วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ใกล้วิกฤติก็คิดถึงเศรษฐกิจชุมชน 15 October 2555 - 00:00




ใกล้วิกฤติก็คิดถึงเศรษฐกิจชุมชน

 พิทยา ว่องกุล
    ปัญหานโยบายประชานิยมที่กำลังพ่นพิษอยู่ขณะนี้ ดูเหมือนจะไม่มีทางออก และผลเสียนั้นประเทศไทยจะเผชิญวิบัติภัยทางเศรษฐกิจการเมืองหรือไม่? เป็นปัญหาที่ใครๆ ก็พูดถึงกันให้แซดด้วยความห่วงใย หวาดเกรงว่าประเทศไทยจะล้มทั้งยืน เมื่อนโยบายประชานิยมบางเรื่องของรัฐบาลโคลนนิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการจำนำข้าวทุกเมล็ด 15,000 บาทต่อเกวียน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่จะทำให้ข้าวทั้งระบบเสียหายอย่างยับเยิน แล้วไปกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศ  จากนั้นก็ตีชิ่งไปกระแทกทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจระเนนระนาดและแตกกระจายไปทั่ว... รอวิกฤติหนักไปสู่ความล้มเหลวของประเทศไทยที่จะมาถึง
    เหตุแห่งภัยพิบัติ คือ ข้าวเป็นฐานความมั่นคงทางอาหาร  เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของคนไทย นโยบายจำนำข้าวราคาสูงกว่าตลาดโลก ทำให้ประเทศคู่ค้าหันไปซื้อจากประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่า จนเหลือเก็บไว้มากมาย และรัฐบาลใช้เงินประกันไปแล้วประมาณ 1.9 แสนล้านบาท เพื่อข้าว 6.95 ล้านเกวียน และมีพิรุธว่าข้าวจำนวนนี้ยังส่งออกไม่ได้ โดยเฉพาะการที่รัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ยิ่งทำให้เชื่อว่าขายไม่ได้จริงๆ และขณะนี้ ข้าวจำนวนนี้กำลังกลายเป็นข้าวเก่าและแข็ง ราคาจะตกฮวบลงไป เมื่อข้าวใหม่กำลังจะออกมา ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะใช้เงินอีกหลายแสนล้านบาทจำนำข้าวอีกเช่นเดิม ทำให้มีข้าวเหลือเพิ่มอีกจำนวนมากในปีหน้าทั้งข้าวเก่าและข้าวใหม่ ผลจากปริมาณที่ล้นเกินยิ่งทำให้ราคาข้าวเก่าทรุดหนัก และกระทบต่อราคาข้าวใหม่ที่ต้องขายถูกๆ เนื่องจากความจำเป็นต้องระบายออก มิฉะนั้นจะกลายเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ และรัฐบาลขาดทุนมากมหึมาอย่างไม่หยุดยั้งในปีต่อไป เพราะปัญหาราคาข้าววิบัติรออยู่ และเป็นวิบัติของชาวนา  และงบประมาณแผ่นดินตามมา   
    ผมเจอนักวิชาการหลายคนในสถานการณ์ปัญหาจำนำข้าว  บางคนกระเซ้าเหย้าแหย่ผมว่า ฝ่ายเศรษฐกิจชุมชนจะทำอย่างไร หากผลกระทบนี้ตีกลับไปสู่ชาวนาและชุมชนชนบท และบางคนต่อว่า ผมละทิ้งความสนใจเรื่องเศรษฐกิจชุมชนไปแล้วหรือ?  จึงไม่มีผลงานออกมาเลย ผมเลยเอาคำพูดในหนังสือกำลังภายในของจีนตอบทีเล่นทีจริงไปว่า การกระทำของคนหรือจะสู้ลิขิตฟ้า
    อีกทั้งคิดเขียนบทความนี้ฟื้นฟูสาระของเศรษฐกิจชุมชน หรือธุรกิจชุมชนอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และวงวิชาการให้ความสนใจ ถึงกับเสนอเป็นทางออกหรือทางรอดจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 กระทั่งก่อให้เกิดกระแสการใช้เศรษฐกิจชุมชนขึ้นมาแก้ไขปัญหาวิกฤติครั้งนั้นผ่านพ้นไปได้ เพื่อกระตุ้นและเตือนว่า บางทีอาจจะต้องใช้แนวคิดเศรษฐกิจชุมชนแก้ไขวิบัติภัยทางเศรษฐกิจของชาติ เนื่องจากพิษร้ายนโยบายประชานิยมงี่เง่ากันอีกครั้งหนึ่ง  
