วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

ไชยวัฒน์นำเดินสายยื่นชื่อค้าน'ศาลโลก''บิ๊กตู่'ชี้2ปมต้องทำ เมื่อ 22 ม.ค.56



ไชยวัฒน์นำเดินสายยื่นชื่อค้าน'ศาลโลก''บิ๊กตู่'ชี้2ปมต้องทำ


          กลุ่มแนวร่วมคนไทยฯชุมนุมลานพระบรมรูป เคลื่อนขบวนยื่นหนังสือต่อสำนักงานยูเอ็น กองทัพบก และศาลฎีกา ขอให้ยับยั้งปัญหาพระวิหาร
          ชุมนุมยื่นต้านศาลโลก
          เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 มกราคม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กรุงเทพฯ กลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติ รักษาแผ่นดิน นำโดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์, นายสมบูรณ์ ทองบุราณ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ได้ชุมนุมเพื่อประท้วงคัดค้านอำนาจของศาลโลก ในการตีความเรื่องข้อพิพาทของพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินเท้าไปยังสหประชาชาติประจำประเทศไทย, กองบัญชาการกองทัพบก และศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือขอให้ใช้อำนาจหน้าที่หยุดยั้งไม่ให้นักการเมืองในรัฐบาลและรัฐสภาสมคบกัน ยกดินแดนแห่งราชอาณาจักรไทยให้กับประเทศกัมพูชา
          นายไชยวัฒน์กล่าวว่า การชุมนุมและเดินขบวนเพื่อยื่นหนังสือกับหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าว รวมถึงรายชื่อของประชาชนชาวไทยที่ปฏิเสธอำนาจศาลโลก รัฐบาลและนักการเมืองใช้อำนาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ไม่ชอบโดยทุจริต ซึ่งขณะนี้มีรายชื่อที่รวบรวมถึง 1,249,773 คนแล้วที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน
          "การยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชนต่อเลขาธิการสหประชาชาติ และตุลาการศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ก็เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยความชอบธรรมและกฎหมาย ตลอดจนเจตจำนงในการก่อตั้งสหประชาชาติในการรักษาและพิทักษ์ไว้ซึ่งสันติภาพชาวโลก ด้วยการเพิกถอนและยุติการกระทำทั้งปวงของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เกี่ยวกับอธิปไตย ดินแดน บูรณภาพและผลประโยชน์แห่งชาติของราชอาณาจักรไทยโดยพลัน" นายไชยวัฒน์กล่าว
          นายไชยวัฒน์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยจะไม่ยอมรับโมฆกรรมใดๆ ที่กระทำโดยรัฐบาล และ รัฐบาลไม่ควรดันทุรังสู้คดีต่อ หากทราบดีว่าจะแพ้คดีปราสาทพระวิหาร อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติฯ ยืนยันจะให้ศาลโลกจำหน่ายคดีออกให้ได้
          'บช.น.'แจงม็อบปกติ
          ขณะที่ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. เปิดเผยว่า การนัดรวมตัวของกลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติฯ เมื่อวันที่ 19 และ 20 มกราคม ที่สนามม้านางเลิ้งที่ผ่านมานั้น มีคนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน ส่วนการชุมนุมในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าด้านติดกับสนามเสือป่า จากการตรวจสอบเมื่อเวลา 09.00 น. ทราบว่ามีคนมารวมตัวกันประมาณ 200 คน โดยทางกลุ่มแนวร่วมได้ใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับเรื่องเขาพระวิหาร จากนั้นเดินทางไปที่กองบัญชาการกองทัพบก สหประชาชาติประจำประเทศไทย และศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือเรื่องเขาพระวิหาร และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็จะแยกย้ายกันไปตามปกติ
          "การชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 แต่กลุ่มผู้ชุมนุมควรปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด บช.น.ได้จัดเตรียมกำลังจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ไว้คอยดูแลความเรียบร้อยของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมเป็นต้นมา จนกระทั่งขณะนี้เหตุการณ์เป็นปกติ ไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่เรียบร้อยแต่อย่างใด" พล.ต.ต.อดุลย์กล่าว
          พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ทางตำรวจได้ติดตามสถานการณ์ชุมนุมดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา จากรายงานล่าสุดไม่น่าจะเกิดเหตุหรือสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ทั้งนี้ ทางตำรวจสันติบาลได้รายงานจำนวนผู้ชุมนุมว่ามีประมาณ 2,000 คน จึงเชื่อว่าการชุมนุมจะจบลงภายในวันเดียวกันนี้ จะไม่ยืดเยื้อ
          'บิ๊กโอ๋'ลั่นสู้คดีเต็มที่
          ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.อุตรดิตถ์ ว่าการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติฯเป็นสิทธิที่จะแสดงออกได้ แต่ต้องคุยกันในประเด็นที่สงสัย รัฐบาลพร้อมจะชี้แจง สำหรับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลถอนตัวออกจากการเป็นภาคีศาลโลกนั้น คงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพร้อมรับฟังและจะต่อสู้คดีในศาลโลกให้ดีที่สุด ทุกคนล้วนมีจุดหมายเดียวกัน คือไม่ต้องการเสียดินแดน ไม่รู้สึกกังวลกับการชุมนุม เพราะทางกัมพูชาเข้าใจว่าประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยสูง หรือจะมากไปหน่อย ทางกองทัพและกัมพูชาก็เข้าใจกัน ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่ามีความหนักแน่น มั่นคง และพร้อมจะรับฟัง แต่จะต้องตัดสินใจให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องและต้องทำตามคำตัดสินของศาลโลก ดังนั้น ขออย่านำเรื่องนี้มาโยงให้เป็นเรื่องอื่น
          นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าในการตั้งทีมโฆษกร่วมระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงกลาโหม เพื่อชี้แจงกรณีปราสาทพระวิหารว่า ในเบื้องต้นทั้งสองกระทรวงได้มีการทำหนังสือแจ้งให้ทราบแล้วว่า ผู้ที่รับหน้าที่โฆษกของแต่ละกระทรวงคือใคร ส่วนรายละเอียดของการทำงานนั้น จะถือโอกาสที่นายกรัฐมนตรีหารือกับทีมกฎหมายของไทยในวันที่ 25 มกราคมนี้ เพื่อพูดคุยกันต่อไป
          'เต้น'แนะใช้วิธีการทูต
          นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติฯ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป เชื่อว่าต้องการแสดงความเห็นทางการเมือง โดยไม่มีเจตนาสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวาย แต่ที่เป็นห่วงคือ ไม่น่าหยิบยกประเด็นเขาพระวิหารมาโจมตี หรือเป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อกดดันรัฐบาล ควรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่หน่วยงานของ รัฐ ด้วยวิธีทางการทูต และกลไกทางกฎหมาย อย่างดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบานปลายจนเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ จนเกิดความเสียหาย
          ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่ม นปช.จะดำเนินการอย่างไร หากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจากการชุมนุมดังกล่าว นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เชื่อว่าคงไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เพราะไม่มีการเผชิญหน้ากันของกลุ่มอื่น หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐไปเคลื่อนไหวกดดัน แต่ถ้าผู้ชุมนุมก่อเหตุขึ้นมาเอง เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
          'บิ๊กตู่'ชี้รอดูผลตัดสิน
          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม คนไทยรักชาติฯว่า ก็ชุมนุมกันไป ประชาชนทุกคนคงรักชาติ แต่อยากให้รักอย่างถูกต้อง ซึ่งมีกฎกติกาอยู่ ปัญหาคือเขายังไม่เข้าใจ และคงจะไปห้ามไม่ได้ เพราะจะถูกตำหนิว่าไม่รักชาติ นอกจากนี้ เป็นสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้ แต่อย่าให้เกิดความรุนแรง และอย่าให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย หรือให้ใครนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่น โดยอย่านำไปเป็นคดีการเมืองต่อไป ทั้งนี้ ต้องแยกเป็น 2 เรื่อง คือกระบวนการของศาลโลก ซึ่งเขามีสิทธิไปฟ้องต่อศาล ต้องรอคำตัดสินว่าจะออกมาอย่างไร จะเข้าข่ายว่าเป็นคดีเก่าที่เกี่ยวข้องกับอาณาเขต เส้น vicinity หรือไม่ และศาลจะรับพิจารณาหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของศาล หากรับแล้วจะตัดสินอย่างไรก็ต้องต่อสู้กันตามกระบวนการ ขณะนี้ทุกคนร่วมกันต่อสู้ จะชนะหรือแพ้ก็ต้องรอฟัง จากนั้นต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป บางอย่างพูดไม่ได้เลยในวันนี้ อีกเรื่องคือมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ที่มีผลกระทบกับตนและทหาร โดยมาตรการดังกล่าวเกิดจากการละเมิดข้อ 5 ของข้อตกลงปี พ.ศ.2543 ที่ระบุว่าพื้นใดที่มีปัญหาในสองประเทศ ต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยไม่มีการดัดแปลงก่อสร้าง แต่เมื่อมีฝ่ายใดละเมิดก็มีการประท้วง ที่ผ่านมาประท้วงกันไปหลายสิบครั้งแล้วก็รบกัน ซึ่งเอ็มโอยูฉบับนี้ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นเขตแดน
