วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

36 ปี - 6 ตุลาฯ 2519 มหากาพย์′′ความรุนแรง′ เมื่อ 7 ต.ค.55



เกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ?

หลายคนอาจตั้งคำถามนี้ และอาจไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องมีการจัดงานรำลึกทุกปี? 

อาจเป็นเพราะเหตุการณ์นี้ ไม่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการในแบบเรียนประวัติศาสตร์การเมือง สังคมศาสตร์ แทบจะไม่ลงลึกในรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง 

ทำให้คนรุ่นหลังที่โตมาพร้อมกับสื่อสมัยใหม่ เป็นผู้เสพสื่อแต่เพียงอย่างเดียวจึงไม่ค่อยรู้จักเหตุการณ์นี้

หรือบางคนอาจหลงลืมไปแล้วอย่างที่รัฐไทยต้องการให้ "ลืม"

เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นการสร้างสถานการณ์ป้ายสีนิสิตนักศึกษาที่เป็นหัวหอกเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม ในสมัยหลัง 14 ตุลา 2516 โดยอ้างเรื่องหมิ่นสถาบัน ใส่ร้ายเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วเข้าล้อมสังหารอย่างโหดร้ายทารุณที่ธรรมศาสตร์ สนามหลวง และท่าพระจันทร์ เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ก่อนปิดท้ายด้วยการรัฐประหาร ปิดฉากยุคประชาธิปไตยในวันเดียวกัน

นักศึกษาต้องหนีเข้าป่าจับปืนร่วมรบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กว่าจะออกจากป่าก็อีกราว 4-5 ปีต่อมา

ครบรอบ 36 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คณะกรรมการจัดงาน ได้จัด "สัปดาห์รำลึก 36 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยประชาชน"

ตั้งแต่เช้าตรู่วันเดียวกันนี้ ได้ทำพิธีสงฆ์เลี้ยงพระ 19 รูป ที่หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ มี "สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวเปิดงาน 

ก่อนจะตามด้วยคำกล่าวสดุดีไว้อาลัยของญาติๆ ผู้เสียชีวิต อาทิ "คุณพ่อจินดา ทองสินธุ์" พ่อของ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" นักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ถูกสังหารและลากศพไปตามสนามฟุตบอล แต่สุดท้ายกลับไม่พบศพของจารุพงษ์ จนกระทั่งบัดนี้ "คุณแม่เล็ก" มารดา"มนู วิทยาพร" นักศึกษารามคำแหงที่เสียชีวิต 

นอกจากนี้ยังมี "จรัล ดิษฐาอภิชัย" อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, "นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช" ตัวแทนคณะกรรมการจัดงาน 20 ปี 6 ตุลา, "วัฒน์ วรรลยางกูร" ตัวแทนเครือข่ายเดือนตุลา และประชาชนมาร่วมงานมากถึง 500 คน ซึ่งนับว่ามากกว่าทุกครั้ง

"พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์" อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในหัวข้อ "6 ตุลา 2519 กับอุดมการณ์คนรุ่นหลัง 6 ตุลา" ตอนหนึ่งว่า การสร้างความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ยังสรุปชัดเจนไม่ได้ว่าจะไปในทางบวกหรือทางก้าวหน้า คำว่า "16 ตุลา" จึงเกิดขึ้นมาจากความเข้าใจที่รวมเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 และ 6 ต.ค. 19 เอาไว้ในโครงเรื่องเดียวกัน ที่นักศึกษาลุกฮือขึ้นต่อต้านเผด็จการทหาร 

พิชญ์กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ต.ค. 19 มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงจากรัฐ รวมถึงมีการปลุกระดมอย่างต่อเนื่องโดยสื่อมวลชนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และการใช้ข้อกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นคน "อื่น" ไม่ใช่คนไทย และไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ

ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเดียวกัน เกิดขึ้นซ้ำซ้อนเหมือนเราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์

พิชญ์กล่าวอีกว่า การที่มีผู้เห็นต่างทางความคิดทางการเมือง ภายใต้การบีบคั้นจากกฎหมายความมั่นคงและกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รัฐก็ยังไม่มีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดหลากหลาย 

"โดยสรุปโจทก์ใหญ่ของวันที่ 6 ต.ค. 19 และ 6 ต.ค. 55 สำหรับผมยังคงอยู่ที่บรรยากาศของความรู้สึกไม่ว่าความรุนแรงกำลังจะเกิดขึ้น หรือถูกกล่าวหาว่าเห็นต่าง บ้านเมืองไม่มีอะไรที่จะป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้" พิชญ์ กล่าว 

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องค้นหาความจริง ทำให้เรื่องราวที่คลางแคลงใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกดดันด้วยการนำหลักฐานมาเปิดเผยอย่างโปร่งใส ทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น มากกว่าที่จะมาอธิบายว่าทุกฝ่ายมีส่วนผิดกันหมด

สำหรับบรรยากาศในช่วงบ่าย 

ด้านหน้าของเวทีงานจัดเสวนามีการแต่งกายล้อเหตุการณ์เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ อาทิ คนถูกผูกคออยู่ใต้ต้นไม้ มีการขายหนังสือที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา, ฉายวีดิทัศน์เหตุการณ์ ก่อนปิดงานด้วยการแสดงละคร "จันตุลา" ซึ่งเป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่หัวหน้าครอบครัวพยายามจะลืมว่าเคยมีลูกชายที่เสียชีวิต

"วิภา ดาวมณี" กรรมการคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าเกี่ยวกับคน 6 ต.ค.19 กว่าจะมีการรื้อฟื้นหาที่ยืนให้ก็ผ่านมาถึง 16 ปีแล้ว 

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการเข่นฆ่าที่โหดร้ายทารุณ ทำให้คนส่วนหนึ่งมีบาดแผล และคิดอยากจะลืม มีรายชื่อผู้เสียชีวิต 33 คน แต่มีคนตายจริงๆถึง 41 คนและกลายเป็นว่าตัวเลขเป็นทางการสืบไม่ได้ 

"แต่ที่ญาติไม่ออกมาเรียกร้อง ส่วนหนึ่งเพราะผู้เสียชีวิต สูญหาย รวมถึงที่ต้องหลบหนีเข้าป่าถูกข้อหาร้ายแรง ไม่ว่าจะมีทั้งการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ กบฏ หรือแม้แต่ล้มล้างสถาบัน ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ญาติๆ วีรชนจะต้องให้ความสนใจ กล้าเรียกร้องในสิ่งเหล่านี้ ทำความจริงให้ปรากฏขึ้นมา" 

เป็น 36 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

เป็น 36 ปีที่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบเข่นฆ่าประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้น แต่เหมือนเราจะไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ และก็ทำให้มีการล้อมปราบ เข่นฆ่า มีความตายเกิดขึ้นอีกจนได้ในเหตุการณ์เดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553

เราไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น