    ผมยังจำได้ วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ปัญหาใหญ่ที่สำคัญยิ่งของเศรษฐกิจชุมชน ได้แก่ ในสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ หน่วยงานรัฐหรือนักการเมืองพยายามลากหรือกำหนดเอา “ธุรกิจชุมชน”มาใช้ตามแบบที่ตนคิดว่าจะเป็น เพื่อสนองประโยชน์ของหน่วยงาน พรรคพวก พรรคการเมือง มีการเสนอนโยบายธุรกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจชุมชนขึ้นมาใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างภาพทางการเมือง รวมไปถึงการตอบสนองความต้องการของเจ้าหนี้ต่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ อันเนื่องจากกรณีพันธสัญญาเงินกู้ที่กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนอย่างรุนแรง จึงเสนอให้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบนั้นในช่วงระยะสั้น ซึ่งมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้คุณค่าหรือปรัชญาของธุรกิจชุมชนบิดเบือนไปจากกระบวนการพัฒนา
    จากการศึกษาเราสามารถจำแนกธุรกิจชุมชนในสังคมไทยออกเป็น 2 ประเภท หรือแนวคิด ได้แก่ ธุรกิจชุมชนแบบปันผลนิยม ธุรกิจชุมชนแบบชุมชนนิยม (หรือธุรกิจชุมชนแบบองค์รวม) และเครือข่ายธุรกิจชุมชน
    1) ธุรกิจชุมชนแบบปันผลนิยม เป็นแนวความคิดที่ส่งเสริมสนับสนุนการรวมตัวของชาวบ้านในชุมชนขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจชุมชนที่ตั้งอยู่บนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งการประกอบการจะมีเป้าหมายที่ดอกผลหรือดอกเบี้ยเป็นกำไร   เพื่อนำมาปันผลเป็นเงินให้แก่สมาชิก แนวความคิดนี้ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานราชการจากกระทรวงหลักที่เข้าไปพัฒนาชนบท ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนที่องค์กรพัฒนาเอกชนบางส่วนเข้าไปดำเนินงาน
    จุดประสงค์ของธุรกิจชุมชนแนวนี้ เน้นการรวมตัวทำการผลิตเพื่อขาย แสวงหากำไรเพื่อแบ่งปันกันภายในกลุ่ม ยึดถือเงินตราหรือรายได้เป็นเป้าหมาย เป็นระบบธุรกิจของชุมชนหรือกลุ่มที่ขึ้นต่อการชี้นำ การจัดระเบียบการบริหารจัดการ การส่งเสริมทุนและควบคุมโดยองค์กรรัฐ นอกจากนี้ องค์กรรัฐยังนำกลุ่มหรือองค์กรชุมชนไปพึ่งพิงกับองค์กรรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงิน ซึ่งเจริญเติบโตได้ด้วยดอกเบี้ยหรือดอกผลจากธุรกิจชุมชนทั่วประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
    ปัญหาการเป็นเจ้าของธุรกิจชุมชน หรือการบริหารจัดการธุรกิจชุมชน ถ้าพิจารณาจากหลักการหรือการจัดตั้งอย่างผิวเผิน  จะดูเสมือนว่า เป็นบทบาทและหน้าที่ของชุมชนเอง แต่ถ้ามองในแง่ของการสนับสนุน ความคิดชี้นำ ระเบียบ และการบริหารจัดการแล้ว จะมาจากนโยบาย แผนงาน หรือการเข้าไปดูแลควบคุมโดยเจ้าหน้าที่พนักงานขององค์กรรัฐ ยิ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐมากเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่จะเข้าไปควบคุมดูแลตามกฎระเบียบมากขึ้นเท่านั้น ทำให้เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาตนเอง กลุ่ม สหกรณ์ หรือองค์กรชุมชน ล้วนตกอยู่ภายใต้กรอบการพัฒนาของหน่วยงานรัฐทั้งสิ้น
    2) ธุรกิจชุมชนแบบชุมชนนิยม เป็นแนวความคิดธุรกิจชุมชนที่ตั้งอยู่บนหลักความช่วยเหลือพึ่งพิงกันของสมาชิกในชุมชน ยึดถือความมีส่วนร่วมและสร้างศักยภาพในการพัฒนาตนเองของชุมชน เอาชุมชนเป็นเป้าหมายที่จะกระจายรายได้  สร้างสวัสดิการชุมชนเป็นสรณะมากกว่าการแบ่งปันดอกผลดอกเบี้ยจากการประกอบธุรกิจร่วมกัน 
