วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สุชาติ ศรีสุวรรณ : มันจะยุ่งกันไปใหญ่ เมื่อ 7 ต.ค.55



การเมืองยังอยู่ในโหมดของการหาเหตุมาทำลายคู่ต่อสู้ มากกว่าจะหาทางช่วยกันสร้างสรรค์ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ

ในโหมดนักการเมืองทั้งที่อยู่ในสภา และนักการเมืองนอกสภา ที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลมีหน้าที่จะต้องหาเรื่องมาเล่นงานรัฐบาลให้ได้ไม่ช่องทางใดก็ช่องทางหนึ่ง

ที่เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตมโหระทึกขณะนี้คือ การถล่มนโยบายรับจำนำข้าว 

ความจริงการโจมตีนโยบายรับจำนำข้าวนี่ เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่และรุนแรง เนื่องจากว่าการค้าข้าวของประเทศไทยมีผลประโยชน์ซ่อนอยู่มหาศาล 

และเนื่องจากกลุ่มผู้มีผลประโยชน์อยู่กับวงการมานาน จึงเป็นกลุ่มที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง สามารถที่จะใช้เครือข่ายจัดการผลประโยชน์อย่างได้ผล

รัฐบาลไหนที่รับจำนำข้าวและไม่เอื้อผลประโยชน์ให้ย่อมถูกถล่ม ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

แต่ที่ผ่านมา แม้จะถูกโจมตีอย่างไร หากรัฐบาลยังยืนยันนโยบายและควบคุมการทุจริตไม่ให้เป็นปัญหาใหญ่โตจนฉาวโฉ่ ก็สามารถประคับประคองไปได้

เพราะประเทศเราต้องเข้าแทรกแซงราคาข้าว เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรอยู่แล้ว ต่างกันที่ใครจะเลือกใช้ประกันราคาข้าว หรือรับจำนำข้าวเท่านั้น

ที่ผ่านมา การโจมตีเรื่องนี้จึงไม่เป็นเรื่องซีเรียสถึงขนาดที่จะทำให้รัฐบาลต้องสั่นสะเทือน

แต่เที่ยวนี้ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะแม้แต่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร แสดงความเป็นห่วงว่าการรับจำนำข้าวจะทำให้รัฐบาลล้ม

ซึ่งหากเมื่อก่อน ความกังวลแบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว

ปมปัญหาสำคัญอยู่ที่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า รับจำนำข้าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่Ž

ประเทศไทยเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แบ่งอำนาจอธิปไตยเป็น 3 อำนาจ คือ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ 

จำนำข้าวŽ ดูยังไงก็เป็นเรื่องของอำนาจบริหาร 

แต่เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบทบัญญัติว่าด้วย แนวนโยบายแห่งรัฐŽ ไว้กว้างขวางครอบคลุมเกือบทุกงานของรัฐบาล นอกจากนั้นยังมีบทบัญญัติว่าด้วย สิทธิเสรีภาพŽ ไว้สารพัดเรื่อง

รับจำนำข้าวŽ จึงถูกเสนอให้ตีความว่าขัดกับนโยบายเรื่องการค้าเสรีหรือไม่

เป็นการเมืองและผลประโยชน์ทางธุรกิจที่รุกเข้ามาใช้รัฐธรรมนูญในการเล่นเกมเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล

ว่าไปแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญรับที่จะตีความ เป็นไปได้สูงยิ่งที่เรื่องอื่นๆ จะต้องถูกยื่นเข้ามาอีกจำนวนมาก

เหตุก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมงานของรัฐบาลไว้ทั้งหมดในเกือบทุกเรื่อง ในหมวดที่ว่าด้วย แนวนโยบายแห่งรัฐŽ และ สิทธิเสรีภาพŽ

และการเมืองไทยยังก้าวไม่พ้นโหมดที่พยายามหาเครื่องมือมาทำลายซึ่งกันและกัน

หาก รับจำนำข้าวŽ กลายเป็นเรื่องอ่อนไหวระดับที่ทำให้รัฐบาลถูกกล่าวหาว่ากระทำในสิ่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งโทษรุนแรงถึงขั้นต้องพ้นจากหน้าที่

ศาลรัฐธรรมนูญรับตีความเมื่อไร

การใช้อำนาจบริหารจะมีปัญหาตามมาอีกสารพัดทันที เพราะฝ่ายตรงกันข้ามไม่ต้องทำอะไรแล้ว เพียงแค่เอางานของรัฐบาลที่ทำไว้แต่ละเรื่องมาวาง แล้วเอาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจับ หาว่ามีอะไรที่น่าจะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญบ้าง 

จากนั้นตั้งเรื่องเสนอศาลรัฐธรรมนูญตีความ 

รัฐบาลก็เดี้ยงแล้ว

เพราะแม้จะมั่นใจว่าไม่ทำผิดกฎหมาย

แต่บทเรียนจากการถูกยุบพรรคถึง 2 ครั้ง และล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่

คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลมั่นใจหรือว่า 

ศาลรัฐธรรมนูญŽ จะตีความไม่ไปในทางที่ตัวเองมั่นใจ

รัฐบาลกำลังเดินอยู่บนความหวั่นไหว จนกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น