วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

สรุปวิเคราะห์ข่าวจาก นสพ.วันที่ ๓ ม.ค.๕๖



เมื่อไทยใจเขมร 'ส่งสัญญาณแพ้'
          หยุดพิรี้พิไรกับ สุข-สนุก-เที่ยว กลับสู่โหมดชีวิตจริงปี ๒๕๕๖ กันได้แล้วกระมัง เพราะรัฐบาลเริ่มศักราชก็เดินหน้า "แก้แค้น-แก้กฎหมาย" ๑.ฉีกรัฐธรรมนูญปัจจุบันทิ้ง แล้วเขียนใหม่ "รวบ ๓ อำนาจ" รองรับแผนแดงทั้งแผ่นดิน ๒.ใช้งบประมาณ+การสร้างหนี้เพิ่ม รับจำนำข้าว+หว่านประชานิยม มัดใจชาวบ้านให้โหยหาระบอบทักษิณ โดยทักษิณไม่ต้องใช้เงินตัวเองซักบาท และ ๓.ยืมมือ DSI ตามล้าง-ตามเช็ดประชาธิปัตย์+ใครที่ขัดประโยชน์โจร!          ทั้งปี ๒๕๕๖ ประเทศไทยก็จะเคลื่อนไหวด้วยกระดูกสันหลัง ๓ ข้อนี้เป็นหลัก ยกเว้น "เหตุฉับพลัน" จากธรรมชาตินำวิบัติ และอีก ๑ เหตุแทรกซ้อน คือ การตัดสินศาลโลก กรณีเขมรยื่นศาลโลกให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕๐๕ ซึ่งปลายปี ๕๖ นี้...ตัดสิน
          คำตัดสินศาลโลก ผมว่าไม่น่าห่วงเท่าไหร่ แต่ "คำพูด" ด้วยทัศนคติของคนอย่างนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ที่พูดเมื่อวันที่ ๑ มกรา นี่ซี ไม่แค่น่าห่วง แต่ยังน่ากลัวจะนำเสนียดจัญไรมาสู่รัฐบาล อันเป็นผลจากคำพูดที่บ่งบอก "สำนึกไทย-สำนึกเขมร" ชัดเจน          "........รู้สึกหนักใจเกี่ยวกับคดีนี้ แต่คิดว่ารัฐบาลทำดีที่สุดแล้ว องค์ประกอบในการสู้คดีใช้ทีมงานชุดเดิมตลอด มีการเปลี่ยนแปลงแค่ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น ผมมองตั้งแต่ตอนมารับตำแหน่งแล้วว่า คดีนี้มีแต่แพ้กับเสมอตัว คือถ้าแพ้ก็เสีย แต่ถ้าอยู่แบบเดิม คือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ส่วนพื้นที่รอบปราสาทเป็นแบบเดียวกับปี ๒๕๐๕ ก็คือเสมอตัวเท่านั้น
          แต่คนที่อยู่ตามแนวชายแดนทั้งไทยและกัมพูชาต้องอยู่กันอย่างนี้ไปชั่วลูกชั่วหลาน ยิ่งในอนาคตเราก้าวสู่ประชาคมอาเซียนเหมือนประชาคมยุโรป เรื่องเขตแดนแทบจะไม่มีความหมาย และไม่อยากเห็นการปะทะตามแนวชายแดนเกิดขึ้น เพราะเราเป็นเพื่อนบ้านกัน ควรอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่อยากให้มีการแบ่งแยก
          อยากฝากไว้ว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไรต้องยอมรับ แต่หนักใจที่คนส่วนหนึ่งจะไม่เข้าใจเท่านั้นเอง"
          นี่คือความอับเศร้าหมองศรีของประเทศอย่างหนึ่งที่ได้คนดีในทัศนะรัฐบาลใต้ระบอบทักษิณอย่างนายสุรพงษ์มาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งทั้งวุฒิภาวะและทั้งสำนึกไทยในการทำหน้าที่ในรอบปีที่ผ่านมา ก็เห็นกันอยู่
          ระดับ "ผู้บัญชาการทัพไปสู้คดีกับเขมรที่ศาลโลก" โดยมีดินแดนรอบปราสาทพระวิหารของเราเป็นเดิมพัน แต่ตัวผู้บัญชาการทัพ คือนายสุรพงษ์ กลับบอกกับลูกทัพและกับพลเมืองประเทศว่า
          "หนักใจ...มีแต่แพ้กับเสมอตัว...อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด จะเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ"!?          ไม่พูดอะไรเสียเลย ก็น่าจะเกิดประโยชน์ด้านขวัญกำลังใจ และด้านความรู้สึกที่ดีกับข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ที่เขาทุ่มเทพลังกาย-พลังใจทำหน้าที่ "สู้คดี" อยู่ที่ศาลโลกขณะนี้มากกว่า ว่าอย่างนั้นมั้ย...สุรพงษ์?          ยิ่งกับประชาชนคนไทยที่เข้าถึงคำว่าบูรณภาพแห่งดินแดน บูรณภาพแห่งอาณาเขต เมื่อเขาได้ยินรัฐมนตรีต่างประเทศพูดอย่างนี้ ผมว่ามีคนจำนวนมากอยากถามว่า...
