วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

'ปู'รับห่วงประชามติ เมื่อ ๒๑ ธ.ค.๕๕


พระไทยในอินเดียอวยพร นายกฯนั่งในหัวใจคนไทย
          “ยิ่งลักษณ์” ยอมรับห่วงจำนวนเสียงประชามติ แต่หวังให้เป็นทางออกที่ลงตัวได้ “ขุนค้อน” ชมนายกฯไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า แต่ฟันธงเป็นไปได้ยากที่คนจะออกมาใช้สิทธิเกินครึ่งแนะถ้าประชามติไม่ผ่านให้ยื่นแก้ไขรายมาตรา แต่ถ้าผ่านให้โหวตวาระ 3 ต้นเดือน ส.ค.56 “เหลิม” ตอกย้ำฝืนลุยต่อก็เหนื่อยเปล่า “อภิสิทธิ์” สอนรัฐบาลตั้งหลักใหม่ แนะทุกพรรคร่วมถกหาทางออก ต้องเลิกคิดช่วยล้างผิดให้ “นายใหญ่” ศาลอาญามีคำสั่งคดีไต่สวนชันสูตรศพเด็กชายวัย 14 ที่ตายในช่วงเหตุการณ์กระชับพื้นที่ม็อบเสื้อแดง ระบุเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืนจากปืนของทหาร “ก่อแก้ว” ได้เฮศาลออกหมายปล่อยตัวมีผลวันที่ 21 ธ.ค. อนุญาตให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แต่ต้องกลับมาติดคุกอีกหลังปิดสมัยประชุมสภา
          หลังจากที่ประชุม ครม.ชะลอการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติเพื่อให้เกิดความรอบคอบก่อน ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ท้วงติงว่าการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญมีโอกาสยากมากที่จะผ่านความเห็นชอบ เพราะจะต้องรณรงค์ให้ได้เสียงประมาณ 25 ล้านเสียง ล่าสุด นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมาฟันธงว่าเป็นไปได้ยากที่จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิลงประชามติเกินครึ่ง
          “ปู” รับห่วงจำนวนเสียงประชามติ
          เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 20 ธ.ค. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้ เพราะช่วงนี้มติ ครม. ยังให้คณะทำงานเข้าไปศึกษารายละเอียดอยู่ เพราะแต่ละวิธีการมีขั้นตอนรายละเอียด คงต้องไปทำความเข้าใจ และระยะเวลาในการทำงาน ตรงนี้ยังไม่เป็นข้อสรุป แต่มีหลายทางออก สำหรับตนทางออกอะไรที่ดีที่สุดและเป็นทางออกที่สามารถจะลงตัวได้ ก็คงต้องรอผลจากคณะกรรมการก่อน ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นห่วงเรื่องจำนวนเสียงสนับสนุนในการทำประชามติหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า จริงๆแล้วเรามองว่าจำนวนเสียงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของข้อห่วงใย อย่างไร
          ก็ตาม จำนวนเสียงต้องนำมาถึงข้อสรุปมากกว่า
          โยนสภาตัดสินเรื่องโหวต
          ต่อข้อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิมมีข้อเสนอแนะอะไรในเรื่องของการทำประชามติมาถึงนายกฯหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า วันนี้มีหลายๆความเห็นซึ่งต้องแยก แต่ภาคการมีส่วนร่วมคือหน้าที่รัฐบาล ส่วนขั้นตอนเรื่องของการโหวตเป็นเรื่องของรัฐสภาที่ต้องคุยกันว่าจะโหวตกันอย่างไร จะเดินหน้าต่อหรือจะโหวตรายมาตรา หรือจะเป็นวิธีไหน แต่ในส่วนของรัฐบาลนั้นจะทำหน้าที่ในการที่จะช่วยเสริมในการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วแสดงออก และเป็นทางออกที่เป็นสันติ เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยมากกว่า