วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

นิยามความโกง ได้เวลาต้องทบทวน?!? เมื่อ 8 ต.ค.55



แม้ว่าโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะมีหรือยังไม่มีข้อสรุปในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด ขั้นตอน หรือหลักการ... ตามกระแสเสียงเรียกร้อง คัดค้าน ติเตือน วิพากษ์วิจารณ์ ของนักวิชาการ คณาจารย์ นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ นักการตลาด และนักการเมืองฝ่ายค้าน ด้วยข้อกังวลในประเด็นสร้างปัญหาระยะยาวให้กับภาคธุรกิจการค้าขายและส่งออกข้าวในด้านการบิดเบือนราคาตลาด ภาคเกษตรกรรมในด้านผลผลิตและคุณภาพของข้าวที่ตกต่ำ ตลอดจนภาคการเงินการคลังเกี่ยวกับภาระหนี้สินสะสมที่เกิดจากกระบวนการรับจำนำข้าว แต่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อประเด็นข้อครหาที่น่าเป็นห่วงที่สุด นั่นคือ ปัญหาการทุจริตและคอรัปชั่น
    ท่ามกลางการถกเถียงที่ปราศจากข้อยุติว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในวันนี้กับแนวทางการประกันราคาข้าวของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แบบไหนดีกว่า และสร้างผลประโยชน์ให้กับชาวนาที่ถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการใช้งบประมาณแผ่นดินมหาศาลเพื่อดำเนินนโยบาย "อุ้ม" เกษตรกรมากกว่ากัน และภายใต้บรรยากาศที่นักกฎหมาย นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ แสดงความคิดเห็นต่างๆ นานาว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยหยุดยั้งโครงการรับจำนำข้าวว่ากระทำผิดรัฐธรรมนูญ หรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องต้องกันว่า เส้นทางตามกระบวนการรับจำนำข้าวตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางที่รัฐบาลตั้งตัวเป็นผู้ผูกขาดซื้อข้าวแต่รายเดียวนั้น มีเม็ดเงินที่ตกหล่นเป็นเบี้ยบ้ายรายทาง ทั้งตามน้ำและทวนน้ำ ทั้งเต็มใจและฝืนใจ อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ในกลุ่มเห็นด้วย หรือเห็นต่างกับนโยบายการรับจำนำข้าวก็ตาม
    ฉะนั้น ความขัดแย้งทางความคิดในทุกประเด็นอันเกี่ยวกับนโยบายการจำนำข้าว จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องแยกแยะให้ออกจากปัญหาการโกงที่เกิดขึ้นในกระบวนการตามโครงการรับจำนำข้าว และไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะเลือกบิดเบือนประเด็นข้อครหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเป็นเกมการเมืองที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลอีกต่อไป เพราะวันนี้ ผู้ที่ออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการรับจำนำข้าวนั้น มิได้เฉพาะเจาะจงอยู่ที่นักการเมือง หรือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น แต่ขึ้นชื่อว่าคนไทยและสนใจต่อความอยู่รอดของประเทศชาติบ้านเมือง ล้วนเห็นในทำนองเดียวกันว่า ขบวนการทุจริตคอรัปชั่นเป็นหายนะอย่างใหญ่หลวงและกำลังกัดกร่อนสังคมไทย โดยเฉพาะนิยามคำว่า "โกง" ที่ถูกทำให้เห็นและยอมจำนนว่า โกงบ้างไม่เป็นไร ขอเพียงให้ตัวเองได้รับประโยชน์บ้าง หรือโกงแล้วแบ่ง ก็ไม่ถือว่าหนักหนาสาหัส  ซึ่งล้วนแต่หมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมสำนึกอันเป็นมาตรฐานและบรรทัดฐานที่พึงกระทำและพึงปรารถนา
    ความหมายของการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเป็นทางการ มีมากมายที่จะเลือกใส่ใจและเฟ้นหามาอรรถาธิบาย อาทิ ทุจริตคือ การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ชั่วช้าและฉ้อโกง โดยเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงกฎหมาย รวมทั้งการกระทำที่ขัดต่อตำแหน่งหน้าที่และสิทธิของผู้อื่น นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งประชาชนไว้วางใจกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยการรับหรือยอมรับประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น, การทุจริต (Corruption) หมายถึง การทำลาย การละเมิดกฎหมายและจริยธรรม รวมถึงการละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ที่จะต้องกระทำ, การทุจริต หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง (Corruption) หมายถึง การผูกขาดอำนาจ หรือรวมอำนาจไว้ ที่แหล่งเดียว ประกอบกับการตัดสินใจที่ขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจคนคนนั้นเป็นสำคัญ เป็นต้น
    วิธีคิดและวิธีทำที่ถูกต้อง เหมาะสม และสมควรที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจรัฐ ผู้นำทางความคิดในทุกระดับของสังคม จะต้องพูดและกระทำเป็นต้นแบบ หรือตัวอย่างที่ดี นั่นคือ การยอมไม่ได้กับคำว่า "โกง" และต้องประณามแนวคิด พฤติกรรม ที่เป็นปรากฎการณ์ที่น่าอัปยศอดสูอย่างน่ารังเกียจที่สุด ในการบัญญัติ "ความโกง" ว่า ปล่อยให้เกิดขึ้นได้หากปริมาณนั้นมีแค่ 20 % ด้วยเหตุผลว่า สามารถยอมรับได้ถ้าอีก 80% ถึงมือเกษตรกรชาวนา ทั้งๆ ที่หลักธรรมาภิบาล หลักจริยธรรมนักบริหาร คุณสมบัติความเป็นผู้นำ และคุณภาพการเป็นข้าราชการ ทั้งการเมืองและข้าราชการประจำนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใด มียศถาบรรดาศักดิ์ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน สูงส่งอยู่บนหอคอย ล้วนต้องมีนิยามความโกงเป็นมาตรฐานเดียวกัน นั่นคือ ต้องไม่ยอมจำนน และต้องปฏิเสธทุกรูปแบบ  
    ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอาจจะเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาเป็นเวลานาน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา จะมีความแตกต่างกันที่ความรุนแรงของปัญหาว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่ไม่ใช่ปัญหาที่ไม่มีทางแก้ หรือเป็นปัญหาที่เราจะต้องยอมรับยอมจำนน เพื่อแลกเปลี่ยนหรือต่อรองผลประโยชน์มากน้อย 20% บ้าง 50% บ้าง เพราะเม็ดเงินที่ถูกโกงไม่ใช่เงินของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ และยิ่งเป็นการโกงสะสม ก็จะหมายถึงเงินในอนาคตของลูกหลานที่จะตามมาแบบไม่รู้จบอีกด้วย
    ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการร่วมต้านคอรัปชั่น ไม่ใช่สร้างภาพครั้งแล้วครั้งเล่า และหากคิดไม่ออกว่าจะสร้างต้นแบบการไม่โกงให้กับสังคมไทยอย่างไรนั้น ก็ลองอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใส่สมองและทบทวนสัก 10 รอบ ตามใจความว่า "ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าต้องให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต สุจริตและมีความตั้งใจ มุ่งมั่น สร้างความเจริญ ก็ขอต่ออายุให้ถึง 100 ปี ใครมีอายุมากอยู่แล้วก็ขอให้แข็งแรง ความสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตราย ภายใน 10 ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญต้องยึดความสุจริตให้สำเร็จและไม่ทุจริตเสียเอง”.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น