วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

ค่าแรง300เขย่าเอสเอ็มอี เอกชนอ่วมแห่ปิดกิจการ เมื่อ 4 ม.ค.56




ค่าแรง300เขย่าเอสเอ็มอี เอกชนอ่วมแห่ปิดกิจการ
 เมื่อ 4 ม.ค.56
ปิดไม่มิด ค่าแรง 300 บาท กระเทือนเอสเอ็มอี "ลูกไก่ไวท์ไล" ยอมรับที่ประชุม ครม. 8 มกราคม เตรียมหาทางช่วยเหลือ ประชาธิปัตย์แฉเอกชนรับภาระไม่ไหว จ่อปิดกิจการระนาว ของขวัญหลังวันปีใหม่ ปรับขึ้นเบนซินและโซฮอล์อีกลิตรละ 50 สตางค์ 
    นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 ม.ค.นี้ จะมีการเสนอมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา
            เขาบอกว่า มาตรการบรรเทาผลกระทบดังกล่าว จะมีกว่า 10 มาตรการ ซึ่งจะเป็นทั้งการต่ออายุมาตรการเดิม และมีมาตรการใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาตามข้อเสนอของภาคเอกชน 
            "การหารือวันนี้ เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าแรง ซึ่งมีหลายเรื่องที่จะนำเข้า ครม. วันที่ 8 นี้ มีมากกว่า 10 มาตรการ ทั้งการต่ออายุและเพิ่มใหม่ ตามข้อเสนอของภาคเอกชน ซึ่งข้อเสนอส่วนใหญ่เชื่อว่าจะได้รับการรับรองเห็นชอบจาก พ.ร.บ." 
    นายกิตติรัตน์กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มสภาพคล่องของผู้ประกอบการ จะเป็นการช่วยประคับประคองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ ขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาคนี้มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเช่นเดียวกัน ซึ่งยังคงทำให้ภาคธุรกิจไทยยังสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ แต่ก็จะต้องมีการหาแนวทางปรับเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานให้ดีขึ้นด้วย 
            เมื่อปลายเดือน พ.ย.54 ครม.เห็นชอบตามที่คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เสนอเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี และภูเก็ต 
    ขณะที่ 70 จังหวัดที่เหลือ ปรับเพิ่ม 39.5% ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ในปี 54 และทั้ง 70 จังหวัดจะได้ปรับอีกครั้ง วันที่ 1 ม.ค.56 เป็น 300 บาท/วัน โดยที่ 7 จังหวัด ที่ได้รับอัตราค่าจ้าง 300 บาท/วัน ก่อนหน้านั้น ให้คงอัตรานี้ไว้ 
            ต่อมาภาคเอกชนเสนอหลายมาตรการในการเยียวยาธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ แต่รัฐบาลเห็นพ้องกับข้อเสนอเพียงส่วนหนึ่ง โดยจะมีการติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึงผลพวงนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท ที่โรงงานทอผ้า จ.สระบุรี เลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้าว่า ไม่ทราบว่าโรงงานนี้ขนาดแค่ไหนอย่างไร แต่ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ตนบอกว่าเป็นธุรกิจ หรือสาขาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น แล้วก็คงจะไม่สามารถที่จะส่งต่อต้นทุน หรือไม่สามารถที่จะแข่งขันได้
    "แต่ว่าก็ยังถือว่าอยู่ไม่ไกลมากนะครับ สระบุรี แต่ว่าที่อยู่ไกลๆ แล้วก็ค่าแรงต้องเพิ่มขึ้นสูงมาก แล้วต้นทุนโลจิสติกส์ไม่ลดลง ตรงนั้นยังเป็นห่วงอยู่ครับว่าจะมากันอีกหลายเจ้าครับ
    น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ข้อมูลประมาณการเบื้องต้นของกระทรวงแรงงาน ยังพบว่าจากภาวะเศรษฐกิจ นโยบายการขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก จะทำให้ปีนี้มีผู้ว่างงานประมาณ 350,000-400,000 คน
    เธอบอกว่า ในหลายจังหวัด อาทิ สิงห์บุรี ขอนแก่น ศรีสะเกษ พะเยา เป็นต้น เกิดปัญหาโรงงานทยอยปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิตออกไป ส่งผลให้แรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง โดยที่ยังไม่มีทางออกและยังไม่มีอาชีพอื่นรองรับ ขณะที่กระทรวงแรงงานแทบจะไม่มีมาตรการมารองรับ หรือมาตรการการเยียวยาที่มีอยู่ก็ทำได้ค่อนข้างล่าช้า ยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่าไม่มีทางออก
    น.ส.มัลลิกากล่าวต่อว่า จากข้อมูลของ สอท. ระบุว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ ธุรกิจแบบเอสเอ็มอีจะทยอยเป็นหนี้จนนำไปสู่การปิดกิจการ ตนจึงขอให้นายกรัฐมนตรีหยุดการดำเนินการในเรื่องอื่น เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ออกไปก่อนแล้วจัดตั้งวอร์รูมเพื่อหามาตรการรองรับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งนอกจากนายกรัฐมนตรีจะมอบหมายงานแก่รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแล้ว ก็ควรหารือกับภาคเอกชนและสมาคมธุรกิจต่างๆ ในเรื่องนี้ อีกทั้งควรนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบหรือวิเคราะห์โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของสภาผู้แทนราษฎร ที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจไปใช้ในการแก้ปัญหา
    รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า รัฐบาลยังปล่อยให้มีการขึ้นค่าไฟฟ้าทันทีที่เปิดปีใหม่ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการค่าไฟฟ้าฟรี อีกทั้งค่าน้ำมันก็พุ่งสูงขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ รวมถึงราคาสินค้าสูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการอ้างว่าเป็นเพราะค่าขนส่งและราคาน้ำมันสูงขึ้น ประกอบการขึ้นค่าจ้างแรงงาน ดังนั้นขณะนี้ไม่ใช่เป็นเพียง ของแพงทั้งแผ่นดินแต่ปี 2556 จะเกิดวิกฤติ ของแพงจนแทบไม่มีจะกินตนจึงขอให้รัฐบาลต้องมีมาตรการมาแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าในช่วงครึ่งปีแรก เราคงคาดหวังความสามารถของรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจไม่ได้ จึงขอให้ประชาชนต้องประหยัดมัธยัสถ์ เก็บออม และยึดหลักการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    รายงานข่าวจากผู้ค้าน้ำมันแจ้งว่า ค่ายน้ำมัน ปตท.และบางจาก นำร่องปรับขึ้นราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิด 50 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้นแก๊สโซฮอล์อี 85 ปรับขึ้น 30 สตางค์ต่อลิตร ส่วนดีเซลคงราคาเดิม โดยมีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 4 ม.ค. 2556 โดยราคาใหม่หน้าปั๊มน้ำมันเปลี่ยนแปลงดังนี้
    น้ำมันเบนซิน 91 อยู่ที่ 44.25 บาทต่อลิตร จากราคาเดิม 43.75 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 อยู่ที่ 21.98 บาทต่อลิตร จากราคาเดิม 21.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 20 อยู่ที่ 32.88 บาทต่อลิตร จากราคาเดิม 32.38 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 38.33 บาทต่อลิตร จากราคาเดิม 37.83 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 35.88 บาทต่อลิตร จากราคาเดิม 35.38 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลคงราคาเดิมที่ 29.79 บาทต่อลิตร
    สำหรับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาท เริ่มชัดเจนแล้วในหลายจังหวัด เช่น ที่จังหวัดสระแก้ว นายกรุณา แก้วน้อย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ประกอบกับนโยบายรัฐบาลขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ได้ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการระดับเล็กและระดับกลางในจังหวัดสระแก้วบางส่วนแล้ว ข้อมูลเมื่อ 3 ม.ค. พบว่ามีสถานประกอบการขนาดกลางที่ประกอบธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออก อยู่ อ.เมืองสระแก้ว ได้ปิดกิจการลง ส่งผลให้เลิกจ้างแรงงาน 471 คน จ่ายเงินค่าชดเชยไปกว่า 10 ล้านบาท 
    นอกจากนี้ยังมีโรงงานระดับเล็ก ประกอบธุรกิจประกอบชิ้นส่วนสายไฟรถยนต์ อยู่ อ.วัฒนานคร เลิกจ้างแรงงานบางส่วน จำนวน 207 คน จ่ายเงินค่าชดเชยไปกว่า 3.5 ล้านบาท แล้วยังมีสถานประกอบการขนาดเล็กมีแนวโน้มจะเลิกจ้างแรงงานอีก 1 แห่ง ตั้งอยู่ อ.วัฒนานคร สรุปแล้วขณะนี้เลิกจ้างแรงงานไปแล้ว 691 คน
    ที่จังหวัดบุรีรัมย์ บริษัท นางรองแอพพาเรล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 106 หมู่ 6 ถนนสายโชคชัย-เดชอุดม ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออก ที่มีแรงงานอยู่ทั้งหมดประมาณ 300 คน ได้เลิกจ้างพนักงานแล้วจำนวน 43 คน เช่นเดียวกันบริษัท โรงงานเสื้อผ้าชุมชน ตั้งอยู่เลขที่ 299 หมู่ 3 ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ที่มีแรงงานอยู่กว่า 200 คน ก็ได้เลิกจ้างพนักงานไปแล้วจำนวน 83 คน รวมทั้ง 2 แห่ง มีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างแล้วจำนวน 126 คน โดยทางสถานประกอบการได้ให้เหตุผลว่า การลดจำนวนพนักงานลงในครั้งนี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต จากผลพวงของการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท
    นางนาตญา แสงสกุล นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า หลังจากได้มีการประกาศปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ก็มีโรงงานตัดเย็บ 2 แห่งได้แจ้งขอเลิกจ้างแรงงานไปแล้วจำนวน 120 คน และคาดการณ์ว่าอาจจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    นางนฤมล ขรภูมิ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลกำหนดออกมารองรับไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย จึงทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กอาจจะไม่สามารถรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะใน จ.ระนอง คาดว่าในช่วง 1-2 เดือนนี้จะมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กปิดกิจการไม่ต่ำกว่า 20 ราย ส่วนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ขณะนี้กำลังเร่งปรับโครงสร้างบุคลากรภายในองค์กรใหม่.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น