          ถ้าตัดสินใจต้อง'รบ'ก็'รบ'
          เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการอยู่ เมื่อจบเรื่องคำพิพากษาของศาลโลก จะได้มาคิดและวางแผนร่วมกัน ประเด็นสำคัญคืออยากให้มีการพูดคุยกันสองประเทศแบบทวิภาคีมากกว่า ที่มาบอกว่าเราไปยอมรับ ความจริงเราไม่ได้ยอมรับ เพราะมาตราส่วนตามแผนที่ต่างคนต่างก็ถือไป สำคัญคือจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และถ้าจะอยู่กันก็ต้องไม่ละเมิดกติกา ขณะนี้มี 2 ส่วน คือ รอคำพิพากษาของศาลโลก และการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่ออกมา เพราะมีการปะทะกันระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2554 ซึ่งรบกันแรงพอสมควร เพราะฉะนั้น ถ้าหลีกเลี่ยงการรบกันได้ก็ดี แต่ทหารพร้อมอยู่แล้วทุกเรื่อง แต่ท้ายสุดถ้าจะรบกันจะบานปลายหรือไม่ เป็นเรื่องที่พวกเราต้องตัดสินใจกัน เพราะเราพร้อมรบทุกอย่าง ถ้าตัดสินใจว่ารบ ก็คือรบ แต่ผมว่ามีกติกาอยู่ ต้องรอให้ชัดเจนก่อน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
          ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการเตรียมพร้อมหรือไม่ หากศาลโลกตัดสินว่าพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นของประเทศกัมพูชา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า พร้อมมาตลอด ทหารพร้อมหมดแล้ว แต่คาดหวังว่าจะไม่ตัดสินออกมาอย่างนั้น เพราะจะเป็นปัญหา ซึ่งไม่รู้ว่าจะตัดสินด้วยอะไร แล้วต้องปฏิบัติตามหรือไม่ ต้องไปว่ากัน รัฐบาลต้องเรียกฝ่ายความมั่นคงมาพูดคุยกันว่า จะทำอย่างไร อยากให้ทุกคนร่วมกันคิดร่วมกันทำ และอย่ามากล่าวหาว่าตนเลือกข้าง
          สมช.หวั่นกระทบชายแดน
          พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภา ความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ไม่ได้มีรายงานถึงเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติฯ ต่อที่ประชุม ครม. แต่จาก การติดตามสถานการณ์เห็นว่ากลุ่มแนวร่วมได้ มีการไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อหน่วยงาน ต่างๆ ตามที่ประสงค์ไว้ ส่วนคนที่ร่วมชุมนุม ยังมีไม่มาก 200-300 คน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ประเมินไว้ อีกทั้งยังไม่มีรายงานเข้ามาว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อ
          ผู้สื่อข่าวถามว่า จะยังมีการนำประเด็นปราสาทพระวิหารไปก่อการชุมนุมหรือเคลื่อนไหวต่อไปอีกหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า คงยังมีการกระทำเช่นนี้อยู่ ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงรู้สึกกังวลว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ตามแนวชายแดน ขณะนี้ถือว่าอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ และ ผบ.ทบ.ก็ยืนยันว่ายังไม่มีอะไรที่น่ากังวล และยังไม่มีการเพิ่มกำลังทหารตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
          ติดป้ายค้านที่ศรีสะเกษ
          เมื่อเวลา 16.30 น. วันเดียวกัน ที่บริเวณสี่แยกเมืองทอง ศาลหลักเมืองกันทรลักษ์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายกิตติศักดิ์ พ้นภัย หัวหน้ากลุ่มกำลังแผ่นดิน พร้อมสมาชิกกลุ่ม นำป้ายผ้าขนาดใหญ่มาติดไว้โดยมีข้อความ ไม่ยอมรับขอบเขตอำนาจศาลโลก
          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่จุดชุมนุมของกลุ่มธรรมยาตรากอบกู้ผืนแผ่นดินไทย บ้านโศกขามป้อม ต.ภูผาหมอก อ.กันทรลักษ์ ปรากฏว่ามีเพียงนายผัน กิจแสง อายุ 78 ปี อยู่เฝ้าสถานที่ชุมนุมตามลำพัง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บึงมะลู ผลัดเปลี่ยนกันมาเฝ้ารักษาความปลอดภัย
--จบ--
          --มติชน ฉบับวันที่ 23 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น