วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การเดินทางเยือนไทยแบบติดๆ กันของสองผู้นำชาติมหาอำนาจ




การเดินทางเยือนไทยแบบติดๆ กันของสองผู้นำชาติมหาอำนาจ ทั้ง บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ตามด้วย เวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน คงไม่ต้องอธิบายกันอีกแล้วว่าทำไมหรือเพราะเหตุใด
          เนื่องจากคำตอบเห็นอยู่ชัดๆ ว่า ไทยกำลังตกอยู่ในวังวนของการเร่งแผ่อิทธิพลและสกัดกั้นการสยายปีกระหว่างกันของ "สองพี่เบิ้ม"
          แน่นอนว่าบทบาทของไทยในฐานะประเทศเล็กๆ ที่ต้องใช้ในสถานการณ์แบบนี้ คือกลยุทธ์ "ตีสองหน้า" หรือ "เหยียบเรือสองแคม"หมายถึงเป็นมิตรกับทั้งสองฝ่ายเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศเรา
          ทุกเสียงจากผู้รับผิดชอบตอบตรงกันหมด ไม่ว่าจะระดับรัฐมนตรี เลขาธิการ สมช. หรือวอร์รูมของพรรคเพื่อไทยเอง
          แต่ปัญหาก็คือยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ ซึ่งไทยเคยใช้สำเร็จมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ จะยังใช้ได้จริงหรือไม่ในยุคปัจจุบัน เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ปัจจัยแห่งความสำเร็จย่อมผันแปร
            รศ.ดร.ประภัสร์ เทพชาตรี อาจารย์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันวิเคราะห์และหาคำตอบของคำถามที่น่าระทึกนี้...

ประภัสร์ : ไทยอ่อน-ฟอร์มตก
เล่นบท "เหยียบเรือสองแคม" ลำบาก

          รศ.ดร.ประภัสร์ เรียกปรากฏการณ์การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า "การปิดล้อมรูปแบบใหม่" หรือ"การปิดล้อมแบบหลวมๆ" คือการพยายามหาพันธมิตรจับมือกันเพื่อสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของมหาอำนาจอีกขั้วหนึ่ง
          "การปิดล้อมรูปแบบใหม่นี้จะไม่มีการประกาศต่อต้านใครแบบโต้งๆ หรือส่งทหารไปปิดล้อม สกัดเส้นทางการค้า หรือใช้มาตรการทางการทูตแบบแข็งกร้าวเหมือนในอดีต ทว่าเป้าหมายเป็นที่รู้อยู่ในใจ จึงเรียกว่า 'แอบปิดล้อม' หรือ Soft balancing ก็น่าจะได้ เพราะมหาอำนาจทั้งสองขั้ว คือทั้งจีนและสหรัฐก็ยังมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ ยังมีทูต ยังมีการค้าขายระหว่างกัน"
          รศ.ดร.ประภัสร์ ชี้ว่า ทางออกของไทยในสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมหนีไม่พ้นการเล่นบท "ตีสองหน้า" หรือ "เหยียบเรือสองแคม" ซึ่งเป็นบทบาทที่ไทยถนัดมาก และประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมและยุคสงครามเย็น แต่การจะเล่นบทตีสองหน้าในสถานการณ์ปัจจุบันได้ ต้องมีปัจจัยสำคัญสนับสนุนดังนี้
          1.ต้องอยู่ในสถานะที่สองมหาอำนาจไม่มีความขัดแย้งรุนแรงจนบีบให้ไทยต้องเลือกข้าง
          2.ไทยต้องมีความเข้มแข็งระดับหนึ่งทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อรักษาจุดยืนความเป็นกลาง ป้องกันไม่ให้มหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายรุกไล่กดดัน