      หลักคิดของธุรกิจชุมชนแบบชุมชนนิยมนี้ แตกต่างและสวนทิศทางกับหลักคิดเศรษฐศาสตร์ตะวันตก หรือมิฉะนั้นก็จะนำเอาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ หลักการบริหารจัดการของทุนนิยมมาปรับใช้เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนในการพัฒนาชุมชน โดยอาศัยหลักการสำคัญดังนี้
    กระบวนการพัฒนาที่เป็นชุมชนพึ่งตนเอง ชุมชนยึดหลักการสร้างตนเอง พึ่งตนเอง โดยมองเป็นกระบวนการพัฒนาจากเล็กไปสู่ใหญ่ สะสมจากน้อยไปสู่มาก การมีส่วนร่วมของสมาชิก และใช้วัฒนธรรมชุมชนเป็นตัวเชื่อมร้อยความหลากหลายหรือความแตกต่างของบุคคลเข้าด้วยกัน จนก่อให้เกิดเป็นพลังต่อรอง และสร้างศักยภาพชุมชนในการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง กระบวนการพัฒนาแบบนี้ก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมจากระดับล่างสู่บน ชุมชนเป็นเจ้าของ เป็นพระเอก และเป็นผู้กำหนดชะตากรรมชุมชนร่วมกัo ซึ่งแตกต่างจากการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ
    แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มักมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคคล ต้องการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ แต่หากศึกษาให้ลึกซึ้งจะพบว่า เป็นแนวทางที่ขัดกับธรรมชาติของชุมชนไทย (ธรรมชาติแบบองค์รวมพึ่งพากัน) ขัดกับวัฒนธรรมชุมชนที่เป็นรากเหง้าสังคม (สังคมเครือญาติและพวกพ้อง) และเป็นการสร้างอัตตาปัจเจกชนที่ขัดขวางการพัฒนาสังคม หากไม่เน้นการพัฒนาด้านจริยธรรมควบคู่ไปด้วย
    กระบวนการของชุมชนสร้างวงจรทุน เป็นหลักคิดของธุรกิจชุมชนแบบชุมชนนิยมที่สร้างพื้นฐานการพัฒนาแบบยั่งยืนให้เกิดขึ้นโดยอาศัยกระบวนการกลุ่ม เพื่อสร้างทุนพื้นฐานที่จำเป็นของชีวิต ได้แก่ ทุนโภคทรัพย์ (ทุนชีวิต หรือทุนแห่งชีวิต)เป็นฐานปัจจัยสี่ ควบคู่และเอื้อประโยชน์กับทุนในลักษณะอื่นๆ เช่น ทุนเงินตรา (กลุ่มออมทรัพย์) ทุนแรงงาน (กลุ่มลงแขก หรือซอมือ หรือแชร์แรง) ทุนธุรกิจการค้า (สหกรณ์ร้านค้าชุมชน) ทุนแรงงานฝีมือ (กลุ่มจักสาน ทอผ้า ปั้นหม้อ แกะสลักไม้) ทุนสวัสดิการ (กลุ่มสวัสดิการชุมชน กลุ่มฌาปนกิจ กลุ่มสมุนไพรพึ่งตนเอง รวมไปถึงการเอากำไรจากกลุ่มต่างๆ มาตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการแล้วนำไปลงทุนในกิจการใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยง โดยคิดว่าถ้ากิจการนั้นล้มเหลว ชุมชนก็ถือว่าไม่ขาดทุน) และทุนธุรกิจ-อุตสาหกรรมชุมชน (กลุ่มยามรักษาความสงบ  โรงสีชุมชน โรงงานยางพาราชุมชน โรงน้ำปลา โรงงานขนมจีน หรือห้องเย็นของชุมชน เป็นต้น)
     ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน การสร้างวงจรทุนชุมชนสามารถสร้างขึ้นได้จากทุนประเภทใดประเภทหนึ่งดังได้กล่าวมาแล้ว ตามความเหมาะสมของทรัพยากรและเงื่อนของแต่ละชุมชน แล้วจึงขยายไปสู่การสร้างทุนอื่นๆ ที่จำเป็นของชุมชน กลายเป็นวงจรทุนที่สร้างความมั่นคงแห่งการอยู่ร่วมกัน 
