วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ตามหาข้าว "จีทูจี ๘ ล้านตัน" เมื่อ 12 ต.ค.55



เรื่องข้าว มันเป็นเรื่อง "ความเป็น-ความตาย" ของประเทศ เพราะถ้าไม่สำคัญระดับนั้น ประเทศเราก็คงไม่มีวันพืชมงคล ไม่มีพระราชพิธีมงคล "จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" จริงไหม...ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และท่านรัฐมนตรีพาณิชย์ "บุญทรง เตริยาภิรมย์" เพราะฉะนั้น ควรแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด ดีกว่าจะมาตะแบงแถลงพูดเรื่องขายข้าวได้แล้วแบบศรีธนญชัย...ยุคแม้วกินเมือง!
    แต่ก่อนจะคุยกันเรื่องข้าว แวะคุยเรื่องฮิตประจำวันก่อนซักนิด คือเรื่องประมูล ๓ จี นั่นแหละ ก็จะเปิดประมูลกันอยู่รอมร่อในวันที่ ๑๖ ต.ค.๕๕ ที่จะถึงนี้แล้ว แต่ก็มีคนไปยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช.ต่อศาลปกครองกลาง ให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว และให้ยกเลิกการประมูลเสียก่อน 
    เมื่อวาน (๑๑ ต.ค.) ศาลได้เปิดไต่สวนฉุกเฉินไปแล้ว ผู้ถูกฟ้องคือ กสทช. และผู้ฟ้องคือ นายอนุภาพ ถิรลาภ ให้ปากคำไปแล้ว แต่ศาลยังไม่บอกว่าจะรับฟ้อง หรือไม่รับฟ้อง และทั้งยังไม่บอกด้วยว่า จะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่คุ้มครอง หากแต่บอกว่า ขอนำข้อเท็จจริงที่รับฟังจากทั้ง ๒ ฝ่ายเข้าประชุมองค์คณะก่อน
    สรุปก็คือ ตอนนี้ยังไม่รู้อะไรทั้งนั้น ศาลบอกเพียงว่า จะทำให้เสร็จเรียบร้อยโดยเร็ว แต่กำหนดนัดวันประมูล ทาง กสทช.กำหนดไว้แล้ว คือ ๑๖ ตุลา ได้เตรียมการไว้หมดแล้ว พูดง่ายๆ ว่า ประมูลวันนี้ก็ยังพร้อม 
    แต่ถ้าถึง ๑๖ ตุลา ศาลยังไม่ชี้ทางใด-ทางหนึ่ง ในความเห็นผม ทาง กสทช.ควรเปิดประมูล ๓ จี ไปตามกำหนด เพราะนี่เป็นทางที่ดีที่สุด ถ้าจะเสียเพราะศาลมีคำสั่งระงับ นั่นก็เสียน้อยกว่าการไม่เปิดประมูล เพราะตามกระบวนการศาล ยังมีช่องทางตามกฎหมายให้เดินไปได้อยู่ 
    ผิดกับไม่ประมูลตามกำหนด นั่นเสียทั้งมาตรฐาน เสียทั้งความรู้สึก เสียทั้งความน่าเชื่อถือประเทศ เมื่อกำหนดวันแล้ว มาถึงป่านนี้แล้ว ๑๖ ตุลา ถ้าศาลยังไม่มีคำสั่งอย่างหนึ่ง-อย่างใด...ลุยตามแผนเถอะครับ!
    "เครดิต-ความเชื่อถือ" มีค่าเหนือกว่าอะไรทั้งหมด สังคมโลก-สังคมมนุษย์ จากอดีตยันปัจจุบัน ตราบอนาคต ทุกสิ่ง-ทุกอย่าง เสื่อมได้ แม้กระทั่งค่าของเงิน-ค่าของทอง มีอย่างเดียวที่จะปล่อยให้เสื่อมไม่ได้เด็ดขาด นั่นคือ
    "ความน่าเชื่อถือ"!
