วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

“ชายชุดดำ” การค้นหาความจริง อย่ากลัวลบประวัติศาสตร์ส่วนตัว




“ชายชุดดำ” การค้นหาความจริง อย่ากลัวลบประวัติศาสตร์ส่วนตัว

    หากประเด็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2553 ถูกวาดภาพให้ลงเอยด้วยความรุนแรง โดยมีชายชุดดำเป็นคนเริ่มเปิดงานกลายเป็นข้อเท็จจริงในที่สุด ทุกฝ่ายจะยอมรับได้หรือไม่ว่าการตายของคนในเหตุการณ์ช่วงนั้น มีที่มาที่ไปที่ควรจะแยกออกเป็นกรณีๆ เพราะไม่เช่นนั้นความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปเป็นประเด็นทางการเมือง และการสร้างสัญลักษณ์ในเชิงต่อสู้ของทุกฝ่าย ในขณะที่สังคมจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์แม้แต่ครั้งเดียว
    เพราะเมื่อประวัติศาสตร์ถูกผูกขาดด้วยความทรงจำของแกนนำ สื่อฝ่ายตน พรรคการเมืองที่อิงหลัง ก็ป่วยการที่จะมาพูดหรือนำข้อมูลมาอธิบายกัน  เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างกระต่ายขาเดียวและไม่พร้อมที่จะรับความจริงว่าแต่ละเหตุการณ์มีความแตกต่างกัน แต่พยายามปั้นทุกเหตุการณ์ให้เป็นก้อนเดียวกันเพื่อสร้างน้ำหนักเล่นงานคนที่สั่งการ เพื่อที่จะทำลายล้างอนาคตทางการเมือง โดยไม่ได้ตั้งใจที่จะหาความจริงเพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
    แน่นอนว่า ไม่มีทางที่คนในสังคมจะรับรู้ว่ามีเกม และวาระซ่อนเร้นมากมาย ระหว่างคนมีสีที่ไม่มีอำนาจ กับคนที่ไม่มีอำนาจหรือไม่ แต่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 หรืออาจจะเลยไปถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น มีความจริงชุดหนึ่ง ที่ว่าด้วยเรื่องไอ้โม่ง และชายชุดดำ เกิดขึ้นมาระหว่างการล้อมปราบประชาชน เป็นความจำเป็นต้องแยกแยะเป็น 2 ประเด็นว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นมี 2 เหตุการณ์ ในกรณีของพฤษภาทมิฬ ผู้เสียชีวิตมีทั้งที่มีทหารที่รักษาความสงบเรียบร้อยยิง และมีคนในเครื่องแบบอีกชุดที่สังกัดหน่วย แต่ไม่แสดงตน และทหารมาเฟีย ร่วมผสมโรงยิงจากอาคารตึกกรมประชาสัมพันธ์ กองสลากกินแบ่งรัฐบาล เป้าหมายเพื่อโค่นล้มกลุ่ม จปร.5 ที่ครองอำนาจในกองทัพ  ซึ่งในครั้งนั้นต้องยอมรับว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ตัดสินใจล้อมสลายการชุมนุมแต่ต้น เพราะการข่าวที่ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง
    ก่อนเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2553 สื่อมวลชนหลายคนและหลายแขนงรู้ดีว่า มีปฏิบัติการของกลุ่มทหารที่อิงขั้วการเมือง เข้าปฏิบัติการต่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยึดทำเนียบรัฐบาล หน้าสภาฯ เพื่อโค่นล้มพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะรู้ว่าฝ่ายเสื้อเหลืองก็นักรบศรีวิชัย ซึ่งมีอดีตทหารพรานมือดี และมือรับจ้างทั้งหลาย มาเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย หรือ รปภ.สถานการณ์ เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารอำนาจเปลี่ยนมือพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาบริหารประเทศ กลุ่มขั้วการเมืองและขบวนการเสื้อแดงเริ่มเติบโตขึ้นด้วยนิยามของคำว่าสองมาตรฐาน พร้อมหยิบยกกรณีเสื้อเหลืองบุกยึดสนามบินขึ้นมาเป็นตัวอย่างของการได้รับการยกเว้นการถูกลงโทษ การชุมนุมของคนเสื้อแดงจึงเป็นชุดของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมมาตรฐานเดียว การขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มาจากการยึดอำนาจ กลุ่มทหารที่อิงขั้วการเมืองเดียวกับพันตำรวจโททักษิณเริ่มแสดงตัวและจัดตั้งกองกำลังเพื่อแบ็กอัพให้กลุ่มประชาชนมวลชนเสื้อแดง โดยเป็นการช่วยหนุนในเชิงอิสระ เฝ้าระวังกองทัพจะล้อมปราบเมื่อมีการชุมนุม
    เมื่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กลุ่มชายชุดดำ กลุ่มคนมีสี มือปืนรับจ้าง  นักเลงหัวไม้ ทหารแตงโมที่บอกถึงความเคลื่อนไหวของกองทัพที่มีทั้งข้อเท็จจริงและข้อเกินจริง จนทำให้กองกำลังฝ่ายแดงออกปฏิบัติการโดยใช้กลยุทธ์เดียวกับทางทหาร ทั้งการสืบสภาพ การใช้เอ็ม 79 ระเบิด เข้าจัดการกับทหารที่เข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ ฝ่ายทหารบาดเจ็บ มีประชาชนที่มาชุมนุม ช่างภาพญี่ปุ่น บาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นกัน ไม่ต่างจากหลายเหตุการณ์ทั้งวัดปทุมฯ ราชปรารภ ถนนสารสิน ที่มีการเสียชีวิต  สิ่งที่ต้องทำคือ การหาข้อเท็จจริงทุกด้าน และพร้อมรับว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นมาจากชายชุดดำผู้เป็นปริศนา รวมถึงทหารที่ประจำการตามจุดที่ผิดพลาดในการปฏิบัติการจริงหรือไม่ อย่าให้การเมืองเลือกใช้แค่ชุดความคิด ชายชุดดำ หรือทหารฆ่าประชาชน หากินและสร้างประวัติศาสตร์เฉพาะกลุ่มขึ้นมาเลย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น