เมื่อถามอีกว่า มีกระแสวิจารณ์ว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับยากเหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า “ไม่ค่ะ ก็แล้วแต่ ก็เรียกว่าเป็นข้อเสนอและข้อคิดเห็น คงต้องให้คณะกรรมการทำงานก่อน” เมื่อถามว่า แนวโน้มการทำประชามติจะยืดเวลาออกไปหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า เรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญไม่ว่าวิธีไหนต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าเสร็จวันเดียว
          “ขุนค้อน” เห็นด้วยทำประชามติ
          เมื่อเวลา 11.20 น. ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวบรรยายเรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยกับรัฐสภาในปี 2556” ในงานเลี้ยงสังสรรค์สัมพันธ์สื่อมวลชนว่า ช่วงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานรัฐสภา การที่จะพูดอะไรก็เป็นประเด็นการเมือง แต่ช่วงหลังตนลดบทบาทตัวเองลงเพื่อลดกระแสต่างๆ ลดความหมั่นไส้ของผู้คนโดยเฉพาะสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งสถานการณ์การเมืองช่วงหลังเริ่มเข้าที่เข้าทาง จึงไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมาก เท่าที่ติดตามการเมืองทิศทางไปได้ดี โดยเฉพาะกรณีที่นายกฯให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะทำประชามติหรือประชาเสวนา การประชุม ครม.ก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา ไม่เกิน 1 เดือนจะมีหลักการว่าแนวโน้มทำประชามติกับประชาเสวนาควบคู่กัน แปลว่าไม่เร่งด่วนและเป็นทางออกที่ดี เห็นด้วยกับแนวทางนายกฯที่ไม่เลือกวิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่าหรือรวบรัด แต่ฟังเสียงประชาชน ดึงประชาชนมาตัดสิน
          ชี้คนใช้สิทธิถึงครึ่งเป็นไปได้ยาก
          นายสมศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่หลายคนห่วงคือเสียงผู้ที่จะมาใช้สิทธิถึงครึ่งหรือไม่ ซึ่งผู้มาใช้สิทธิต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือประมาณ 23-24 ล้านเสียง ถ้าถามว่าเป็นไปได้ยากหรือไม่ ขอตอบตรงๆว่ายาก โอกาสทำประชามติจะถึงครึ่งหนึ่งไม่ง่าย เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมามีผู้ใช้สิทธิเพียง 70% ผู้ที่ชอบรัฐบาลคะแนนไม่ถึง 50% ถ้าคนไม่ชอบรัฐบาลไม่ออกเสียง โอกาสที่จะทำให้คะแนนถึง 50% เป็นไปได้ยาก แต่ต้องทำ เพราะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
          แนะยื่นแก้ไขรายมาตรา
          นายสมศักดิ์กล่าวว่า ถ้าเลวร้ายที่สุดประชาชนมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ค่อยเสนอใหม่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ผลออกมาอย่างไรก็เป็นข้อสรุปของประชาชนทั่วประเทศที่ต้องยอมรับ หากไม่ยอมรับก็เรียกว่าอันธพาลแล้ว อย่างไรก็ตาม ทางออกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ที่ค้างอยู่ในสภา มี 2 แนวทางคือ 1.ทำประชามติก่อนและหลังแก้รัฐธรรมนูญ หรือให้โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นไปไม่ได้ 2.การยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วทำประชามติ
          แต่ถ้าผ่านจะโหวตวาระ 3 เดือน ส.ค.