    ในด้านงานที่ผ่านการไตร่ตรองและกลั่นกรองมาดีแล้ว ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดประโยชน์ประชาชน ประโยชน์ชาติเป็นตัวตั้ง นั่น...ผมเชื่อการกลั่นกรองกฎหมายของ กสทช.อย่างคุณสุทธิพล ทวีชัยการ และเชื่อการวางกรอบ ตลอดถึงกฎกติกาการประมูลของ กสทช.อย่าง พ.อ.ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ  ที่อาจเรียกได้ว่า เขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้โดยตรงจริงๆ
    กับเรื่องเทคโนโลยี ผมไม่รู้ (เรื่อง) แต่เรื่อง "ความน่าเชื่อถือ" ว่าการประมูล ๓ จี ครั้งนี้ ซื่อตรง-ไว้ใจได้ มุ่งประโยชน์ใหญ่คือประเทศชาติ ตรงนี้...ผมรู้ รู้จากประวัติ ผลงาน และโดยเฉพาะ ผมดูสีหน้า-ดูประกายตาทั้ง ๒ ท่านนี้แล้ว ด้วยความรู้สึกส่วนตัว ผมเชื่อ...
    คือเชื่อถือในความซื่อสัตย์ "ประกันเนื้องาน" ประมูล ๓ จี!
    เอ้า...จาก ๓ จี ก็มาเรื่องจีทูจีกันต่อ ๒ วันก่อน นายกฯ ยิ่งลักษณ์ กับนายบุญทรง คงติวเข้มเรื่องขายข้าวจีทูจีกันมาเต็มที่ ขนาดเต็มที่ยังพูดแบบคนสวมฟันปลอมว่า ทำเอ็มโอยูขายแล้ว ๗ ล้านตันบ้าง ๘ ล้านตันบ้าง มีประเทศนั้น-ประเทศนี้เป็นผู้สั่งซื้อ
    ครั้นถูกนักข่าวดักหน้า-ดักหลังว่า...ไม่จริงมั้ง เงียบเชียบ ไม่เห็นมีข่าวว่าประเทศไหนมาติดต่อซื้อขาย ถ้ามีบอกชื่อมาซิว่าประเทศไหน เอาสัญญิง-สัญญา ตลอดถึงราคาที่ตกลงขายกันมาดูกันหน่อยเป็นไร?
    ก็ข้างๆ ลงคูว่า ไม่ได้...เป็นความลับลูกค้า ครั้นถูกไล่เบี้ยเรื่องเอ็มโอยู เรื่องสัญญาตามกรอบจีทูจี ก็ตายกลางวง ทั้งไม่เป็นประสา ทั้งไม่มีอยู่จริง เมื่อวาน (๑๑ ต.ค.) นายบุญทรงคงไปทำการบ้านมาใหม่ แต่ยิ่งพูดยิ่งเหมือนจับนายกฯ จับตัวเอง "แก้ผ้ากลางตลาด" ดูซักแวบก็ได้ นายบุญทรงบอกว่า
    “เอ็มโอยูระบุกรอบปริมาณและระยะเวลาไว้กว้างๆ ภาพรวม ๘ ล้านตัน ส่งมอบภายใน ๓-๕  ปี หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องทำตามนโยบาย หลังจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปทำบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ไว้ ๘ ล้านตัน ก็เป็นหน้าที่ที่ของกรมการค้าต่างประเทศ จะต้องมาเจรจาจัดทำสัญญาซื้อขายกับประเทศเหล่านั้น ได้ข้อสรุปและนำไปสู่การทำสัญญาซื้อขายและเปิดแอล/ซี ดังนั้น จึงถือว่าคำแถลงของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่ได้พูดไปเป็นเรื่องจริง 