          ในมุมมองของ รศ.ดร.ประภัสร์ ประเด็นแรกไม่น่ามีปัญหา เพราะจีนกับสหรัฐยังต้องพึ่งพิงกันในทางเศรษฐกิจอีกมาก ทั้งสองประเทศมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจนแยกไม่ออก จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐ พันธบัตรต่างๆ ก็ซื้อเอาไว้มากมาย ฉะนั้นถ้าสหรัฐพัง จีนก็พัง จึงไม่น่ามีความขัดแย้งรุนแรงแบบเอาเป็นเอาตายและบีบให้ไทยต้องเลือกข้าง
          ฟังดูเหมือนดี...แต่นั่นจะทำให้เกิดปัญหากับไทยในอีกด้านหนึ่ง เพราะไทยมีปัญหาเรื่องศักยภาพทั้งภายใน ภายนอก ตลอดจนบทบาทของผู้นำ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสถานะ "อ่อน" และระยะหลังก็ "ฟอร์มตก" ไปมาก ถึงขนาดหลุดจากสถานภาพการเป็น 5 พันธมิตรหลักของอเมริกาในภูมิภาคนี้ จากเดิมที่มีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งสาเหตุมาจากปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจตกต่ำ กระทั่งสหรัฐหันไปให้ความสำคัญกับประเทศอื่นแทน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น
          "เมื่อเราฟอร์มตก ก็เลยต้องฟื้นฟูคะแนนนิยม ต้องเชิญเขา (ผู้นำสหรัฐ) มาเยือนให้ได้ ฉะนั้นเมื่อเขาเสนออะไร เราจึงต้องประเคนให้ ทั้งแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศที่เพิ่งลงนามกันไป และการตัดสินใจเข้าร่วมเจรจากรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งผมแปลกใจมากที่เห็นข่าวแบงก์ชาติบอกว่าไม่เห็นด้วย ทั้งที่เราควรจะสรุปร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ นี่สะท้อนปัญหาภายในของเราอย่างชัดเจน"
          "ผู้นำเราไม่มีประสบการณ์ในเรื่องแบบนี้ กระทรวงการต่างประเทศของเราก็อยู่ในยุคเงียบเหงา สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ก็อ่อน เมื่อฝ่ายการเมืองอ่อนก็ต้องอาศัยข้าราชการประจำ แต่ฝ่ายประจำก็ปั่นป่วนมาตลอด ถูกล้วงลูกอย่างหนักในช่วงหลายปีมานี้ จะทำอะไรก็ต้องรอการเมืองสั่ง แต่การเมืองก็มาอ่อนเสียอีก ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ จึงไม่มีเลย"
          รศ.ดร.ประภัสร์ วิเคราะห์ต่ออีกว่า เมื่อพิจารณาการต้อนรับสหรัฐอย่างเอิกเกริกของไทย ก็น่าจะทำให้จีนไม่ค่อยแฮปปี้ (มีความสุข) เท่าไรนัก
          "ตรงนี้เองที่ทำให้ผมมองว่าจากนี้ไปไทยจะเล่นบทเหยียบเรือสองแคมได้ยากขึ้นและเหนื่อยขึ้น แต่เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า เราก็ต้องเดินแบบนี้ต่อไป และใช้ความสามารถ 'แบบเนียนๆ' ซึ่งเป็นเกมถนัด ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ และเล่นบทเพื่อนที่ดีต่อไปเมื่อผู้นำจีนเดินทางมาถึง"
          แต่กระนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ไทยจะเล่นบทบาทนี้ไปได้อีกนานเท่าไร เพราะมหาอำนาจย่อมรู้เท่าทัน ฉะนั้นการระดมพลังวางแผนเพื่อกำหนดนโยบายเชิงรุกจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง
