ซึ่งถือว่าเป็นการมุ่งเป้าไปที่การซื้อเวลาไม่ต่างจากสมัยคุณทักษิณ เพียงแต่คราวนี้ ไม่ใช่เพียงวิตกกลุ่มพันธมิตรฯกับศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังวิตกต่อพลังมวลชนคนเสื้อแดงด้วย   ดังนั้น จึงซื้อเวลาต่อไปอีกสัก 3 เดือนไปพลางๆ ก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกที และหากถึงกำหนดเวลา ผลออกมาเหมือนกับสมัยคุณทักษิณ นั่นคือ "มหาวิทยาลัยต่างๆ ต่างคนก็ต่างทำ เลยไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ" ก็หมายความว่า ไม่มีบทสรุปที่จะเป็นข้อยุติให้กับพรรคเพื่อไทยได้ ถ้าจะถามว่า แนวโน้มของข้อสรุปของสถาบันการศึกษา-รัฐศาสตร์-นิติศาสตร์สถาบันชั้นนำต่อประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญนี้ ดูๆ แล้ว ก็ไม่ง่ายนักที่จะหาข้อสรุปที่ต้องตรงกันเป็นเอกภาพ  ไปๆ มาๆ อาจจะกลายเป็นต่างคนต่างทำเหมือนเดิมก็ได้ ! ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็น่าจะต้องลองคิดถึงข้อสรุปที่ไร้ข้อสรุปไว้เสียตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อหาทางแนวทางเสริมที่ปฏิบัติได้จริงและไม่สร้างปัญหาต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคตอันใกล้ต่อไป
          ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญสองฉบับที่ฝ่ายทักษิณ-ยิ่งลักษณ์โยนให้สถาบันการศึกษาไปศึกษา จะพบว่า ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 40 คือ ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ ส่วนปัญหาของรัฐธรรมนูญ 50 ในสายตาคุณจารุพงศ์ เรืองสุวรรณหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคือ "รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 50 มีเจตนารมณ์ ทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุล ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจพื้นฐานประชาธิปไตย....รัฐธรรมนูญมีความพยายามเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ และชัดเจนว่าผู้บริหารองค์กรอิสระไม่เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 50 ใช้อำนาจเกินขอบเขต และมุ่งทำลายพรรคการเมืองที่ประชาชนไว้วางใจ ด้วยความพยายามยุบพรรคการเมืองอย่างง่ายดาย รัฐธรรมนูญยังสร้างอุปสรรคปัญหาและทำความคล่องตัวในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศจนเกิดความล่าช้าในการสร้างความร่วมมือ" (มติชนออนไลน์ 6 มกราคม 2556 เวลา 20.00 น.)  เข้าใจว่า แม้ว่าดูเผินๆ ข้อวิจารณ์รัฐธรรมนูญ 40 ของคุณจารุพงศ์จะไปซ้ำกับที่มีผู้วิจารณ์รัฐธรรมนูญ 40 ไว้ในประเด็นปัญหาเรื่องการไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้  แต่เข้าใจว่า ผู้วิจารณ์รัฐธรรมนูญ 40 ต้องการบอกว่า องค์กรอิสระและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้  ส่วนคุณจารุพงศ์ต้องการบอกว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 50 ฝ่ายบริหารและนักการเมืองถูกองค์อิสระใช้อำนาจตรวจสอบเกินขอบเขต ไม่ถือว่าถ่วงดุลกัน เพราะฝ่ายบริหารและนักการเมืองไม่สามารถตรวจสอบองค์กรอิสระได้ อีกทั้งองค์กรอิสระก็ขาดการเชื่อมโยงกับประชาชน