          "พูดในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศไทย หรือพูดในฐานะตัวไทย-ใจเขมร หรือพูดในฐานะ ส.ส.สมาชิก นปช.ระบอบทักษิณ ที่เคยอุ้ม 'พระสยามเทวาธิราช' องค์จำลอง ข้ามจากฝั่งไทยไปมอบให้ฮุน เซน เมื่อปลายปี ๒๕๕๒?"          เอาหละ..ไม่ฉงนถึงว่า "คนเคยซบบาทาส่งซิกแนล" เตรียมแพ้ให้เขมร แต่พินิจจากคำพูดของนายสุรพงษ์แล้ว จะเห็นชัด นอกจากไร้มรรยาทรัฐมนตรีต่างประเทศแล้ว นายสุรพงษ์มีความรู้-ความเข้าใจในองค์รวมของคดีปราสาทพระวิหารน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย
          ไม่รู้ ไม่เข้าใจกระทั่งว่า "ประเด็นวินิจฉัย" ที่ศาลโลกต้องยึดเป็นกรอบตีความตามที่เขมรฟ้องนั้น อยู่ตรงไหน-ได้แค่ไหน และที่ตัวแทนฝ่ายไทย "ดร.วีรชัย พลาศรัย" เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก แถลงเปิดและปิดคดีไปนั้น
          ไม่ใช่มีแค่ "แพ้หรือเสมอตัว" อย่างที่พวก "ไส้ศึก" มักพูด          คำว่า "ชนะ" ไทยเราก็มีได้!
          เมื่อผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงต่างประเทศ "ตื้นเขิน" จะพูดในประเด็นที่ลึกลงไปก็คล้ายวักน้ำรดหัวล้าน ฉะนั้น เพื่อเป็นการปูพื้นความเข้าใจต่อเรื่องราว นายสุรพงษ์เป็นคนเหนือ เพื่อไม่ให้คนทั่วไปดูหมิ่น-ดูแคลน "คนเหนือ" ผ่านนายสุรพงษ์
          ผมจะยก "บันทึกสรุป" ของคุณนันทวรรณ กันคำ "นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย" เรื่องคดีปราสาทพระวิหารมาให้อ่าน ซึ่งท่านสรุปขั้นตอนจากข้อมูลกระทรวงต่างประเทศไว้ดีมาก เผยแพร่อยู่ในเว็บของจังหวัดเชียงราย ดังนี้ครับ          เมื่อปี ๒๕๐๕ ศาลโลกได้ตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และให้ไทยถอดถอนทหารหรือตำรวจออกจากปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงในดินแดนของกัมพูชา ตลอดจนถึงคืนวัตถุโบราณที่ไทยอาจโยกย้ายออกจากปราสาทฯ
          เกือบครึ่งศตวรรษต่อมา กัมพูชาได้ยื่นคำขอต่อศาลฯ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ ขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลฯ ได้ตัดสินไว้เมื่อปี ๒๕๐๕ และในขณะเดียวกัน ได้ขอให้ศาลโลกกำหนดมาตรการชั่วคราว (Provisional Measures) โดยขอให้ศาลฯ สั่งให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารระหว่างที่รอศาลฯ ตัดสินคดีตีความ ความคืบหน้าของคดีฯ สรุปได้ดังนี้          คำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลฯ
          ๑.ให้ทั้งสองฝ่ายถอนบุคลากรทางทหาร ซึ่งอยู่ในเขตปลอดทหารชั่วคราว
          ๒.ไม่ให้ไทยขัดขวางการเข้าออกปราสาทพระวิหารโดยอิสระของกัมพูชา
          ๓.ให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการตามความร่วมมือที่ได้ตกลงกันในกรอบอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ที่ตั้งขึ้นโดยอาเซียนเข้าไปยังเขตปลอดทหารชั่วคราวฯ
          ๔.ให้ทั้งสองฝ่ายงดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้ข้อพิพาทในศาลฯ ทวีความร้ายแรงหรือแก้ไขยากขึ้น การปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวของศาลฯ ในช่วงที่ผ่านมา
          วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ปฏิบัติตามคำสั่งฯ ของศาลฯ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการปรับกำลังทหารบางส่วนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามคำสั่งฯ ของศาลฯ อย่างเท่าเทียมและด้วยความสมัครใจ ตามนโยบายของรัฐบาลของทั้งสองประเทศ
          กระบวนการพิจารณาคดีตีความของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นับจากที่กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ ไทยและกัมพูชาได้ยื่นเอกสารชี้แจงต่อศาลฯ ไปแล้วฝ่ายละ ๒ รอบ และในขั้นตอนต่อไป
          ศาลฯ ได้กำหนดให้มีการอธิบายทางวาจาเพิ่มเติม (Further Oral Explanations) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ หลังจากนั้นคาดว่าศาลฯ จะใช้เวลาอีกประมาณ ๖ เดือน ในการจัดทำคำพิพากษาก่อนที่จะมีการตัดสินคดีฯ ประมาณปลายปี ๒๕๕๖          ข้อต่อสู้ทางกฎหมายของไทย ไทยคัดค้านว่า ศาลฯ ไม่มีอำนาจพิจารณาและกัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากประเด็นที่กัมพูชาขอให้ศาลฯ ตัดสินว่า บริเวณใกล้เคียงปราสาทเป็นไปตามเส้นเขตแดนบนแผนที่ที่กัมพูชาเรียกว่า "แผนที่ภาคผนวก ๑" ไม่ใช่การตีความ แต่เป็นการฟ้องคดีใหม่ในเรื่องเขตแดน ซึ่งอยู่นอกขอบเขตของคดีเดิม และเป็นเรื่องที่ไทยกับกัมพูชาจะต้องเจรจากันภายใต้กรอบคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทยและกัมพูชาไม่มีข้อพิพาทในเรื่องการตีความคำพิพากษาเดิม          คำฟ้องของกัมพูชาเป็นการเปลี่ยนท่าทีและเป็นการรื้อฟื้นเรื่องที่จบไปแล้ว เพราะกัมพูชาได้ยอมรับอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ว่า ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีเดิมอย่างครบถ้วนแล้ว โดยได้ถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียงปราสาทตามขอบเขตที่กำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ซึ่งสอดคล้องกับขอบเขตของพื้นที่พิพาทในคดีเดิมตามความเข้าใจของคู่ความและศาลฯ
          นอกจากนี้ คำฟ้องของกัมพูชาเป็นเสมือนการอุทธรณ์ที่ซ่อนมาในรูปคำขอตีความ ซึ่งขัดธรรมนูญศาลฯ และแนวคำพิพากษาของศาลฯ เพราะกัมพูชาขอตีความคำพิพากษาส่วนที่เป็นเหตุผล ไม่ใช่ส่วนที่เป็นคำตัดสิน
          โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้ศาลฯ ตัดสินสิ่งที่ศาลฯ ได้เคยปฏิเสธมาแล้วอย่างชัดแจ้งเมื่อปี ๒๕๐๕ กล่าวคือ (๑) เส้นเขตแดนอยู่ที่ไหน และ (๒) แผนที่ที่กัมพูชาเรียกว่า "แผนที่ภาคผนวก ๑มีสถานะทางกฎหมายอย่างไร          ครับ...และเพื่อให้ไอ้พวกนักการเมืองตัวไทย-ใจเขมรได้รู้ทางออกของปัญหา ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ มีแต่ ๒ ประเทศ "ชนะร่วมกัน" ผมจะยกคำอันเป็น "ข้อเท็จจริง" ที่ท่านทูต "วีรชัย พลาศรัย" นำเสนอต่อศาลโลกมาให้ดู ดังนี้          .........๕. กัมพูชาต้องการดินแดนที่จะใช้เป็น พื้นที่กันชนในการบริหารจัดการปราสาทพระวิหารเพื่อให้กระบวนการขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลกสมบูรณ์ ก่อนหน้านี้          เมื่อปี ๒๕๔๖ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายเคยตกลงจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรี เพื่อพัฒนาพื้นที่ปราสาทพระวิหารร่วมกัน ซึ่งได้มีการหารือกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมกัน แต่เมื่อปี ๒๕๔๗ กัมพูชากลับไปยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่ได้แจ้งให้ไทยทราบ
          อีกทั้งได้ออกพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี ๒๕๔๙ กำหนดขอบเขตของปราสาท ซึ่งล้ำเข้ามาในดินแดนไทย ขณะที่ในพื้นที่ ฝ่ายกัมพูชาก็ได้รุกล้ำเข้ามาโดยการสร้างถนน วัด และชุมชน ซึ่งนอกจากจะละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยแล้ว ยังละเมิดบันทึกความเข้าใจฯ ปี ๒๕๔๓ ด้วย ไทยได้พยายามเจรจาแก้ไขปัญหาเหล่านี้หลายครั้งแต่ไม่ประสบผล และไทยก็ได้ประท้วงการกระทำดังกล่าวของกัมพูชามาโดยตลอด
          ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ๒๕๕๑ ซึ่งจำกัดเฉพาะตัวปราสาท และกัมพูชามีพันธกรณีที่จะต้องเสนอแผนบริหารจัดการให้คณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบ อย่างไรก็ดี ตลอดกว่า ๒ ปีที่ผ่านมา กัมพูชายังไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันเรื่องนี้ เพราะไทยไม่สามารถยอมรับแผนบริหารจัดการที่กระทบสิทธิเหนือดินแดนของไทยได้ และโดยที่ดินแดนไทยส่วนที่กัมพูชาอ้างสิทธิ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกให้สำเร็จและสมบูรณ์ ซึ่งทั้งสองประเทศก็ทราบดี
          และนั่นคือเหตุผลที่ไทยได้เสนอให้มีการขึ้นทะเบียนร่วมหลายครั้ง แต่กัมพูชาปฏิเสธมาโดยตลอด.

.....เว็บไซต์ไทยโพสต์
รายงานสถานการณ์สื่อปี 2555 "ปีแห่งการแบ่งขั้ว: จริยธรรมที่ไม่เท่ากัน"

          สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยฝ่านสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ ได้ออกรายงานสถานการณ์วงการสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยในรอบปี 2555 โดยเป็นที่ทราบทั่วกันว่า สถานีข่าวหรือรายการข่าวจากโทรทัศน์ดาวเทียมจำนวนหนึ่ง เน้นเจาะกลุ่มผู้ชมที่สนับสนุนหรือนิยมชมชอบกลุ่มการเมืองนั้นๆ จนเกิดภาพของการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจนมมากขึ้น แต่นั่นถือเป็นสิทธิเสรีภาพ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาที่ผู้ชมบริโภคข่าวจากสื่อใดสื่อหนึ่งเป็นเวลาต่อเนื่อง ที่อาจจะมีบ้างที่ปิดกั้นข้อมูลหรือการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มที่ตรงกันข้าม โดยจะมีการยกกรอบจริยธรรมในวิชาชีพของสื่อที่ตนชื่นชอบว่าเหนือกว่าสื่ออื่นก็เป็นได้           นอกจากนี้ สมาคมยังได้รวบรวมสถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนและส่งผลกระทบถึงผู้บริโภคข่าวสารในรอบปี 2555 จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้ 1.การประมูลคลื่น 3จี และปรากฎการณ์จอดำ : ถือเป็นสองเรื่องโด่งดังที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. โดยประเด็นการประมูลคลื่น 3จี นั้น คือ ปมปัญหาที่เกิดจากการที่ กสทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ จนนำไปสู่การฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ระงับการออกใบอนุญาต แต่สุดท้ายก็ป่านพ้นมาได้ สำหรับปรากฎการณ์ "จอดำ" เกิดเป็นประเด็นในช่วงถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2012 เนื่องจากติดปัญหาลิขสิทธิ์ กระทั่ง กสทช.ต้องออกมายืนยันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ขอดำขึ้นมาอีกอย่างแน่นอน           2.วิวาทระหว่างข่าวกับนักข่าว : กรณีผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่งสัมภาษณ์นักการเมืองระดับรองนายกรัฐมนตรีและเกิดวิวาทะโดยนักการเมืองคนดังกล่าวประกาศจะไม่ให้สัมภาษณ์หากมีข่าวผู้นี้อยู่ในวง ซึ่งสมาคมได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดการคุกคามสื่อ และในที่สุดก่อนสิ้นปี 2555 ปรากฎว่านักการเมืองคนดังกล่าวยอมให้สัมภาษณ์นักข่าวคู่กรณีแล้ว           3.จับช่างภาพ : เป็นเหตุการณ์ตำรวจปะทะกับผู้ชุมนุมทางการเมืองที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนิน กทม. ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง แต่ทว่ามีการจับกุมช่างภาพสื่อมวลชน 3 คนรวมไปด้วย ทั้งที่ได้แสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน โดยฝ่ายตำรวจชี้แจงว่า จับกุมเนื่องจากถ่ายภาพละเมิดสิทธิประชาชน จนทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อต้องออกแถลงการณ์ตำหนิ พร้อมยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ตรวจสอบรวมถึงยื่นให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สอบสวนข้อเท็จจริงด้วย           4.สื่อถูกตรวจสอบ : จากการที่ ป.ป.ช.มีมติเอาผิดบริษัทไร่ส้ม ผู้ทำธุรกิจสื่อ ฐานร่วมกันยักยอกเงินโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และยังมีมติส่งเรื่องให้อัยการส่งฟ้องต่อศาลอีกด้วย จนเกิด 2 กระแส คือ กดดันจากภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องการให้นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทไร่ส้มแสดงความรับผิดชอบ ขณะที่อีกด้านที่ให้การสนับสนุนนายสรยุทธ           5.สงครามเฟซบุ๊ก : เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลัง ทั้งในแวดวงข่าวการเมือง หรือแวดวงข่าวอื่นๆ ที่นำข้อความจากพื้นที่ส่วนตัวที่สาธารณชนเข้าถึงได้อย่าง "เฟซบุ๊ก" ของบุคคลที่เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่สื่อเชื่อว่าเป็นแหล่งข่าวมาเป็นข้อมูลและประเด็นในการเขียนข่าว และสอบถามบุคคลที่ถูกเขียนพาดพิง โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบว่าเจ้าของเฟซบุ๊กนั้นเป็นคนเขียนหรือโพสต์ข้อความด้วยตัวเอาจริงหรือไม่ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นปัญหาเชิงจริยธรรมในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน--จบ--

.....เว็บไซต์คมชัดลึก
ตรวจสอบเสียงโหวตแก้รัฐธรรมนูญ วาระ3 รัฐบาลยังหืดจับ!! ขาดอีก26เสียง
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบเสียงของส.ส.และส.ว.เท่าที่อยู่ของสองสภาในขณะนี้มีจำนวน 646 คน ประกอบด้วย เสียงส.ส.เท่าที่มีอยู่ 497 คน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย มี 263 เสียงจาก264 เสียง ยกเว้นนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. ยังอยู่ในระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากศาลฎีการับคำร้องให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) จาก กกต.วินิจฉัยอยู่ พรรคประชาธิปัตย์ 160 เสียง พรรคภูมิใจไทย 33 ส.ส. พรรคชาติไทยพัฒนา มีส.ส. 19เสียง พรรคชาติพัฒนา 7 เสียง พรรคพลังชล 6 เสียง พรรครักประเทศไทย 4 เสียง พรรคมาตุภูมิ 2 เสียง พรรคมหาชน 1 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง และพรรครักษ์สันติ 1 เสียง ขณะที่เสียงของส.ว.เท่าที่มีอยู่มี 149 คน ขาดเพียงส.ว.บึงกาฬ ซึ่งยังไม่มีการเลือกตั้ง          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ในวาระที่สาม จะต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาในวาระที่สามมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งสองสภาตามมาตรา 291 หรือจะต้องมีเสียงของสองสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 323 เสียงในการผ่านในวาระที่สาม ดังนั้น หากอาศัยเสียงของส.ส.ในซีกรัฐบาลเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ในขณะนี้ 297 เสียง ก็ยังมีเสียงไม่เพียงพอในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ในวาระที่สามได้ เพราะยังต้องอาศัยเสียงของส.ว.และฝ่ายค้านบางส่วนให้ได้อีกไม่น้อยกว่า 26 เสียงจึงจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ผ่านการลงมติในวาระที่สามได้-

.....มติชนออนไลน์
คอลัมน์: มองไปข้างหน้า: เลือกตั้งกทม.ไม่หมูอย่างที่คิด
          ..ทัศนา..
