วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

"กมธ.วุฒิ" เตือนจำนำข้าวทำหนี้สาธารณะท่วม เสี่ยงล้มละลายเหมือนกรีซ โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 ตุลาคม 2555 07:27 น.



"กมธ.วุฒิ" เตือน "รบ.ปู" ยกเลิกจำนำข้าว ผลศึกษา ชี้ หากเดินหน้าต่อ อาจทำหนี้สารธาณะท่วม เสี่ยงประเทศล้มละลายซ้ำรอยกรี ชาวนาที่ยากจน 3 ล้านราย ยังถูกเอาเปรียบจากโรงสีโกงตาชั่ง ความชื้นและสิ่งปลอมปน เงินจำนำ 1.5 หมื่น ถึงมือขาวนาแค่ 9 พันถึง 1.1 หมื่น เท่านั้น
       
       นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา แถลงผลการศึกษาเรื่องนโยบายจำนำข้าว วานนี้ โดยมีความห่วงใยในนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจมหภาค และหนี้สาธารณะของประเทศที่อาจมีสภาพเช่นเดียวกับประเทศกรีซที่ใช้โครงการประชานิยมเกินตัว ทำให้เกิดหนี้สาธารณะเกิน 120% และขาดดุลการคลัง 12.7% จนประสบปัญหาเศรษฐกิจล้มละลายได้
       
       ทั้งนี้ ภายหลังจาก กมธ.ได้ทำการศึกษาเสร็จแล้วจะส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาพร้อมกับหน่วยงานตรวจสอบทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการต่อไป
       
       นายมหรรณพ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาพบว่า การจำนำข้าวได้ทำลายกลไกตลาด ระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมข้าว และทำลายความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก เพราะราคาสูงกว่าคู่แข่งขัน เช่น อินเดียและเวียดนามทำให้ขาดรายได้จากการส่งออกลดลงประมาณ 35% หรือเดือนละ 6,000 ล้านบาท คิดเป็นปีละ 7.2 หมื่นล้านบาท และไม่ได้ช่วยชาวนาที่ยากจนประมาณ 3 ล้านราย
       
       ผลการศึกษายังพบว่า ชาวนาถูกเอาเปรียบจากโรงสีโกงตาชั่ง ความชื้นและสิ่งปลอมปน เฉลี่ยแล้วชาวนาได้รับเงินจากการจำนำประมาณ 9,500 -11,000 ล้านบาทต่อตันเท่านั้น ที่สำคัญยังทำลายคุณภาพข้าวไทยในระยะยาว เพราะชาวนาจะเพิ่มปริมาณการปลูกข้าวอายุสั้นมาจำนำ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ ส่งผลกระทบไปสู่คุณภาพของอุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบ
       
       ประธาน กมธ.กล่าวถึงข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรทบทวนโยบายการรับจำนำข้าวทั้งระบบ เช่น กำหนดปริมาณการรับจำนำไม่ทุกเมล็ด กำหนดปริมาณพื้นที่นา กำหนดราคาและวงเงินรับจำนำ โดยเน้นชาวนารายเล็กรายได้ต่ำให้มีโอกาสเข้าถึงโครงการให้เป็นส่วนใหญ่ได้อย่างทั่วถึงแทนชาวนาและนายทุนที่ร่ำรวยและให้มีโอกาสไถ่ถอน เพื่อขายในราคาตลาดได้ ดำเนินการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังและปรับแก้กระบวนการรับจำนำข้าวให้รัดกุม
       
       "คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา มั่นใจว่านโยบายและมาตรการรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นนโยบายที่ล้มเหลวที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 สูญเสียเงินละลายน้ำไปมากมาย โดยผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงมือเกษตรกรอย่างที่คิด ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสี ผู้ส่งออก ลานตากมัน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพรรคพวกของนักการเมือง จึงไม่มีใครยอมเลิกโครงการนี้ และยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชั่นจากโครงการจำนำสินค้าเกษตรรัฐบาลเสียเงินขาดทุนมากมาย"
       
       ด้านนายวันชัย สอนศิริ สว.สรรหา โฆษก กมธ. กล่าวว่า การทุจริตที่ศึกษาพบ คือ มีตั้งแต่เกษตรกรแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ เช่น พื้นที่และผลผลลิตเกินจริง ขายสิทธิการเข้าร่วมโครงการให้กับผู้อื่น เป็นต้น ไปจนถึงขั้นตอนของโรงสีที่มีการสวมสิทธิเกษตรกรโดยนำข้าวเปลือกโรงสีที่ได้จากการค้าปกติเข้าร่วมโครงการในนามของเกษตรกร และในขั้นตอนนี้ยังเป็นขั้นตอนที่ทำให้ชาวนาเสียเปรียบไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบว่าการวัดความชื้นเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่
       
       "ขั้นตอนต่างที่มีข้อบกพร่องและเปิดช่องให้เกิดการทุจริตนั้นถ้าไม่มีผู้อำนาจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดช่องจะไม่มีทางทำการทุจริตได้ ปล่อยปะ ละเลย มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น