วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

"เพื่อไทย" แยกกันเดินร่วมกันตี แกะ 3 ปมกาง 4 ขาแก้รัฐธรรมนูญ Prev1 of 2Next updated: 11 ม.ค. 2556 เวลา 14:30:18 น




"เพื่อไทย" แยกกันเดินร่วมกันตี แกะ 3 ปมกาง 4 ขาแก้รัฐธรรมนูญ

Prev
1 of 2
Next
updated: 11 ม.ค. 2556 เวลา 14:30:18 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลายเป็นวาระที่เพื่อไทยต้องถอยและนับหนึ่งใหม่ ทุกจังหวะก้าว

แม้ขึ้นเค้าโครงไว้อย่างแน่นหนา ด้วยระดมนักการเมืองระดับแกนนำจากพรรคร่วมรัฐบาล 11 อรหันต์ ร่วมด้วยแนวร่วมจาก 9 นักวิชาการ ประชุมทุก 7 วัน 14 ครั้ง ใช้เวลาพิจารณา 180 วัน มีพิมพ์เขียวออกมา 50 หน้า เพื่อปลดล็อกคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ นำไปสู่ 3 แนวทาง คือ 1.เดินหน้าลงมติวาระ 3 แล้วแก้ใหม่ทั้งฉบับ 2.ทำประชามติก่อนที่จะมีการลงมติ และ 3.การลงมือแก้รายมาตรา

แต่แล้วทั้ง 3 ทางออกก็กลายเป็นปัญหา เมื่อองคาพยพพรรคเพื่อไทย แบ่งความคิดออกเป็น 4 ขา และต่างคนต่างเดิน

ทางหนึ่งคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีบารมีในพรรคเพื่อไทย ส่งสัญญาณชัดเจนจากทางไกล ให้ทำประชามติ และท้าทายเอาให้ได้ 24 ล้านเสียง (เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง)

ทางหนึ่งคือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และแกนนำพรรคสายก้าวหน้าอย่าง นายจาตุรนต์ ฉายแสง ยืนยันให้เดินหน้าลงมติวาระ 3 ทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภา

ทางหนึ่งคือสายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี ต้องการให้ยื้อเวลา ทั้งทำประชามติ การทำประชาเสวนา ถามความคิดเห็นด้วยรูปแบบต่าง ๆ หลาย ๆ รูปแบบ

ทางหนึ่งคือสายเหยี่ยวแบบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่หัวชนฝา ต้องแก้รายมาตราเท่านั้น

ประกอบกับอาจมีกับดักทางการเมือง ที่นำขึ้นเป็นประเด็นยื่นเรื่องซ้ำให้องค์กรอิสระพิจารณา และแนวต้านที่ก่อตัวทั้งเรื่องปัญหาเขาพระวิหาร อาจบานปลายกลายเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้รัฐบาลอาจสั่นคลอนและจากไปก่อนเวลาอันควร




ดังนั้นในการสัมมนาพรรคเพื่อไทย หลังเปิดสมัยประชุมสภาได้ 1 สัปดาห์ โรงแรมเดอะกรีนเนอร์รี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 6-7 มกราคมที่ผ่านมา จึงพยายามหาทางลง-ทางออกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ร่างแก้ไขยังค้างการลงมติในวาะที่ 3 อยู่ในสภา
และในที่สุดเมื่อทุกทางออกมีปัญหา การซื้อเวลาออกไป จึงกลายเป็นทางออก

แม้การสัมมนาในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญปี 2550 : ปัญหาประเทศ ภาระของคนไทย"-"ภูมิธรรม เวชยชัย" เลขาธิการพรรค ได้จัดนักโต้วาทีอย่าง "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" รมช.พาณิชย์ นักวิชาการอย่าง "วีรพัฒน์ ปริยวงศ์" หรือแม้นักไฮด์ปาร์ก อย่าง "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรี มาร่วมโหมโรงเสนอทางลงพอเป็นพิธี

แต่ทางออกที่ถูกขายล่วงหน้า และแกนนำพรรคส่วนใหญ่ซื้อความคิดให้ยื้อเวลาออกไป ถูกนำเสนอผ่าน นาย "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" รองนายกฯ และ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติ

เมื่อ "พงศ์เทพ" แจ้งให้ ส.ส.พรรคทราบว่า "วันนี้ทุกทางออกคือปัญหา เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีเงื่อนไข ถ้าเราเดินหน้าทันที เราอาจมีปัญหาอีก"

สอดคล้องกับ "ภูมิธรรม" ที่แจ้งมติว่า "คณะทำงานหลายคนเสนอว่า เนื่องจากเรายังไม่ได้ให้ประชาชนรู้อย่างกว้างขวาง และยังไม่ให้หลายส่วนร่วมแก้ไขกันชัดเจน เราอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้คนทั้งสังคมเข้าใจในการหารือส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงเสนอให้คณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ช่วยหาคำตอบ ใช้เวลาศึกษา 45-60 วัน ลงไปศึกษา ทุกมุมมองทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ เพื่อช่วยหาคำตอบให้พรรคเพื่อไทย"

ข้อความของ "ภูมิธรรม" จึงกลายเป็นบทสรุปว่า วาระแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น "วาระค้าง" ที่ยังไม่มีคำตอบ จนทำให้ ส.ส.จำนวนมากเกินความคาใจ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" พูดหลังปิดไมค์สัมมนาว่า

"ได้ข้อสรุปก็เหมือนไม่ได้ข้อสรุป"