          นั่นคือ รัฐธรรมนูญ 40 ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารและนักการเมือง ส่วนรัฐธรรมนูญ 50 ทำให้สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารและนักการเมืองได้ แต่มากไป  ที่มากไปเพราะองค์กรอิสระไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของนักการเมืองที่เป็นตัวแทนการใช้อำนาจของประชาชน  แต่ถ้าให้นักการเมืองแต่งตั้ง ก็จะกลับไปเหมือนเดิม คือไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้
          ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ 50 ก็ถูกมองว่าจะแก้เพื่อลบล้างผลของมาตรา 309 เพื่อช่วยคุณทักษิณ ส่วนฝ่ายที่ไม่ต้องการแก้ก็ถูกมองว่า ต้องการเก็บไว้เพื่อปกป้องการทำรัฐประหารและผลพวงของรัฐประหาร ต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่เช่นนี้ ไม่ต้องเดินหน้าไปไหนกันมาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตาม การเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะนำไปสู่การล้างผลพวงรัฐประหาร ก็ถือว่ามีเหตุผลชอบธรรม แต่ขณะเดียวกัน ข้อกังขาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของ พ.ต.ท. ทักษิณก็คงคั่งค้างคาใจอยู่ด้วย ดังนั้น หากจะให้เกิดความยุติธรรมที่นำไปสู่การปรองดองและพัฒนาทั้งประชาธิปไตยและพัฒนาคุณภาพของนักการ เมืองจริงๆ ก็ต้องหาทางแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรที่จะสามารถนำบุคคลทั้งสองที่เป็นตัวปัญหาในสายตาของประชาชนแต่ละฝ่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นั่นคือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน จะต้องขึ้นถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ความปรองดองจึงจะเป็นไปได้ !
          (ส่วนหนึ่งของงานวิจัย ภายใต้โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555 ความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง "การพัฒนาระบอบการเมืองประชาธิปไตยเพื่อความเป็นธรรมและเสมอภาคในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย" (HS1068A) สนับสนุนโดย สกอ.  ตุลาคม 2554-กันยายน 2555)--จบ--
          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์: มองมุมใหม่: หากว่าเราต้องเสียเขาพระวิหาร...


          เรือรบ เมืองมั่น
          Facebook: ruarob.muangman
         
          กว่าศาลโลกจะตัดสินหาผู้ชนะเจ้าของถาวรของพื้นที่ 4.6 ตร.กม.บนเขาพระวิหาร
          ก็ยังอีกหลายเดือน ทั้งยังพอหวังได้สักเสี้ยวหนึ่งว่าไทยอาจไม่แพ้ แต่ก็มีผู้เริ่มฟูมฟายกันถึงการสูญเสียพื้นที่กันบ้างแล้วและจะนำไพ่ชาตินิยมมาเล่นกันอีก บนความหวั่นใจของกลุ่มที่ยึดถือความสงบสุขมากกว่าอธิปไตยในโลกยุคไร้พรมแดน ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจเร่งให้เกิดอะไรขึ้นก็ได้บน Timeline จากนี้ไปจนถึงวันพิพากษาที่อาจเป็น มิ.ย.หรือ ต.ค.  แต่สุดท้ายเราก็ต้องเลือกหนทางเดินต่อไปอยู่ดีหลังผลการตัดสินออกมาแล้ว ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายสูญเสียพื้นที่นั้นไปจริงๆ เราก็ต้องยืนหยัดรับสถานการณ์ให้ได้อย่างชาติที่มีอารยะ