          "บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศต้องดีกว่านี้ ทั้งตัวนายกฯ ตัวรัฐมนตรี หรือหน่วยงานความมั่นคง ต้องปรับปรุงกันใหม่ เพราะที่ผ่านมาไม่มีนโยบายเชิงรุกอะไรเลย เราต้องสร้างบทบาทในระดับอาเซียนเพื่อใช้ต่อรองกับมหาอำนาจ ไม่ใช่เล่นเกมตามเขาทั้งหมดหรือรอตั้งรับอย่างเดียว" 

ปณิธาน : ไทยส่อแกว่งเป็นลูกตุ้ม
ผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลทำวุ่นหนัก
          รศ.ดร.ปณิธาน เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมในเอเชียที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ
          1.มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้นทั้งด้านการค้า การลงทุน ทำให้ต้องแสวงหาพันธมิตร ขณะที่ภัยคุกคามรูปแบบเดิมลดลง แต่ภัยคุกคามรูปแบบใหม่กลับเพิ่มขึ้น จึงเกิดความร่วมมือใหม่ๆ ทางการทหารและความมั่นคง
          2.เกิดการเติบโตของมหาอำนาจใหม่ ได้แก่ จีน อินเดีย และการกลับมาของมหาอำนาจเดิม คือ รัสเซีย ตลอดจนการพยายามยกระดับตัวเองขึ้นเป็นมหาอำนาจของออสเตรเลียและอินโดนีเซีย
          รศ.ดร.ปณิธาน ชี้ว่า จากปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ใครปรับตัวก่อนย่อมได้เปรียบ และมหาอำนาจมักปรับตัวได้เร็ว จะเห็นว่าประธานาธิบดี บารัก โอบามา ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ "มุ่งสู่เอเชีย" แล้วก็เดินหน้าสร้างสมดุลอำนาจในเอเชียทันที
          ยุทธศาสตร์ของสหรัฐก็คือ ต้องได้เปรียบทางการทหาร ได้เปรียบทางการค้า แต่ไม่เผชิญหน้า ซึ่งเป็นสไตล์ของโอบามา การส่งทหารเข้าไปก็เป็นลักษณะ "คุณขอมา" ไม่ได้ส่งเข้าไปเอง เช่น เข้าไปช่วยเหลือเรื่องภัยพิบัติ พร้อมๆ กับการเปิดตลาดใหม่ในพม่า เน้นลดทอนอำนาจของจีน ทำให้ความเติบโตของจีนช้าลง
          "การรุกของสหรัฐรอบนี้ใช้วิธีแนบเนียน คือใช้ข้อตกลงเดิม แต่ขยายและกระชับให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างเช่น ข้อตกลงทางทหารที่เพิ่งลงนามกับไทยก็ใช้คำว่า 'แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม' ซึ่งถ้าดูแค่แถลงการณ์จะเห็นว่าไม่มีอะไรใหม่ แค่ขยายข้อตกลงเดิมที่มีอยู่ รัฐมนตรีกลาโหมกับนักวิชาการที่สนับสนุนก็บอกว่า 'อย่าคิดมาก' แต่ถ้าย้อนไปดูข้อตกลงเดิม 4 ฉบับที่ไทยเคยทำกับสหรัฐ ก็จะรู้ว่าเป็นกุญแจให้สหรัฐไขเข้ามาในประเทศไทยได้ง่ายดาย ซึ่งนักยุทธศาสตร์มองแล้วสรุปว่า 'ต้องคิดมาก' เพราะกลยุทธ์ของสหรัฐทำให้เขาได้ประโยชน์ทุกอย่างโดยไม่ถูกต่อต้านจากคนไทยเลย"
          "เช่นเดียวกับความตกลง ทีพีพี จะทำให้สหรัฐได้สินค้าราคาถูกไหลเข้าประเทศแทนสินค้าจีน และบีบให้ประเทศเล็กๆ อย่างไทยต้องทำตามกรอบความตกลงที่ไม่มีความพร้อม เช่น เรื่องสิทธิบัตรยา เรื่องลิขสิทธิ์ หรือเรื่องมาตรฐานแรงงาน และเราก็จะเข้าไปสู่วงโคจรของสหรัฐ ทำให้หลายประเทศหวาดระแวง ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย อินเดีย จีน ทั้งๆ ที่การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐลดลง แต่กับประเทศต่างๆ ที่กำลังหวาดระแวงไทย เราค้าขายกับเขามากขึ้น"