ขณะเดียวกัน ส.ส.บางคนก็วิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทยไม่จริงจังกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงหากลวิธีขึ้นมายื้อเวลา เพื่อลดแรงปะทะทางการเมืองรอบด้าน เมื่อรัฐธรรมนูญยังเป็นของร้อน รัฐบาลก็ไม่อยากแตะ เพราะบั่นทอนอายุรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อรัฐบาลมีแนวโน้มอยู่ถึง 8 ปี จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลาใด เมื่อใดก็ได้

ดังนั้นจึงไม่แปลกหากถูกมองว่า การที่คณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติ ของ "พงศ์เทพ"จะใช้วิธีโยนกลับไปให้ 3 สถาบันการศึกษา 45-60 วัน เป็นการยืด และยื้อเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป

แม้ "ภูมิธรรม" จะปฏิเสธว่า "ไม่ได้ยื้อ พรรคเพื่อไทยมีความจริงจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีปัญหาถูกต่อต้าน แค่หายใจก็ผิด แม้จะเชิญนักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ มาให้ความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายคน แต่ทุกคนก็พูดในนามส่วนตัว ดังนั้นจึงอยากให้สถาบันการศึกษาไปช่วยกันหาคำตอบให้กับประเทศว่า พรรคเพื่อไทยควรทำอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

"เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไร เราก็เอาตามนั้น ยืนยันว่าเราไม่ได้ยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น"

จากนี้ไป ทั้ง "พงศ์เทพ-ภูมิธรรม" และนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.สายเสื้อแดง
จะแยกย้ายกันไปลงมือ แบบแยกกันเดิม ร่วมกันตีทางหนึ่ง นายวราเทพและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นัดหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งทันทีเรื่องทำประชามติ

ทางหนึ่ง นายพงศ์เทพ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะร่วมประชุมกับทั้ง 3 สถาบัน เพื่อกำหนดประเด็นให้ 3 มหาวิทยาลัย สำรวจปัญหาและความต้องการของประชาชน โดยไม่จำกัดรูปแบบ จะทำการสำรวจ ทำโพล ทำวิจัยเจาะลึก หรือทำโฟกัสกรุ๊ป ก็ได้

ทางหนึ่ง "นายจตุพร พรหมพันธุ์" และ "ธิดา ถาวรเศรษฐ" แกนนำเสื้อแดง เตรียมยื่น 2 ข้อถามศาลรัฐธรรมนูญ คือ 1.ในคำวินิจฉัยให้ทำประชามติก่อนโหวตวาะที่ 3 หรือไม่ 2.ได้สั่งห้ามไม่ให้โหวตวาระที่ 3 หรือไม่

ทางหนึ่งให้ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินหน้าทำประชาเสวนา และทำประชามติ พร้อมการสรรหาคณะกรรมการ ส.ส.ร. ตามคำแนะนำในพิมพ์เขียวของ 11 อรหันต์พรรคร่วมรัฐบาลทุกขา ทุกทางต่างเล็งผลเลิศ

นำความเห็นของประชาชนมาเป็น "พิมพ์เขียว" ในการสนับสนุนการเดินหน้าล้างรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ อันเป็นผลพวงจากรัฐประหารให้ได้

อย่างไรก็ตามเมื่อทวนเข็มนาฬิกา ย้อนดูตั้งแต่พรรคเพื่อไทยผนึกพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค ผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550

จะเห็นว่าทุกจังหวะก้าวล้วนมีแต่ปัญหา นับแต่วันยื่นร่างแก้ไขให้ ประธานรัฐสภา บรรจุเป็นวาระเข้าสู่การพิจารณาของสภา

นับจากวันนั้น กลเกมในสภาก็ดุเดือดเพราะพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งป้อมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และห้ามแตะมาตรา 309 อันเป็นมาตรานิรโทษกรรมคณะปฏิวัติ เพราะอาจเข้าข่ายล่างผิดให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี

แต่ในวันที่ 25 ก.พ. 2555 การประชุมร่วมรัฐสภาก็มีมติรับหลักการร่างการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ด้วยคะแนน 399 เสียง ต่อ 199 เสียง งดออกเสียง 14 จากสมาชิกรัฐสภา 648 คน พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน มีสมาชิกทุกขั้ว-ทุกพรรค ร่วมเป็นกรรมาธิการ ตัวอักษรทุกวรรค ทุกย่อหน้า ที่ปรากฏอยู่บนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกนำมาถก-เถียง จนถึงขั้นแจกใบแดง-ไล่กรรมาธิการบางคนออกจากห้องประชุม

ประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์นำไปขยายผลต่อเนื่อง หลังจากการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้มี ส.ส.ร. เป็นผู้ยกร่าง เท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านชั้นกรรมาธิการด้วยเสียงข้างมาก และผ่านการพิจารณาวาระที่ 2 แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่สามารถนำพาไปสู่การลงมติวาระ 3 ได้

เพราะผลจากการยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี ส.ส.ร.นั้น ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง แต่ศาลกลับให้คำแนะนำว่าถ้าจะแก้ไขทั้งฉบับก็ควรทำประชามติถามประชาชนก่อน


จนพรรคร่วมรัฐบาลต้องแก้ปัญหา ด้วยการตั้งคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล 11 คน โดยบทสรุปของคณะทำงานคือ ไฟเขียวให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อไปได้ แต่หากรัฐบาลต้องการลดแรงเสียดทานทางการเมือง ก็สามารถทำประชามติถามความเห็นของประชาชนก่อนได้เช่นกัน

จากนั้นรัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าทำประชามติ พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติ ที่มี "พงศ์เทพ" เป็นประธาน

กระทั่งมติล่าสุดจากการสัมมนาพรรคเพื่อไทย ให้ย้อนเวลากลับไปนับหนึ่งใหม่...อีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น