วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สังเวยคดี "คุณสมบัติต้องห้าม" ชะตากรรม 3 หัวหน้าพรรค "ชินวัตร" เฟ้นตัวตายตัวแทนสู้คดีการเมือง เมื่อ 7 ต.ค.55



รายงานพิเศษ


ในที่สุด ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ก็พ้นจากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามรอยอดีต 3 หัวหน้าพรรค ที่ต้องสังเวยตำแหน่งด้วยเหตุแห่งศาลรัฐธรรมนูญ 

กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้ต้องคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่กว่าจะรอดพ้นไปได้ ต้องโดนมีดคดีซุกหุ้นปักหลังอยู่เกือบครึ่งรัฐบาล แม้พ้นวิบากกรรม ยังต้องถูกตามล้างด้วยคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน และยุบพรรคไทยรักไทย 

เมื่อสมาชิกพรรคหนีตายไปเกิดใหม่ ในนามพรรคพลังประชาชน พ.ต.ท.ทักษิณ มอบความไว้วางใจให้กับ นายสมัคร สุนทรเวช รับไม้ต่อเป็นหัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรีได้ 8 เดือน ก็ต้องมีอันเป็นไป ในคดี "ชิมไป บ่นไป" และลูกจ้างรายการ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" 

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 3 วัน ก็ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน 

ส่งผลให้คนในครอบครัวเขย "ชินวัตร" นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก้าวขึ้นรักษาการหัวหน้าพรรคแทน และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เพียง 3 เดือน ก็ต้องถูกวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ ให้พ้นจากตำแหน่งโดยปริยาย เพราะเหตุแห่งการถูกยุบพรรคพลังประชาชน 

กรณีของ นายยงยุทธ แม้เขาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีดีกรีหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้สมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วนหมายเลข 2 รองจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

หลังจากถูกกดดันจาก 2 พี่น้องใน "ชินวัตร" ต้องลาออกจาก 2 ตำแหน่งใหญ่ ให้พ้นจากคณะรัฐมนตรี เพียง 3 วัน เขาก็เดินตามรอยนายสมัคร ด้วยการลาออกจากทุกตำแหน่งทางการเมือง พ้นจากการเป็นหัวหน้าพรรค และ ส.ส.คว่ำทีมกรรมการบริหารพรรคทั้ง 18 คน พ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย 

แกนนำพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์ 2 ปัจจัย ที่ทำให้ยงยุทธต้องจากไปก่อนเวลาอันควร 

ปัจจัยแรก มาจากความคับแค้นใจส่วนตัว ที่ถูกกดดันให้ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงคิดวางมือทางการเมืองด้วยวัย 70 ปี และที่ผ่านมาถือว่าพรรคได้ปูนบำเหน็จรางวัลชีวิตไปแล้วอย่างเหลือล้น 

ปัจจัยที่สอง มาจากการกำหนดยุทธวิธีทางการเมืองของพรรคและรัฐบาล โดย พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคเห็นร่วมกันว่า เหตุการณ์ได้เดินมาถึงจุดที่ไปต่อยาก จึงต้องการตัดปัญหา และตัดปัจจัยลบทางการเมือง ให้พ้นพรรค พ้นรัฐบาล ซึ่งหากนายยงยุทธพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และ ส.ส. ก็จะทำให้คดีที่จะถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ "คุณสมบัติต้องห้าม" ถูกระงับไปในที่สุด 

นอกจากป้องกันเหตุถูกสั่งพักการเมือง 5 ปี ยังสามารถป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดกรณีซ้ำรอยถูกยุบพรรคเพื่อไทยตามไปด้วย 

"ภูมิธรรม เวชยชัย" ผู้อำนวยการพรรค บอกเหตุ-ผล ของการพ้นภัยการเมืองของยงยุทธว่า นายยงยุทธจะลาออกจากหัวหน้าพรรค แต่ก็ไม่ส่งปัญหาต่อพรรค เพราะยังมีรองหัวหน้าพรรคที่สามารถรักษาการแทนได้ จากนี้ไปจะมีประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อกำหนดตัวรองหัวหน้าพรรคขึ้นรักษาการแทน 

จากนั้นกรรมการบริหารพรรคจะกำหนดวันประชุมวิสามัญใหญ่พรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ภายใน 60 วัน ตามข้อบังคับของพรรค

"ภูมิธรรม" ปฏิเสธเหตุปัจจัยลบของยงยุทธว่า ไม่ได้มาจากการบีบของคนในพรรค แต่เป็นการแสดงสปิริต เพื่อไม่ให้พรรคเพื่อไทยถูกโจมตีรายวัน

"เป็นความสมัครใจของนายยงยุทธเอง เพราะไม่ต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามนำประเด็นเรื่องข้อกฎหมายมาโจมตีพรรคจนทำให้เกิดความบานปลาย และไม่ยอมเอาเวลาบริหารประเทศมาเสียเวลากับการตอบโต้ข้อกฎหมาย จึงทำให้นายยงยุทธตัดสินใจลาออก"