          “ผมเคยให้สัมภาษณ์ตั้งข้อสังเกตว่ามีถนนคอนกรีตให้วิ่งแต่ไม่วิ่ง จะไปวิ่งถนนลูกรัง คือการไม่ทำประชามติและลงมติวาระ 3 เลย แต่ปัญหาไม่จบ เพราะจะมีผู้ไปยื่นให้ตีความตามมาตรา 68 ก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง จะใช้เวลาตัดสินอีก 2-3 เดือน รวม 6-7 เดือน ถ้าลงประชามติจะรู้เลยว่าใช้เวลา 5 เดือนปัญหาก็จบ ทางออกประเทศไทยตอนนี้เดินมาถูกทาง ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯผมตอบแทนไม่ได้ว่าจะทำอย่างไร เพราะเป็นแค่บุรุษไปรษณีย์ แต่เชื่อว่ารัฐบาลรู้จะเดินอย่างไร ตัวชี้วัดคือทางออกของประเทศไทยเรื่องรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นายกฯคิดไม่ต่างกับทางออกเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายสมศักดิ์กล่าวและว่า ผู้ที่จะทำกระบวนการทำประชามติในขั้นตอนให้ความรู้ ควรให้ฝ่ายวิชาการที่มีภาพกลางๆเป็นเจ้าภาพ ระยะเวลา 1 เดือนของคณะทำงานศึกษาแนวทางประชามติ ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีเวลาทำประชามติ 4 เดือน แต่ปัญหาอาจจะไม่จบ เพราะจะมีคนคัดค้าน รวมแล้วจะใช้เวลา 6 เดือน หรืออาจจะจบในเดือน มิ.ย.ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา แต่เรื่องประชามติที่จะจบประมาณเดือน มิ.ย.นั้น สมัยประชุมสภาต่อไปวันที่ 2 ส.ค. จึงมีช่องว่าง 1 เดือนเศษ หากไม่มีปัญหาอะไรแทรกซ้อน การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 น่าจะทำได้ในวันศุกร์แรกของเดือน ส.ค.
          “เฉลิม” ย้ำฝืนลุยต่อก็เหนื่อยเปล่า
          ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะพูดไป 3 วันแล้ว ไว้ไปหารือในพรรคเพื่อไทยทีเดียวในวันที่ 25 ธ.ค. เพราะจะต้องถูกถามอย่างแน่นอน เตรียมอธิบายไว้เรียบร้อยแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีเสียงเห็นด้วยให้แก้ไขเป็นรายมาตราจากทั้งประธานสภาฯ และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย จะเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมตอบว่า ในพรรคคุยกันรู้เรื่อง ไม่มีอะไรหรอก เพียงแต่คนเก่งเยอะก็พูดกันไป ส่วนตัวคิดว่าอะไรที่ทำแล้วสำเร็จควรทำ หากทำแล้วรู้ว่าไม่สำเร็จเดี๋ยวจะเกิดปัญหา ทำให้เสียเวลาการทำงานเปล่าๆ ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงมีแนวคิดว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 9 ประเด็น กำลังสรุปอยู่ว่าจะต้องแก้ไขกี่มาตรา แนวคิดคือการแก้ไขรายมาตรา ไม่ต้องตั้ง ส.ส.ร. ไม่ต้องทำประชามติ ไม่มีการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ โครงสร้างและความเข้มขององค์กรอิสระยังเหมือนเดิม อย่างนี้ทุกภาคส่วนสบายใจ ไม่ต้องไปทะเลาะเบาะแว้งกัน
          ยก 5 เหตุผลคนไม่ออกมาใช้สิทธิ
          ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า เรื่องการทำประชามติบางคนไปรีบพูด ดังนั้น ขออธิบายให้ฟังว่า 1.การใช้สิทธิอย่างนี้คนไม่มาใช้สิทธิก็ไม่เสียสิทธิ 2.ไม่มีการกระตุ้นเตือน เพราะไม่ใช่การสมัคร ส.ส. 3.ไม่มีการลงคะแนนล่วงหน้า คนก็ไม่มาใช้สิทธิ อยู่กรุงเทพฯ ไม่กลับบ้าน 4.เรื่องนี้เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งประชาชนอยากเห็นรัฐบาลเปลี่ยนแปลง 5.เรื่องรัฐธรรมนูญคนส่วนหนึ่งมองเป็นเรื่องไกลตัว องค์ประกอบทั้งหมดนี้มาคิดดูแล้วจะได้หรือ 24.6 ล้านเสียงหรือ เรื่องนี้จะเอาไปคุยกันคนในพรรค เมื่อถามว่า การจูงใจให้คนมาลงประชามติถือเป็นเรื่องยากและเหนื่อยมากใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ใช่ มันเป็นเรื่องของจิตใจ ขอย้ำไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะมันแพ้ ทะเลาะกัน ปั่นป่วนบ้านเมือง