    ขณะเดียวกัน ก็จะต้องเจรจาขายข้าวกับประเทศที่มีเอ็มโอยูต่อไปอีก ๒  ประเทศคือ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพราะยังไม่มีการตกลง เพียงแต่ก่อนหน้านี้ ได้มีการทำสัญญาขายให้กับอินโดฯไปก่อนช่วงต้นปี ๓๐๐,๐๐๐ ตัน ซึ่งก็นับรวมอยู่ในยอด ๗.๓๒ ล้านตัน และชนิดข้าวที่ขายไปมีหลายชนิด และมีการนำเงินที่ได้จากการขาย ๔๒,๐๐๐ ล้านบาท คืนให้กับ ธ.ก.ส. แต่ก็ไม่สามารถให้ข้อมูลรายละเอียดของสัญญาการซื้อขาย และเปิดเผยแอล/ซีได้" 
    เอาล่ะ...ไล่จับไปทีละประเด็น ตามที่ผมขีดเส้นใต้ ภาพรวม ๘ ล้านตัน ส่งมอบภายใน ๓-๕ ปี นั่นคุณบุญทรงก็ยอมรับแล้วว่า เป็นแค่กรอบกว้างๆ ที่ยิ่งลักษณ์ไปประเทศไหนก็คุยจะซื้อ-จะขาย เออ-ออกันไปตามมารยาทเท่านั้น ไม่ต้องไปไกลถึงขั้นเปิด LC หรอก เอาแค่ประเทศผู้ซื้อมาพูดจาในรายละเอียดกับกรมการค้าต่างประเทศ ก็ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ
    ๘ ล้านตัน มันคือตันลม ไม่ใช่ตันข้าว และอีกอย่างที่ว่า "ตามกรอบ ๓-๕  ปี" นั่น...ข้าวที่ขาย มันก็ไม่ใช่ข้าวที่กว้านซื้อไว้ปี ๕๕/๕๖ มันเป็นเรื่องของข้าวในอนาคต แต่ถ้าใช่ข้าววันนี้ มันก็เป็นการ "ซื้อขายมอด" แล้ว ไม่ใช่ข้าวแน่     
    ในประโยคต่อมา คุณบุญทรงไม่ได้ออกมาพูดยืนยันว่าขายข้าวได้ ๘ ล้านตันจริง หากแต่มายืนยันเฉพาะว่า "ที่ยิ่งลักษณ์แถลงขายได้ ๘ ล้านตันนั้น...แถลงจริง" จริงตรงที่ว่า ไปเออๆ ค่ะๆ กับที่โน่น-ที่นี่ไว้ แต่การซื้อขายจริงๆ ยังไม่มีเลย!  
    สุดท้าย นายบุญทรงพูดทั้งแบบหักล้างกันเอง และทั้งมั่วเก่า-มั่วใหม่ บอกเอ็มโอยู่ ๒ ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์-อินโดฯ แล้วก็บอกว่า "ยังไม่มีการตกลง" จากนั้นก็มั่วนิ่ม ก่อนช่วงต้นปีทำสัญญาขายให้อินโดฯ ๓ แสนตัน ในยอด ๗.๓๒  ล้านตัน
    "ก่อนช่วงต้นปี" ก็หมายความว่าเป็นปลายปี ๒๕๕๔ แต่ปี ๕๔ พอเป็นรัฐบาลปุ๊บน้ำก็ท่วมปั๊บ อย่าว่าแต่ไปเซ็นสัญญากับใครเลย แค่ถลกขากางเกงยังแทบไม่มีเวลา แล้วไปแอบเซ็นกันตอนไหน นี่...ผมดูรายงานข่าวการซื้อข้าวของประเทศในอาเซียนแล้ว มันเป็นอย่างนี้
    อินโดนีเซีย-ต้นตุลา ๕๕ รอยเตอร์รายงานว่า นาย Sutarto Alimoeso  ประธาน BUlOG  ให้สัมภาษณ์ว่า อินโดฯไม่มีแผนการนำเข้าข้าวตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงสิ้นเดือน เม.ย.๕๖ และบอกว่า ถ้าจำเป็นต้องนำเข้าข้าว จะนำเข้าจากเวียดนามและอินเดีย ที่เสนอขายข้าวคุณภาพดีในราคาถูกกว่าแหล่งอื่น ซึ่งอยู่ระหว่างตันละ ๓๙๕-๔๓๐ เหรียญยูเอส ขณะที่ไทยเสนอขายข้าวชนิดเดียวกันในราคาตันละ ๕๘๕ เหรียญยูเอส และ BULOG ได้ขยายความตกลงที่จะซื้อข้าวจากเวียดนามไปจนถึงปี ๒๕๖๐ ด้วย 