          ฝ่ายชาตินิยมมีประเด็นที่โมโหในการเป็นรองทางกฎหมายระหว่างประเทศของฝ่ายปกครอง เพราะเห็นจะจะตาว่าปราสาทเขาพระวิหารนั้นศาลโลกยุคนั้นมั่วยกให้เขมรหน้าตาเฉยเหมือนคนไม่รู้จักคำว่าสันปันน้ำคืออะไร  แต่ทุกรัฐบาลก็ยอมรับไม่หืออือกับองค์กรระหว่างประเทศ  ทั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์กับรัฐบาลเครือข่ายทักษิณ ปล่อยให้เขมรอยู่บนเขาได้อย่างเสรีไม่ยอมไล่  ฝ่ายแรกไปเสียเชิงแผนที่ให้แก่ฝ่ายเขา ส่วนฝ่ายหลังก็ถูกมองว่าสนับสนุนให้เขมรได้ปราสาทไป จนฮุนเซนเหิมเกริมไม่เลิก พวกเขาคิดว่าไทยเป็นเจ้าของทั้งเขาพระวิหารอย่างที่ตัดแบ่งให้ได้ไม่ได้  และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะเอาคืนปราสาทที่ถูกโกงไปคืนมาเสียด้วย ฝ่ายชาตินิยมคิดว่าลูกหลานต้องละอายต่อวิญญาณปู่ที่ตายไปเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินนี้และพวกเขาถือเป็นภาระต้องรักษาอธิปไตยไว้ให้จงได้ด้วยการใช้ยุทธการทุกรูปแบบ  แม้แต่ถมศพทหารหรือชาวบ้านลงไปอีกก็ต้องยอมเสียสละ
          ความคิดที่ฮึกเหิมเช่นนี้เคยเป็นสิ่งที่คนรักชาติทุกคนในอดีตต้องปฏิบัติตาม  แต่ในยุคที่โลกร้อยรัดเป็นหนึ่งเดียว  อาณาจักรไทยต้องยอมรับอิทธิพลของนานาชาติไม่มากก็น้อย คนไทยก็อาจต้องยอมกลืนเลือดเหมือนที่ผู้นำที่มีอำนาจในประเทศล้นฟ้าอย่างถนอม-ประภาสยังเคยต้องยอมให้ศาลโลกมาแล้ว  ดีกว่ายอมให้คนบางกลุ่มเอาประเด็นนี้มาเล่นเกมแห่งอำนาจหรือต้องมีผู้พลีชีพ  มีผู้บ้านแตกสาแหรกขาด อีกมาก  แต่แรกสุดคือเราต้องยอมรับความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการหักด้ามพร้าด้วยเข่าหรือจะเอาแต่ใจเสียก่อน
          เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า ไม่ว่าจะโทษกรมพระยาดำรงหรือหม่อมเสนีย์หรือใครก็ตาม ปราสาทเขาพระวิหารก็เป็นของเขาไปแล้ว และรัฐบาลไทยทุกสมัยหลังปี 2505 ก็เลือกห่มผ้าแห่งสันติก่อนที่จะทำสงครามกับเพื่อนบ้านเพราะเรื่องนี้ ทำให้เราไม่ประท้วงศาลโลก
          ทั้งสนับสนุนให้เขมรแดงสร้างพื้นที่กันชนต้านอิทธิพลเขมรฝ่ายเวียดนามเสียอีก ความคิดนี้ดำรงต่อเนื่องผ่านยุค 2540 ที่ไทยคาดไม่ถึงว่าระบอบฮุนเซนจะจรรโลงอยู่ยาวนานโดยกัมพูชาไม่เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบเสียทีและยังคาดไม่ถึงว่าอีกว่าอิทธิพลฮุนเซนที่ในต้นทศวรรษนั้นยังกุม จ.ชายแดนไว้แทบไม่อยู่เลย วันหนึ่งจะทำทางมาครอบงำพื้นที่จนได้ในปลายทศวรรษนั้น  ในยุคของรัฐบาลชวน 2 และทักษิณ จึงปล่อยปละคนเขมรเอ้อระเหยบนเขา วางใจกับสันติภาพและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของนายทุนไทยชายแดน
          และเป็นเพราะการไม่ยอมรับความจริงนี่เอง ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนเอาประเด็นเขาพระวิหารมาเล่นกันจนเลยเถิด บางทีพวกเขาอาจต้องการเหยื่อทางการเมืองมากกว่าความได้เปรียบด้านกฎหมายระหว่างประเทศ  พวกเขาไม่สนใจความจริงที่ว่าคนเขมรขมขื่นกับการเสียเปรียบทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจมานาน  กัมพูชายุคที่พอยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรีในเวทีโลกแล้วนั้นอยากเอาปราสาทเขาพระวิหารมาบริหารเอง แม้จะบริหารได้ห่วยสักหน่อยก็ยังดีกว่าแค่เก็บเศษเงินรองจากไทยเหมือนในอดีต นี่เป็นปมชาตินิยมฝังใจ จนทำให้หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมบริหารร่วมกับไทย แม้ทักษิณจะซี้ฮุนเซนขนาดไหนก็ไม่ฟัง ทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่นพดลและข้าราชการประจำไทยยุคสมัครพอจะทำได้ก็คือรับรองให้กัมพูชาเอาแค่ปราสาทเขาพระวิหารไปบริหารจัดการซะ ซึ่งถ้างานนี้สำเร็จ เขมรไม่น่าจะอ้างสิทธิใดๆ นอกตัวปราสาทได้อีก  เพราะดันเซ็นรับรู้แถลงการณ์ร่วมกับไทยไปแล้ว  แต่น่าเสียดายว่าการเมืองในไทยทำให้ทางออกนี้ปิดลงตลอดกาล กัมพูชายังได้ปราสาทอยู่ดีไม่ว่าไทยจะรับรองสิทธิหรือไม่  พร้อมทั้งยังมีโอกาสเอาพื้นที่เลยปราสาทออกไปอีก  ความขัดแย้งถึงขั้นเกลียดชังระหว่างฮุนเซนกับฝ่ายปรปักษ์ในไทยยิ่งทำให้เขมรเร่งพัฒนาพื้นที่เพื่อบริหารภูเขาให้ได้ตามความฝัน ควบคู่กับการเอาสิทธิอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย  งานนี้ต่อให้สิบรอยยิ้มยิ่งลักษณ์ก็ขวางไม่ได้  เพราะมันคือผลประโยชน์แห่งชาติของกัมพูชา
          กับฝ่ายไทย เขาพระวิหารเป็นสัญลักษณ์ที่เตือนใจถึงการเสียดินแดนในอดีต  มีผลกระทบทางจิตวิทยาต่อคนไทยอย่างสูง  เป็นจุดยุทธศาสตร์สูงข่มแบบเดียวกับภูเขา Golan ของซีเรียที่โดนอิสราเอลยึดไป หากมีความตึงเครียดรุนแรง ไม่มีใครอยากวางกำลังในพื้นที่ต่ำกว่า  และที่น่าห่วงคือการเสียภูเขาไม่ได้ประกันว่าเขมรจะไม่รุกต่อไป ได้คืบเอาศอกโดยได้รับการหนุนหลังจากฝรั่งที่ต้องการไถ่บาปในอดีตที่เคยทำกับประเทศนี้เอาไว้  สันติภาพที่ภูมิซรอลจะยั่งยืนขนาดไหนก็ไม่ประกันว่าในอนาคตเราจะไม่เกิดเหตุในอ่าวไทยหรือกลุ่มปราสาทตาเหมือน
          ถ้าศาลตัดสินเป็นคุณแก่ฝ่ายไทยก็ดีไป แต่หากศาลตัดสินให้ไทยแพ้กรณี 4.6 ตร.กม.เขาพระวิหาร  เราก็สมควรยอมรับฟังประชาคมโลกโดยดุษฎี มิฉะนั้นจะเสียไปมากกว่านี้  ที่ผ่านมาถือว่าเสียค่าโง่  อย่าไปยึดอนุสัญญา Tokyo ที่รัฐบาลจอมพล ป.เคยทำไว้กับจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นให้โลกหัวเราะเยาะหรือถอนตัวออกจากศาลโลกแบบไม่สนอารยประเทศ  เพราะไม่เพียงแต่เสียเกียรติของชาติที่มีความอดกลั้นและความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันกับชาติอื่นโดยสันติแล้ว  ไทยอาจเสียมิตรในเวทีระหว่างประเทศ และการเสียมิตรนั้นจะยิ่งเป็นการลดระดับความรุ่งเรืองทุกมิติลง  สงครามชายแดนจะยิ่งเพิ่มข้อบาดหมางกับเพื่อนบ้านและทำให้โอกาสของความร่วมมือแบบมุ่งสันติมากกว่านามธรรมใดนั้นริบหรี่ลงไป การยอมถอยให้หนึ่งก้าวเพื่อความชอบธรรมและเปิดโอกาสในการสร้างสรรค์อย่างอื่นอีกมากนั้นน่าจะมีคุณค่ากว่าการยอมพินาศไปกับสิ่งที่ตนเองคิดว่าคือความภาคภูมิใจ ซึ่งก็อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่ต้องการ--จบ--
          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น