          ปี 2556 นี้ เป็นอีกปีหนึ่ง ที่ "ปัจจัยการเมือง" จะกลับมาเป็นปัจจัยเสี่ยงสร้างความวิตกให้นักเศรษฐศาสตร์ และนักธุรกิจ เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะตัวแปริรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้นในปีนี้ แม้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีรู้ดีถึงความเสี่ยงตัวแปรนี้ จึงออกมาให้สัญญาณว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่เห็นในปี 2556          กระนั้นก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่หลายฝ่ายพยายามนำเอามาใช้เป็นเครื่องมือให้กับฝ่ายตนเอง เมื่อไล่เรียงเหตุการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดในอนาคต
          เริ่มจากเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาคณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับอัยการ มีมติร่วมกันให้ดำเนินการแจ้งข้อหาแก่ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และผู้บริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)          ที่ประกอบไปด้วย "คุณชายหมู" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร   นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร, นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร, นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร,นายธนา วิชัยสาร ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร,นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด,นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด          นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนที่ประกอบไปด้วยนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)          ทั้งหมดมีความผิดฐาน "ร่วมกันประกอบกิจการรถรางโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58" พร้อมกับเรียกผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 9 มกราคม2556          ในขณะที่เหลือเวลาอีกสัปดาห์เศษ วาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการราชการกรุงเทพมหานครของคุณชายสุขุมพันธ์ ก็จะหมดลงในวันที่10 มกราคม 2556 หากแต่พรรคประชาธิปัตย์  ซึ่งมีมติส่งคุณชายสุขุมพันธ์ลงชิงชัยในเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้งยืนยันว่า "คุณชายหมู" จะสามารถแก้ข้อกล่าวหานี้ได้          ด้วยความมั่นใจว่าจะสามารถ "เคลียร์" ข้อกล่าวหาได้วันนี้พรรคปชป.ยังเดินหน้ารวบรวมนโยบายที่จะทำร่วมกันระหว่างทีมงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์และทีมงานของปชป.เพื่อกำหนดหลักการ นโยบาย และวิธีการใดเป็นหลักในการหาเสียง          ขณะเดียวกันคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ที่มีพล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา เป็นประธาน  กกต.กทม. ออกมาให้ความเห็นหลัง ผู้ว่าฯกทม.และผู้บริหารระดับสูงของกทม.ถูกดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อาจมีการเปลี่ยนแปลงหาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรผู้ฯกทม.ลาออกก่อนครบวาระ
          ทั้งนี้นับจากวันที่ 10 มกราคม 2556 นั้นกกต. มีเวลาจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งได้กำหนดวันเลือกตั้งไว้ ในวันที่ 17กุมภาพันธ์ แต่หาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ชิงลาออกก่อนกกต.มีเวลาจัดการเลือกตั้งเพิ่มเป็น 60 วัน ซึ่งน่าจะกำหนดให้มีเลือกตั้งได้ ในวันอาทิตย์ที่ 3 มี.ค.2556          พร้อมกับแนะนำว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาร้องเรียนและสุ่มเสี่ยงกับการกระทำผิด ตามมาตรา 57  ของกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ น่าจะลาออกก่อนครบวาระ
          แม้จะผูกขาดเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.มาต่อเนื่อง 3 สมัย และผลโพลยังตอกย้ำความเหนียวแน่นของคนกรุงที่มีต่อ "ประชาธิปัตย์" ยังแซงหน้า "เพื่อไทย" ทว่า ครั้งนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว หากปชป.คิดประมาท--จบ--

.....พิมพ์ไทย
'พท.อีสาน'เล็งเสนอพักแก้รัฐธรรมนูญ