          “นิคม” ชี้รัฐบาลรณรงค์คนใช้สิทธิได้
          นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า เห็นด้วยกับแนวทางการทำประชามติ เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะลดความขัดแย้งได้ ถ้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะมีพรรคการเมืองหรือบางกลุ่มออกมาคัดค้านและยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอีก ส่วนการแก้ไขเป็นรายมาตราที่ดูง่ายแต่ที่จริงมันยาก เพราะถ้าแก้ 1 มาตราพรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือ ส.ว.บางกลุ่มไม่เห็นด้วย หากรวมกันมี 180 คน แปรญัตติทุกคน ใช้เวลายาวนานมาก ทางเดินมีแต่ขวากหนามทั้งนั้น ทุกทางยากทั้งหมด แนวทางที่ขัดแย้งน้อยสุดคือโยนอำนาจคืนให้กับประชาชน แม้จะไม่ผ่านการทำประชามติ แต่ก็ทำให้รู้ ซึ่งรัฐบาลมีกลไกเครื่องมือเยอะน่าจะรณรงค์ และอาจเป็นโอกาสดีให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลที่แท้จริง ทำให้ความขัดแย้งลดลงได้ด้วย ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำประชามติให้ผ่าน เพราะเมื่อปี 2540 ช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตสาทร เคยช่วยทำประชามติ ประชาพิจารณ์ที่เขตทำให้ แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ขอร้องประชาชนบอกให้มาลงประชามติให้ผ่านไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขทีหลัง อย่างไรก็ตาม การทำเวทีสานเสวนาของกระทรวงมหาดไทย 108 เวทีคู่ขนานการทำประชามติของรัฐบาลนั้น มองว่าเป็นการชี้นำ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องให้ข่าวสารข้อมูลต่อประชาชนว่าจะทำเรื่องอะไรบ้าง
          ปชป.ยันไม่ป่วนประชามติ
          นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลยืดเวลาการทำประชามติออกไป โดยอ้างว่าหากเร่งรีบจะไม่ราบรื่นและมีเหตุวุ่นวายว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ทำอะไรให้เกิดความวุ่นวายในการทำประชามติแน่นอน และพร้อมเข้าร่วมการทำประชามติที่รัฐบาลจะทำ ไม่ว่าวันนี้หรือเมื่อไหร่ โดยจะเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนในกรอบของกฎหมายกำหนด และย้ำว่าไม่ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์จากการนี้ ส่วนกรณีที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ระบุว่าการไม่ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น ขอชี้แจงว่าการจะใช้สิทธิในการทำประชามติหรือไม่ ถือเป็นสิทธิของบุคคล และเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าการลงประชามติเป็นหน้าที่พลเมืองเหมือนกับการเลือกตั้ง
          ห่วงซิกแซ็กใช้อำนาจรัฐชี้นำ
          นายองอาจกล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับของพรรคเพื่อไทย มีนัยแฝงเร้น จึงคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และจะติดตามว่าการดำเนินการของคณะทำงานในส่วนของรัฐบาลจะออกแบบประชามติอย่างไร หรือยังประสงค์จะทำประชามติต่อไปหรือไม่ ยอมรับว่าเราวิตกกังวลในเรื่องนี้ว่าจะมีการใช้อำนาจรัฐเข้าไปชี้นำการทำประชามติ ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เพียงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาล จึงต้องดูว่าจะดำเนินการในสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร
          “มาร์ค” สอนรัฐบาลตั้งหลักใหม่