    มาดูที่ฟิลิปปินส์บ้าง อ้างเขาเป็นตุเป็นตะว่าเป็นขาประจำข้าวไทย เมื่อ ๑  ต.ค. หนังสือพิมพ์ The Philipphines star ลงข่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์แถลง จะสามารถผลิตข้าวได้เพียงพอ หรือเกือบเพียงพอที่จะสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศภายในปี ๒๕๕๖ หากการผลิตภายในยังไม่พอก็คงไม่มากนัก  และจะลดการนำเข้าลงประมาณ ๒ ใน ๓ ของข้าวที่ต้องนำเข้า    
    ฟิลิปปินส์จะทำความตกลงซื้อจากประเทศผู้ส่งออกด้วยระบบจีทูจี ด้วยเหตุผลว่า จะได้ราคาที่ถูกกว่าซื้อจากเอกชน ที่ผ่านมาก็ตกลงซื้อจากเวียดนาม  เนื่องจากราคาถูกกว่าข้าวไทย ทั้งนี้ เห็นได้จากข่าวการนำเข้าข้าวระบบจีทูจีของฟิลิปปินส์ในปีนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นการนำเข้าข้าว ๒๕% จากเวียดนาม ตามสัญญาที่ตกลงซื้อกับเวียดนาม ๕๐๐,๐๐๐ ตัน ที่ลงนามไว้เมื่อเดือน มี.ค.๕๕ 
    เอาเท่านี้พอ ไม่อยากไล่เบี้ยต่อ ที่ว่าจะนำเงินที่ขายข้าวได้ ๔๒,๐๐๐ ล้านบาท คืน ธ.ก.ส.นั้น มันเงินจากซื้อขายข้าวให้กับประเทศไหน เมื่อไหร่ และจำนวนชัดๆ เท่าไหร่ รู้จำนวนตันจะได้ช่วยคำนวณเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงานให้ว่าซื้อข้าวเปลือกมาตันละ ๑๕,๐๐๐ แล้วที่ขายเป็นข้าวสารได้ ๔๒,๐๐๐  ล้านบาทนั้น
    มันกำไรหรือตูดกลวงไปขนาดไหน?
    และที่พูดว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลและรายละเอียดของสัญญาซื้อขาย  ตลอดถึงแอลซี อ้างความลับลูกค้านั้น แค่อ้าปากก็เห็นทะลุดากแล้วครับ ถ้าซื้อขายจริง ป่านนี้รัฐบาลเปิดทำเนียบฯ สั่ง ๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑, ทีเอ็นเอ็น ดาวเดียมแดง ถ่ายทอดเป็นโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ รัฐบาลเซ็นสัญญาขายข้าวเอาหน้ารอดระเบิดระเบ้อไปแล้ว
    การเมืองเพื่อการตลาด มีหรือจะพลาด "ยึดพื้นที่ข่าว" หรือไม่จริง?
    นี่...ขอติดการบ้านไว้ประเด็นหนึ่งก่อน ได้ยินทั้งรัฐมนตรี ทั้งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ "นางปราณี ศิริพันธ์" บอกว่า รูปแบบการขายข้าวจีทูจี  ๗ ล้าน ๘ ล้านตันนั้น เป็นการขายแบบ "ขายหน้าคลัง"!
    "ขายหน้าคลัง" คือผู้ซื้อต้องมาขนจากโกดังไปจัดการตามพิธีกรรมทั้งหมดเอาเองจนถึง ณ กราบเรือบรรทุกสินค้า ผมว่ามันชักทะแม่งๆ ไปกันใหญ่ แต่ขอยกยอดไปคุยวันต่อไปแล้วกัน. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น