    ธุรกิจชุมชนแบบชุมชนนิยม จะสร้างระบบความมั่นคงทางด้านปัจจัยสี่ ระบบสถาบันการเงินของชุมชนที่เข้มแข็ง ระบบสวัสดิการชุมชน ระบบธุรกิจอุตสาหกรรมชุมชนที่พึ่งพิงตนเองได้ เหลือเท่าไรจึงขายให้ตลาดภายนอก พร้อมกับสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นภายในชุมชน มีระบบการสั่งสมมูลค่าส่วนเกินของชุมชนเพิ่มมากขึ้น และสามารถทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำเมื่อส่งสินค้าสู่ตลาดภายนอก โดยเฉพาะตลาดที่ยึดแนวทางเศรษฐกิจกระแสหลัก
    กระบวนการสร้างความมั่งคั่งชุมชนด้วยการลดรายจ่าย เป็นหลักคิดธุรกิจชุมชนแบบชุมชนนิยมที่ทวนกระแสเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม ซึ่งความมั่งคั่งมาจากการเพิ่มรายได้หรือการแสวงหากำไรสูงสุด ในขณะเดียวกันควรจะเข้าใจว่า ความหมายของคำว่า “ความมั่งคั่งของชุมชน” นั้น แตกต่างจากหลักคิดของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ยึดถือปริมาณเงินตราหรือทรัพย์สินเป็นสำคัญ
    ความมั่งคั่งของชุมชนในหลักเศรษฐศาสตร์ชุมชนนิยม มีความหมาย 3 นัยยะ ได้แก่ 1) ความมั่งคั่งจากความหลากหลายของภาคการผลิตจริงที่ชุมชนสามารถพึ่งพิงตนเองได้ โดยไม่ต้องซื้อจากภายนอกอันเป็นการนำเงินตราออกไปจากชุมชน  ยิ่งชุมชนสามารถนำเอาความหลากหลายของสินค้าที่ผลิตเองได้ มาใช้เป็นสวัสดิการชุมชนมากขึ้นเท่าใด ความมั่งคั่งของชุมชนจะเกิดมากยิ่งขึ้นเท่านั้น (หลักผู้บริโภคเป็นผู้ผลิต) พร้อมกับลดบทบาทความสำคัญของเงินตราให้น้อยลง ดังนั้น การสร้างวงจรทุนของชุมชนจะนำไปสู่ความมั่งคั่งเช่นนี้ได้ 2)ความมั่งคั่งของชุมชนมาจากวงจรทุน ทำให้ต้นทุนสินค้าชุมชนต่ำมาก อันเป็นผลจากระบบการผลิตและปรัชญาการผลิตแบบใหม่ที่ลดต้นทุน  เมื่อนำสู่ตลาดทุนนิยมจะได้อัตราส่วนต่างกำไรส่วนเกินสูง แม้จะขายได้ส่วนน้อยก็ไม่ขาดทุน หรือขาดทุนน้อย อันเป็นผลจากระบบความมั่นคงของชุมชนสร้างความมั่งคั่ง หรือนำไปสู่สภาวะไร้อำนาจเงินในชุมชน 3) ความมั่งคั่งของชุมชนเป็นระบบบุญนิยม หรือความมั่งคั่งสูงสุดเป็นภาวะการไร้เงินตราในชุมชน ซึ่งถูกแทนที่ด้วยจิตสำนึกระดับสูงกำหนดหน้าที่ บทบาทในการผลิต และความพอเพียงในการบริโภค แนวคิดในประการที่ 3 นี้  สมณะโพธิรักษ์ แห่งสันติอโศก ได้วางแนวทางพัฒนาขึ้น นับเป็นหลักธุรกิจชุมชนแบบชุมชนนิยมที่พัฒนามาจากคำสอนในพุทธศาสนาที่น่าสนใจยิ่งนัก
    จะเห็นได้ว่า ความมั่งคั่งของชุมชนในลักษณะดังกล่าว  เป็นหลักการลดรายจ่ายของสมาชิกและของชุมชนลงทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อรายจ่ายลด ในด้านตรงกันข้าม ผลย่อมปรากฏว่า รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นเองโดยปริยาย หรือจะพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจสูงสุด คือ เมื่อไม่มีรายจ่าย ย่อมไม่จำเป็นต้องใช้เงินในชุมชน  ปัญหาความเลื่อมล้ำระหว่างมนุษย์ก็ลดน้อยลงไปด้วย
    กระบวนการสร้างการผลิตเพื่อป้อนระบบตลาดเพื่อชุมชน (สินค้าที่ผลิตเหลือบริโภคจึงส่งออก หรือผลิตเลี้ยงตนเองได้แล้วจึงผลิตเพื่อขาย) เป็นหลักสำคัญของการดำเนินธุรกิจชุมชนแบบชุมชนนิยม เมื่อผู้นำชุมชนสามารถมองทะลุมายาภาพของเศรษฐกิจทุนนิยมปัจจุบัน ว่าเป็นระบบการครอบงำให้มนุษย์ขึ้นต่ออำนาจเงินทุนใหญ่ เอาแต่ละชีวิตไปผูกพันพึ่งพิงกับแหล่งรวมศูนย์เงินทุน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน (ธนาคาร)  ระบบธุรกิจอุตสาหกรรม และตกเป็นเบี้ยล่างหรือถูกเอารัดเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว เสมือนหนึ่งว่าทุกชีวิตต้องขึ้นต่อระบบการรวมศูนย์ทุนเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    การมองทะลุมายาภาพที่ครอบงำโดยระบบการรวมศูนย์ทุน ช่วยให้ชุมชนจำแนกแยกแยะขีดความสามารถในการผลิตของตน กับระบบธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่ได้อย่างกระจ่างชัด  พร้อมทั้งเห็นลู่ทางการตลาดใหม่ที่มีความหลากหลายสูง เป็นตลาดขนาดเล็ก เหมาะแก่การผลิตสินค้าที่ใช้ทุนน้อย สามารถสร้างงานใหม่ขึ้นในชุมชนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าเหล่านี้เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งแต่ละคนต้องจ่ายเงินที่หามาได้ซื้อเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งหมดแล้วเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ออกจากหมู่บ้านในทุกเดือน
    เหตุนี้ แนวความคิดจำแนกสินค้าที่ชุมชนผลิตเองไม่ได้  ต้องพึ่งระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็เกิดขึ้น ทั้งพบว่าสินค้าอุตสาหกรรมเหล่านั้น นานๆ จะใช้ครั้งหนึ่ง หรือซื้อสักชิ้นหนึ่งสามารถใช้ได้นาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องยนต์ สินค้าอุตสาหกรรมหนัก หรือเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ     สินค้าเหล่านี้ควรเป็นของบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูง  ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรทันสมัย
    ขณะเดียวกัน ยังมีสินค้าอีกมากมายที่ใช้บ่อยครั้งและจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ดูดเงินส่วนมากของชุมชนออกไปตลอดเวลา ได้แก่ สินค้าเกี่ยวกับอาหาร (แห้ง เค็ม หมักดอง หย็อง ป่น หรือสด) ขนม เครื่องกระป๋อง ยาสระผม สบู่ เครื่องดื่มประเภทต่างๆ สุรา ยาสีฟัน   เสื้อผ้า น้ำปลา ซีอิ้ว ซอส น้ำตาล เครื่องจักสาน ไห ตุ่ม จอบ  เสียม ผงซักฟอก ฯลฯ สินค้าเหล่านี้มีสูตรหรือวิธีการผลิตไม่ยาก ต้นทุนไม่สูง สามารถผลิตเป็นอุตสาหกรรมชุมชน หรือครัวเรือนผลิตเองได้
        ชุมชนที่มองทะลุผ่านมายาภาพระบบเศรษฐกิจเสรี ซึ่งอำนาจทุนใหญ่ครอบงำยึดครองระบบการผลิตสินค้าแทบทุกชนิด โดยอาศัยสื่อโฆษณาล้างสมองให้เชื่อในการบริโภคสินค้า  อาศัยหลักแบ่งงานกันทำเฉพาะ การส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างเดียว การผลิตสินค้าเดี่ยว เพื่อแบ่งแยกมิให้มนุษย์พึ่งพิงตนเองหรือชุมชนได้ มวลมนุษย์จึงต้องขึ้นต่ออำนาจการรวมศูนย์ทุนทั้งสิ้น
        เหตุนี้ หลายชุมชนในชนบทไทยที่เห็นสัจธรรม จึงหันมาสนใจประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมชุมชนที่ลงทุนน้อย หรือขนาดกลาง เพื่อเข้าแทนที่สินค้าชนิดเดียวกันของบริษัทอุตสาหกรรมใหญ่ ทั้งยังเป็นการสร้างงานให้กับสมาชิกในชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยมีตลาดภายในชุมชนเป็นหลัก เป็นตลาดเพื่อชุมชน   และลดทอนรายจ่ายของสมาชิกแต่ละคนลงมาก อีกทั้งป้องกันไม่ให้เงินก้อนใหญ่ถูกบริษัทอุตสาหกรรมดูดออกไป เงินจำนวนนี้จะค่อยสะสมเรื่อยๆ กลายเป็นชุมชนที่พึ่งตนเองได้ หรือเป็นชุมชนที่มั่งคั่งได้
    คงเสนอเป็นแนวคิดให้พิจารณากันกว้างๆ ได้แค่นี้ ขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยหรือรัฐไทยจะสนใจเศรษฐกิจชุมชนอย่างจริงใจหรือเปล่า?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น