          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขอย้ำถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย หรือปรับปรุงระบบ ยังมีหลายวิธี แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่จนเกิดความสับสนวุ่นวายเพราะไปผูกติดกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าตั้งหลักใหม่คุยกันระหว่างพรรค การเมืองและภาคประชาชนว่าจะปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อส่วนรวม เชื่อว่าจะเดินหน้าได้ง่ายกว่า โดยเลิกแนวคิดเดิมที่จะรื้อทั้งฉบับก่อน เพราะมีฐานอยู่แล้ว เคยมีการศึกษาไว้ทั้งของวุฒิสภาและคณะกรรมการหลายชุดว่ามีมาตราไหนที่เป็นปัญหา จะนำมาเป็นตัวตั้งก็ทำได้ เบื้องต้นต้องพูดเรื่องจริงก่อนว่าถ้ายังไม่หยุดเรื่องพยายามจะล้างผิด ถึงอย่างไรก็สับสนและวุ่นวาย ให้หยุดก่อนทุกอย่างจะคุยได้ง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้นไม่จบ เหมือนกับกฎหมายล้างผิดที่เสนออยู่ในขณะนี้ อ้างว่ารัฐบาลไม่เกี่ยว แต่แท้จริงแล้วสภาคือเสียงข้างมากคือผู้สนับสนุนรัฐบาล นายกฯเป็นผู้กำหนดได้ จะโยนความรับผิดชอบให้สภาไม่ได้
          แนะทุกพรรคร่วมถกหาทางออก
          นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การนำประชามติมาเป็นเครื่องมือแก้ไขความขัดแย้งทางความคิดสามารถทำได้ แต่คำถามต้องชัด รวมถึงเป้าหมายทำแล้วนำไปสู่อะไร ฉะนั้นถ้ายังไม่ชัดเจนเช่นอ้างว่าจะแก้เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่พ่วงเรื่องล้มคดี อย่างนี้ไม่มีทางรู้คำตอบที่ได้มาว่าตอบเรื่องอะไร เพราะถ้าถามตนว่ารัฐธรรมนูญควรแก้ไขหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าควรแก้ และเคยแก้แล้ว 2 มาตรา ถ้าถามว่าเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ส่วนตัวเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมบางเรื่องเช่น การชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมล้างผิดให้คนโกง “ที่แปลกคือฝ่ายผมเป็นคนบอกว่าไม่ควรล้างผิดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตายของประชาชนในปี 2553 แต่พรรคเพื่อไทยกลับเสนอกฎหมายให้มีการล้างผิดตรงนี้ ความสับสนที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีการนำประโยชน์ของคนบางคนมาเป็นตัวกำหนด ทำให้เกิดการโต้แย้งตลอดเวลา ถ้าหยุดตรงนี้ได้บ้านเมืองก็เดินได้ และผมเห็นด้วยหากทุกพรรค การเมืองจะหารือร่วมกันเพื่อหาทางออก แต่ที่ผ่านมาเมื่อมีการหารือก็ไม่ได้มีการดำเนินการตามที่มีข้อยุติ จึงอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจน ผมย้ำว่าถ้าสลัดก้าวข้ามคดี พ.ต.ท.ทักษิณไปได้ บ้านเมืองเดินได้ ไม่มีปัญหา”
          ไล่บี้ “ปลอดประสพ” แสดงสปิริต
          นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ถูกอัยการยื่นฟ้องศาลอาญากรณีอนุญาตให้ส่งเสือโคร่งเบงกอลไปจีนในสมัยเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ว่า หากคดีนี้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามกฎหมายผู้ถูกฟ้องต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว ดังนั้น นายปลอดประสพควรแสดงความสปิริต ถ้าไม่ทำ นายกรัฐมนตรีต้องจัดการ ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไว้วางใจในความสุจริตให้ดูแลงบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทได้อย่างไร ตนกำลังดูข้อกฎหมายก่อนที่จะส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถดำเนินการได้หรือไม่
          “พงศพัศ” ขอคุยนายกฯชิงผู้ว่าฯ กทม.
          พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. และเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงความชัดเจนในการตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคเพื่อไทยว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่มีมติออกมาว่าจะส่งใคร แต่ส่วนตัวเคยยืนยันไปหลายครั้งแล้วว่า แม้พรรคเพื่อไทยมีมติเลือกตนลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็เป็นเรื่องที่ตนต้องพิจารณา เพราะวันนี้ยังเป็นข้าราชการตำรวจ และทำหน้าที่เลขาธิการ ป.ป.ส.ด้วย คงต้องพิจารณาว่าจะทำอะไรที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในส่วนไหน จะเป็นตำรวจต่อไปหรือลาออกไปสมัครตามที่พรรคมีมติ ก่อนจะตัดสินใจคงต้องพูดคุยกันหลายฝ่าย โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ต้องกราบเรียนถามท่านเรื่องความจริงใจ เรื่องของความคาดหวังอะไรต่างๆว่าจะทำอะไรให้คน กทม.ได้มากน้อยอย่างไร เพราะคนที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ไม่สามารถทำงานได้โดยลำพังหากขาดการช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง หากรัฐบาลไม่ลงมาดูแลช่วยเหลือ ไม่ทุ่มเททรัพยากรและงบประมาณ การพัฒนากรุงเทพฯ ก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้น หากต้องพลิกผันลาออกจากราชการมาสมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องดูว่านโยบายพรรคเป็นอย่างไร แต่ตนมีความตั้งใจอยู่ส่วนหนึ่งอยู่แล้ว แต่วันนี้ยังไม่ถึงระดับที่ต้องตัดสินใจ เมื่อถึงเวลาอันสมควรที่ตัดสินใจแล้วจะบอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมา การตัดสินใจไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของการแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน
          ศาลไต่สวนชันสูตรศพเด็ก 14
          เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา ศาลอ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรศพคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 ยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของ ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ถูกยิงเสียชีวิตที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ กลางดึกวันที่ 15 พ.ค.53 ระหว่างเหตุการณ์กระชับพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ตามคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่ผู้ตายถูกยิงได้ความจากนายสมร ไหมทอง ที่ขับรถตู้ทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนราชปรารภ มุ่งหน้าแยกมักกะสัน จึงถูกทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 ที่รับผิดชอบพื้นที่อยู่ ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศเตือนห้ามไม่ให้รถตู้นายสมรแล่นผ่านเข้าไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ แต่รถตู้ยังแล่นต่อไป จากนั้นมีเสียงปืนดังหลายนัดมาจากหลายทิศทาง
          ตัดสินถูกกระสุนปืนทหารยิงตาย
          อีกทั้ง พล.อ.ต.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม แพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายเบิกความรับรอง พบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลผู้ตาย สันนิษฐานเป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูงที่ใช้ในราชการสงคราม ประเภทเอ็ม 16 หรืออาก้า เมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้อง และภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐานจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายคนมีปืนเอ็ม 16 อยู่ด้วย คดีรับฟังได้ว่าคืนเกิดเหตุขณะที่นายสมรขับรถตู้เข้าไปในถนนราชปรารภพื้นที่ควบคุมตามประกาศ ศอฉ. เมื่อทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ แต่นายสมรยังขับรถตู้ต่อไป ทหารจึงใช้ปืนยิงใส่รถตู้นายสมรเป็นเหตุให้ลูกกระสุนปืนถูก ด.ช.คุณากรเสียชีวิต จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่ง รพ.พญาไท 1 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงคืน เหตุและพฤติการณ์ที่ตายถูกลูกกระสุนปืนยิงจากปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่
          สำหรับคำสั่งการไต่สวนการเสียชีวิตจากเหตุการณ์กระชับพื้นคดีนี้ถือเป็นสำนวนที่ 4 โดยก่อนหน้านี้ศาลอาญามีคำสั่งในทำนองเดียวกันมาแล้ว 3 สำนวนคือ คดีนายพัน คำกอง นายชาญณรงค์ พลศรีลา และนายชาติชาย ชาเหลา ที่ระบุสาเหตุการตายมาจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน
          ไม่ห่วงทหารเป็นจำเลยฆ่า ปชช.