          ส.ส.อีสาน เพื่อไทย ยอมรับแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ ส่อแพ้ทุกทาง เล็งเสนอความเห็นต่อพรรค ถ้าเดินหน้าแล้วแพ้ก็ควรพักไว้ก่อน เพื่อให้รัฐบาลสร้างผลงานให้ประชาชนยอมรับ
          นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ที่จะมีการหารือกันในการสัมมนาพรรคเพื่อไทย ระหว่างวันที่ 6-7 ม.ค.2555 ที่ จ.นครราชสีมาว่า คงไม่ได้ข้อสรุป แต่คงมีการเปิดโอกาสให้ส.ส.ได้แสดงความเห็นเรื่องแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และน่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการทำประชามติ ว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิถึง 24 ล้านเสียงหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปหาข้อสรุปเรื่องวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป          เบื้องต้นเท่าที่ส.ส.อีสานหารือกัน เห็นว่าแนวทางการโหวตวาระ 3 เป็นเรื่องลำบาก เดินหน้าไปก็มีแต่แพ้อย่างเดียว เพราะเสียงส.ว.คงไม่เอาด้วย ดังนั้นจึงเหลือแค่ 2 แนวทางคือ การทำประชามติและการแก้ไขเป็นรายมาตรา แต่ทั้ง 2 แนวทางนั้นส.ส.อีสานยังไม่ตกผลึกว่าเห็นด้วยกับแนวทางใด การทำประชามตินั้นยังกังวลว่าเป็นเรื่องยากที่จะหาคนมาใช้สิทธิให้ได้ถึง 24 ล้านเสียง และถ้ารณรงค์มากไปก็อาจสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายได้ ดังนั้นหากรู้ว่า          ทำแล้วไม่ผ่าน ก็ไม่ควรทำตั้งแต่ต้น ส่วนการแก้ไขเป็นรายมาตรานั้น ส.ส.อีสานเห็นว่า หากไปแก้มาตราที่สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง เช่น มาตรา 309 ก็คงไม่สำเร็จ เพราะต้องใช้เสียง ส.ว.ร่วมด้วย น่าจะทำได้แค่ประเด็นที่เคยมีการศึกษากันมา เช่น มาตรา 190 มาตรา 237 เท่านั้น          ทั้งนี้ ส.ส.อีสานคงต้องรอฟังข้อมูลในวันที่ 6-7 ม.ค.ก่อน ซึ่งส.ส.อีสานเคยคุยกันว่า หากทุกแนวทางมีอุปสรรคมาก ทั้งการทำประชามติหรือการแก้ไขเป็นรายมาตราจนสุ่มเสี่ยงเกิดความขัดแย้งนั้น ก็ควรเสนอให้พักการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน รอเวลาไปอีกสักระยะจนกว่าสถานการณ์การเมืองสงบจึงเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง ซึ่งระหว่างนั้นก็ให้รัฐบาลทำผลงานให้ประชาชนไปก่อน เพราะไม่อยากเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นในบ้านเมืองอีก แต่ขณะนี้ ส.ส.อีสานยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเลือกใช้แนวทางใด          ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อหาทางออกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เรายินดีพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ไม่มีปัญหา ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนมาตั้งแต่แรก และไม่มีอะไรซับซ้อนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ เพียงแค่ประกาศว่ามาตราใดมีปัญหาบ้าง พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น   ปชป.ยันอภิสิทธิ์พร้อมถกยิ่งลักษณ์ ปมแก้ รธน.--จบ--

.....เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
พท.แหยงประชามติ
          โพสต์ทูเดย์-สส.อีสาน พท.ขยาดทำประชามติ แนะถ้าเดินหน้าแล้วมีแต่แพ้ก็ให้พักไว้ก่อน
          นายไพจิต ศรีวรขาน สส.นครพนม พรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่าได้หารือในกลุ่ม สส.อีสานของพรรคเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าควรจะพักเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ก่อน เนื่องจากไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ลำบาก
          ทั้งนี้ แนวทางทำประชามตินั้นยังกังวลว่า เป็นเรื่องยากที่จะหาคนมาใช้สิทธิให้ได้ถึง 24 ล้านเสียงและถ้าไปรณรงค์มากไปก็อาจสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายได้ จึงรอเวลาไปอีกสักระยะจนกว่าสถานการณ์การเมืองสงบจึงเสนอแก้ไขใหม่อีกครั้ง          ด้านที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้เลขาธิการ กกต.และผู้อำนวยการสำนักกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ เป็นตัวแทนไปปรึกษาหารือกำหนดแนวทางในการจัดทำประชามติ ตามที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เชิญมา m--จบ--

.....โพสต์ ทูเดย์




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น