          นักวิชาการด้านความมั่นคง วิเคราะห์ต่ออีกว่า ยุทธศาสตร์ที่ไทยเลือกใช้ คือ "เหยียบเรือสองแคม" พยายามรักษามิตรประเทศทุกฝ่ายให้มากที่สุด ไม่ก่อศัตรู ไม่เลือกข้าง หรือเลือกให้ช้าที่สุด ถ้าจำเป็นต้องเลือกข้างจริงๆ ให้เลือกตอนที่ชนะแล้ว ยุทธศาสตร์แบบนี้แม้จะเคยประสบความสำเร็จ แต่ปัจจุบันจะสำเร็จยาก เพราะ
          1.มหาอำนาจรู้อยู่แล้วว่าไทยต้องเล่นบทนี้ เพราะเคยเล่นมาทั้งในยุคล่าอาณานิคม สมัยรัชกาลที่ 5 ยุคสงครามโลก และยุคสงครามเย็น
          2.ความสำเร็จในอดีตเป็นเพราะในยุคนั้นๆ ผู้นำมีความรู้ความสามารถมาก มีเอกภาพในประเทศสูง ขณะที่มหาอำนาจยุคนั้นยังเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน อาจจะรู้ไม่เท่าทัน
          3.ปัจจุบันการเมืองไทยแปรปรวน มีปัญหาภายใน ไม่มีเอกภาพ มีคนอยู่นอกประเทศที่มีอิทธิพลสูง ขณะที่บุคลากรที่รู้ลึกรู้จริงมีน้อย เปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงบ่อย ผู้นำก็สนใจแต่เรื่องการเมืองภายใน มีความรู้พื้นฐานการเมืองโลกที่อาจจะไม่เท่าทัน
            "ปัญหาที่จะตามมาคือ ความได้ดุลจะไม่มี แล้วไทยก็จะแกว่งไปแกว่งมาตามมหาอำนาจ ด้านนั้นที ด้านนี้ที ตามแต่จะถูกผลักดัน กลายเป็นลูกตุ้ม"
          เขาชี้ด้วยว่า การมีกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลอยู่เหนือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะทำให้เกิดการผลักดันยุทธศาสตร์ของกลุ่มพวกตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่คำถามว่ายุทธศาสตร์ที่ว่านี้เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศหรือของกลุ่ม ในประเทศที่เจริญแล้วมีอดีตผู้นำมาช่วยผลักดันยุทธศาสตร์ก็จริง แต่ชัดเจนว่าทำเพื่อประโยชน์ของประเทศ ทว่าของไทยยังไม่ชัด ซึ่งจะทำให้เกิดความแปรปรวน เพราะมีตัวแสดงเพิ่ม
          ประกอบกับคนไทยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการต่างประเทศน้อย ลองไปดูโพลล์ต่างๆ จะพบว่าประชาชนเข้าใจผิด คิดว่าแค่ผู้นำของเราเดินทางไปเยือนต่างประเทศ แค่จับมือกับผู้นำชาติอื่นก็คือความสำเร็จแล้ว ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่
          ทั้งหมดทั้งมวลที่ยกมา รศ.ดร.ปณิธาน ฟันธงว่า จะนำไปสู่ความล่อแหลม เปราะบาง และสุดท้ายจะถูกเจาะจากมหาอำนาจ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่จ้องมองผลประโยชน์จากไทยอยู่
          "เราได้เตรียมตัวเรียกร้องต่อรองผลประโยชน์อะไรสำหรับประเทศของเราจากสหรัฐและจีนบ้างหรือยัง ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน อย่าลืมว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องผลประโยชน์ทั้งสิ้น เราต้องตื่นขึ้นมาเจอกับแรงกดดันใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย คือการแข่งขันกันของมหาอำนาจที่แยบยล ซับซ้อน ฉะนั้นต้องนำความเข้มแข็งในอดีตกลับมาให้ได้ ย้อนดูจุดแข็ง แล้วสร้างเอกภาพใหม่ให้เกิดขึ้นจริง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น