          ด้าน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.ทหารสูงสุด กล่าวถึงกรณีศาลอาญามีคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ซึ่งถูกทหารยิงเสียชีวิตว่า ไม่รู้สึกห่วงว่าทหารต้องรับผิดชอบคดีชุมนุมทางการเมืองปี 53 เพราะทุกคนทำตามหลักการและหน้าที่ ผู้รับผิดชอบที่ดำเนินการสอบสวนก็ทำตามเหตุผล ต้องเคารพซึ่งกันและกัน ผลก็จะออกมาดี แต่ถ้าใครพยายามไปพูดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เบี่ยงเบนทำให้เกิดความสับสน บางเรื่องที่ยังไม่ควรพูดก็ควรปล่อยให้เป็นเรื่องตามครรลอง เมื่อถามว่าเป็นห่วงเรื่องผลกระทบกับกองทัพบกหรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์ตอบว่า ทุกอย่างไม่มีใครสั่ง เป็นไปตามกฎกติกา สังเกตได้ว่าทหารไม่ใช่กองโจร ทำอะไรต้องมีคำสั่ง และอยู่ในระบบระเบียบ
          สืบพยานคดีก่อการร้าย
          วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา ศาลนัดสืบพยานโจทก์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. กับพวกและแนวร่วมรวม 24 คน ฐานร่วมกันก่อการร้ายฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเดือน พ.ค.53 โดยนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 5 ถูกคุมตัวจากเรือนจำชั่วคราวหลักสี่มาฟังการพิจารณาคดีด้วย ทั้งนี้ อัยการได้นำ พ.อ.ธนากร โชติ– พงษ์ นายทหารปฏิบัติการ กรมข่าวทหารบก เข้า เบิกความตอบคำถามซักค้านทนายจำเลยว่า การปฏิบัติการของ ศอฉ. ผู้มีอำนาจสั่งการเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หรือนายสุเทพ เทือก-สุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ.นั้น ตนไม่ทราบ แต่ผู้ที่สั่งการตามสายบังคับบัญชาคือเสนาธิการ ศอฉ. ส่วนเสนาธิการจะรับคำสั่งมาจากใคร ไม่ทราบ สำหรับการทำข่าวของ ศอฉ.ไม่เคยปล่อยข่าวลวง และไม่เผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับทราบ ทนายจำเลยถามถึงผู้สั่งการในระดับยุทธการเป็นใครชื่ออะไร พ.อ.ธนากรตอบว่า ไม่ทราบว่าเป็นใคร
          “ก่อแก้ว” เฮศาลปล่อยตัว 21 ธ.ค.
          นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาล อาญา เปิดเผยว่า ศาลอาญาได้รับหนังสือแจ้งจากนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ในการขอตัวนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และจำเลยคดีก่อการร้ายที่ถูกคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ออกไปปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 วรรค 5 ศาลได้ออกหมายปล่อยตัวนายก่อแก้วเรียบร้อย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.ที่เปิดสมัยประชุมสภา และปล่อยตัวจนถึงวันที่ปิดสมัยประชุมสภา นายก่อแก้วต้องมาอยู่ในการคุมขังของศาลอาญาอีกครั้ง
          อัยการไม่ให้แกนนำ พธม.เลื่อนคดี
          อีกด้านหนึ่ง ที่สำนักงานอัยการสูงสุด น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความนายสนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เข้าพบนายประยุทธ ป.สัตยารักษ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เพื่อขอเลื่อนนัดการส่งตัวฟ้องศาลอาญา 3 คดีคือ 1.ร่วมกับแกนนำ พธม. 20 คน ชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา2.พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และแกนนำ พธม.รวม 6 คน นำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปทำเนียบรัฐบาล 3.คดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ บนเวทีปราศรัย
