วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

ส่องประเด็นร้อนปี 56 'แก้ รธน.' อสรพิษติดบ่วง เมื่อ 9 ม.ค.56



สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556
ส่องประเด็นร้อนปี 56 'แก้ รธน.' อสรพิษติดบ่วง
แก้รัฐธรรมนูญ!..ประเด็นร้อนรับปีใหม่ที่ใครๆ ก็พูดถึง..ไม่ใช่แค่วงการการเมือง แม้แต่ในส่วนของภาคประชาชนเองก็ยังหวั่นใจว่าจะนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างที่ผลสำรวจ ของเอแบคโพลได้ทำการวิจัยออกมา พบว่า สิ่งที่ประชาชนกังวลมากที่สุดว่าจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชนและ เกิดการชุมนุมใหญ่ในปีใหม่นี้ อันดับแรก 34.7% ระบุคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 29.3% ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในกลุ่มคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี 12.6% ความไม่เป็นธรรม การเลือกปฏิบัติ 8.3%
ประเด็นที่ควรจะพิจารณาเกี่ยวกับ เรื่องดังกล่าวคือ โครงสร้างสถาบันทาง การเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะต้องถูกปรับให้ สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยทั้งนี้มีสาระสำคัญคือต้องยอมรับอำนาจนำของสถาบันการเมืองจากระบบ เลือกตั้ง แต่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจในทาง การเมืองด้วย
สำหรับองค์กรอิสระจะต้องปรับโครงสร้างให้มีความสัมพันธ์และความรับผิดต่อประชาชนได้ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน เพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ให้กับ เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ในด้านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และชุมชน ต้องยอมรับสิทธิในการปกครอง ของท้องถิ่นและชุมชนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการตอบสนองต่อความต้องการ ที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ โดยต้องยอมรับสิทธิของชุมชนและอำนาจในการจัดการท้องถิ่นของตนเอง อำนาจในการจัดการทรัพยากร และเลือกตั้งผู้นำของตนเองในทุกระดับ ด้วยการยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเหลือเพียงราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ดังเช่นนานาอารยประเทศทั้งหลาย
การสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มต่างๆ เป็นปัญหา ที่หยั่งรากลึกลงในสังคมไทยมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนตัวเล็กในสังคม และนับวันจะสร้างความขัดแย้ง ให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการรับรองสิทธิในปัจจัยและความจำเป็นพื้นฐานของบุคคลรวมไปถึงการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การทำให้เกิดความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรมขึ้น
สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ต้องได้รับการปกป้องโดยกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิจากการถูกละเมิดโดยอำนาจรัฐอย่างฉ้อฉล รวมทั้งต้องสร้างกระบวนการ ในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจ ของรัฐอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้เสรีภาพในการแสดงความเห็น ต้องได้รับการปกป้องอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงความ เห็นของประชาชนต่อสถาบันการเมืองต้องถือเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ต้องปราศจากกฎหมายเฉพาะที่ส่งผลต่อการห้ามการวิพากษ์วิจารณ์อย่างชอบธรรม
หากรัฐบาลสามารถปรับโครงสร้างของสังคมดังที่กล่าวมาได้ การจะร่างกฎระเบียบแบบแผนของสังคมก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะประชาชนจะมีความไว้วางใจ ในตัวรัฐบาลเอง ซึ่งปัญหาขณะนี้คือ ความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจ การมุ่งหักล้างทำลายซึ่งกันและกันทางการเมือง ส่วนหนึ่งมาจากที่รัฐบาลไม่สามารถ เคลียร์ตัวเองได้!!
การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอำนาจของรัฐสภาที่สามารถจะกระทำได้ทั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันสืบเนื่องต่อมาในการจัดทำรัฐธรรมนูญหลายฉบับแต่ ทั้งนี้ควรเพิ่มหลักการมีส่วนร่วมและอำนาจตัดสินใจของปวงชนเข้าไปในกระบวนการนี้
อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ การนำหลักการในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือ การทำให้เกิดการมีส่วนร่วม อย่างกว้างขวางให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ถือเป็นปัจจัย พื้นฐานสำคัญในการทำให้ประชาชนจะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ โดยต้องเปิดให้เกิดการมีส่วนอย่างกว้างขวางจากทุกฝ่ายนับตั้งแต่การคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ขั้นตอนในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ การรับฟังความคิดเห็น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปีนี้รัฐบาล น่าจะเจอศึกเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เจอศึกหนักทั้งภายในและภายนอก ซึ่งมอง ว่าแรงกดดันจากเสื้อแดงมากกว่า แรงกดดันจากข้างนอกที่ในช่วงต้นไม่สามารถ สั่นคลอนได้ แต่ข้างในสำคัญกว่า การยกร่างใหม่ ผ่านไปไม่ได้ตั้ง สสร. ก็ไม่สำเร็จ ทำให้รัฐบาลต้องทะเลาะกับกลุ่มคนเสื้อแดง จะแตกต่างจากข้างในแม้ว่าจะมีเสียง เข้มแข็งอย่างไร โดยธรรมชาติรัฐบาลเสียงข้างมากมักจะพังข้างใน
แม้ว่าชั่วโมงนี้รัฐบาลจะออกมาปฏิเสธเสียงอ่อยๆ ว่าคงจะยังไม่สามารถทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันภายในปีนี้ แต่ก็เชื่อว่ายังไม่ได้ละความพยายามลงไปแม้แต่น้อย ซึ่งนั่นก็อาจจะขึ้นอยู่กับบริบททางการเมือง แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหากทำด้วยความจริงใจ และไม่ใช่ทำ เพื่อใครคนใด..

.....หนังสือพิมพ์ สยามธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น