สำหรับรายชื่อรองหัวหน้าพรรค ที่อยู่ในข่ายขึ้นมานั่งเก้าอี้รักษาการหัวหน้าพรรคแทน "ยงยุทธ" มี 3 ชื่อตัวเต็ง 1.ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ 2.พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม 3.กิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ อดีต รมช.คมนาคม 

อย่างไรก็ตาม การลาออกจากหัวหน้าพรรค พ่วงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 2 ของ "ยงยุทธ" ต่อหน้าสาธารณชน เท่ากับว่ามีผลทางกฎหมายทันที ก็ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องดัน "มาลินี อินฉัตร" ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 71 ขึ้นมาแทนที่

ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่พ้นจากตำแหน่งตาม "ยงยุทธ" โดยอัตโนมัติมีทั้งสิ้น 17 คน ประกอบด้วย 1.กิตติศักดิ์ 2.ปลอดประสพ 3.พล.ต.ท.ชัจจ์ 4.คณวัฒน์ วศินสังวร 5.พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ 6.พล.อ.วรวิทย์ ชินะนาวิน 7.จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม 8.วิมล จันทร์จีราวุฒิกุล 9.นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ 10.พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ 11.เอกธนัช อินทร์รอด 12.พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ 13.ปรีชา ธนานันท์ 14.ภาคิน สมมิตร 15.วิม รุ่งวัฒนจินดา 16.จักรพงษ์ แสงมณี 17.วรวีร์ มะกูดี

แหล่งข่าวในเพื่อไทยประเมินคุณสมบัติ ผู้เหมาะสมเข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนต่อไป ว่าต้องจัดคุณสมบัติพิเศษ 

ต้องทั้ง "กล้าและบ้าบิ่น" มีลักษณะเป็น "ตัวตายตัวแทน" ให้พรรค มากกว่า "ใกล้ชิดนายใหญ่" เพียงอย่างเดียว เพราะคุณสมบัติด้านเดียวทำให้พรรคถูกยุบมาแล้ว 2 ครั้ง 

ความเป็นไปได้ที่จะส่ง "ตัวจริง" ขึ้นเป็น "หัว" พรรคเพื่อไทย จึงมีความเป็นไปได้ต่ำ เพราะต้องจัดกำลังรับมือ "คดีเก่า" ที่ค้างศาลรัฐธรรมนูญ เกินกว่าจะรับความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคเป็นครั้งที่ 3 

โดยเฉพาะ "คดีซื้อสื่อ" ที่ประชาธิปัตย์ ไม่ยอมให้คาอยู่แค่ในคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ต้องการขย่าขวัญคนเพื่อไทย ซึ่งกฎหมายของพรรค ต่างประเมินปัจจัยลบสุดขั้ว หากลากถึงศาล "โอกาสถูกยุบมีมากเกินครึ่ง"

ดังนั้นกลเกมที่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) วางไว้ ถือว่าสิ้นสุดภารกิจ แต่ไม่สัมฤทธิผลตามที่ต้องการ ถือว่าสำเร็จเพียงแค่กึ่งหนึ่ง

สำเร็จผลไปแค่เป้าระยะสั้นที่ต้องการปลดระวาง "ยงยุทธ" ให้หลุดออกจาก "ส.ส.-หัวหน้าพรรค" แต่ทำให้แผนระยะไกลที่วางไว้ต้องเงียบลงไปด้วยเช่นกัน 

เพราะครั้งนี้ นอกจากจะลากชื่อ "ยงยุทธ" ให้หลุดออกจากทุกตำแหน่ง  ปชป.หวังยิงเป้าไกลไปถึงตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี และยุบพรรคเพื่อไทย

ทีมกฎหมาย ปชป.วิเคราะห์ว่า เป็นการหยุดแผนลงชั่วคราว แต่ไม่ถือว่าทิ้งอย่างถาวร เพราะยังมีช่องในการบีบคั้นความผิดให้ใช้อีกหลายทาง โดยเฉพาะข้อเท็จจริงเรื่องการรับเงินบำเหน็จบำนาญตั้งแต่ที่มีคำสั่งไล่ออก เป็นต้น

ทั้งนี้หากข้อมูลยังไม่ครบ จนไม่สามารถรุกล้อมเอาผิดได้ ทีมกฎหมาย ปชป.เห็นว่า ควรยุติเรื่องนี้ไว้ก่อน โดยเฉพาะตอนนี้ที่กระแสเรื่อง "สมาชิกภาพ" ทั้งหมดของนายยงยุทธยังติดลมบน พรรคจึงไม่ต้องรีบร้อนรุกหนักอะไร

การลาออกจากทุกตำแหน่งของยงยุทธ แม้เป็นการตัดสารพัดปัจจัยลบให้หมดจากพรรค ล้างมลทินให้รัฐบาล 

แต่คดีที่ยังคาศาล อาจทำให้ทั้งยงยุทธและพรรคเพื่อไทยไม่พ้นภัยการเมือง เพราะเป้าหมายสุดท้ายที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งไว้ อย่างน้อยยงยุทธต้องถูกตัดสิทธิ 5 ปี และมีคดียุบพรรคติดปลายนวม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น