          ต่อมานายประยุทธเปิดเผยว่า ได้นัดทนายความพธม.นำผู้ต้องหาทั้ง 3 คดี มาฟังคำสั่งฟ้อง และนำตัวไปฟ้องต่อศาลอาญา แต่ผู้ต้องหาไม่มาตามนัด จึงยื่นฟ้องไม่ได้ โดยทนาย พธม.แจ้งขอเลื่อนนัดส่งตัวผู้ต้องหาฟ้องศาล เนื่องจากแกนนำคนสำคัญติดธุระเร่งด่วน ประกอบกับศาลอาญามีนัดสืบพยาน และนัดฟังคำสั่งคดีเสื้อแดง จึงไม่อยากให้มวลชนเสื้อเหลืองและแดงเผชิญหน้ากัน แต่ตนพิจารณาหนังสือขอเลื่อนการส่งตัวผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่าที่ผ่านมาได้พิจารณาให้เลื่อนไปตามเหตุผลและความจำเป็นมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว จึงควร นำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโดยเร็ว และไม่อนุญาตให้เลื่อนการส่งตัวผู้ต้องหาอีก พร้อมกับมีหนังสือแจ้งพนักงานสอบสวนไปนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมาส่งอัยการเพื่อฟ้องโดยด่วน หากติดตามตัวไม่ได้ ให้ บช.น.ยื่นคำร้องขอศาลออกหมายจับต่อไป
          ตั้งแท่นดำเนินคดีม็อบ อพส.เพิ่ม
          พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ที่ปรึกษา สบ 10 ฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีกลุ่มผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ปะทะกับตำรวจจากเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่วันที่ 24 พ.ย. กล่าวว่า ขณะนี้สอบสวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว นัดผู้ต้องหาทั้ง 127 คนมาพบที่กองปราบปรามวันที่ 24 ธ.ค. ตามความผิด พ.ร.บ.ความมั่นคง ส่วนสำนวนผู้ต้องหาอีก 10 ราย พื้นที่ สน.ดุสิต บางส่วนได้สรุปสำนวนส่งอัยการแล้ว เมื่อถามว่าจะดำเนินคดีผู้อื่นเพิ่มเติมหรือไม่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ตอบว่า ขณะนี้มีอยู่หลายคน แต่ยังไม่ระบุว่าเป็นใครบ้าง เพราะการสอบสวนต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง เมื่อได้ข้อเท็จจริงจะมาสรุปนัดประชุมก่อนดำเนินการกับผู้กระทำผิด ถ้าเข้าข่ายก็แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
          นายกฯไปอินเดียแวะพุทธคยา
          เมื่อเวลา 07.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 20-21 ธ.ค. ที่กรุงนิวเดลี จากนั้นจะเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนางชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค.
          ต่อมาเวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) นายกฯและคณะเดินทางถึงท่าอากาศยานคยา เมืองคยา แล้วไปเยี่ยมชมและร่วมพิธีทางศาสนาที่วัดเนรัญชราวาส จากนั้นเดินทางไปยังพระมหาเจดีย์พุทธคยา เพื่อสักการะพระพุทธเมตตาและต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยมีพระราชรัตนรังสี หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล และเจ้าอาวาส นำสวดมนต์บริเวณ หน้าแท่นวัชรอาสน์ และเดินทางต่อไปยังวัดป่าพุทธคยา เพื่อนมัสการพระโพธินันทมุนี ก่อนจะไปวัดไทยพุทธคยา โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ร่วมเป็นประธานในพิธีเริ่มโครงการก่อสร้างกุฏิกรรมฐาน และพูดคุยกับศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางมาสักการะสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา
          ปลื้มได้พรนั่งอยู่ในหัวใจคนไทย
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังประกอบพิธีสงฆ์ พระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล ได้ให้พรนายกฯและคณะว่า พระที่มาร่วมในพิธีวันนี้เป็นพระระดับเจ้าอาวาสวัดไทย ซึ่งเป็นวัดป่าในอินเดียและเนปาล บางรูปเดินทางมาไกล 300-500 กิโลเมตร เพื่อมาอำนวยพรให้นายกฯและ รัฐบาล ขอให้นายกฯและคณะรับความศักดิ์สิทธิ์ ประสบความสำเร็จ นั่งอยู่ในหัวใจคนไทยนานเท่านาน นอกจากนี้พระราชรัตนรังษีได้มอบต้นโพธิ์บัลลังก์ ซึ่งเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองจำลอง มีใบเป็นพระพุทธเมตตา มีความหมายว่าเป็นบัลลังก์ของคนใจเพชร มุ่งมั่นทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป
          ชูพัฒนาสัมพันธ์อาเซียน–อินเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น