วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ดันทุรัง'จำนำข้าว'เส้นทางเสี่ยง'ยิ่งลักษณ์' 08 ตุลาคม 2555 เวลา 08:40 น.




ดันทุรัง'จำนำข้าว'เส้นทางเสี่ยง'ยิ่งลักษณ์'

โดย...ธนพล บางยี่ขัน
นับเป็นสัญญาณการเตือนครั้งสุดท้ายจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เตรียมส่งเรื่องถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนโครงการรับจำนำข้าว หาทางอุดช่องโหว่ปิดทางทุจริตที่เริ่มผุดมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.เคยทำข้อเสนอไปยัง “รัฐบาล” ขอให้ทบทวนโครงการรับจำนำข้าว เพราะเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ท่ามกลางกระแสข่าวระแคะระคายว่ามีความผิดปกติ เริ่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ กลับเมินเฉย และยังยืนยันเดินหน้าฝ่าแรงเสียดทานเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวพร้อมการันตีว่าเป็นนโยบายที่ดี มีวัตถุประสงค์ต้องการยกระดับราคาสินค้าเกษตร ช่วยพี่น้องเกษตรกร
แม้จะยอมรับกลายๆ เรื่องความไม่โปร่งใส แต่ก็ปัดให้เป็นเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติงาน พร้อมโยนให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสถูกต้อง
ทว่ายิ่งเดินหน้า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งรุนแรง ทั้งในแง่ของความคุ้มค่ากับงบประมาณที่บานไปถึง 4.5 แสนล้านบาท การเปิดช่องให้เกิดการทุจริตในแทบจะทุกขั้นตอน มีเม็ดเงินตกไปถึงมือชาวนาเพียงแค่ 37% ตามข้อสังเกตจากนักวิชาการ
ยังไม่รวมกับประเด็นเรื่องการระบายข้าวจนไทยต้องเสียแชมป์การส่งออกให้เวียดนามและปมปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ เวียนเทียน ลักลอบนำเข้าจากชายแดนเกิดขึ้นหลายพื้นที่ จนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่หลายจุดเพื่อตรวจสอบความโปร่งใส
เที่ยวนี้ “วิชา มหาคุณ” กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างให้“ศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ของ ป.ป.ช. ที่มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ไปศึกษาและหาข้อสรุป ก่อนจะส่งจดหมายเตือนไปถึงรัฐบาลเป็นครั้งที่ 2 ว่าโครงการการรับจำนำข้าวนั้น ได้เกิดปัญหาการทุจริตในขั้นตอนใดบ้าง
หากรัฐบาลยังปล่อยให้เกิดการทุจริตจำนำข้าวขึ้น ป.ป.ช.ก็จะพิจารณาว่าเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่
งานนี้จึงอาจทำให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ รวมไปถึง ครม.ทั้งคณะต้องกลับมาทบทวนอย่างหนักว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงต่อไปหรือไม่
เพราะเที่ยวนี้ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ ตัดตอนว่าไม่รู้ไม่เห็นการทุจริตที่จะเกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวต่อจากนี้ได้อีกต่อไป
ย้อนไปดูการดำเนินการตลอดปีกว่าที่ผ่านมา มีแต่กระแสข่าวการทุจริต ความไม่โปร่งใสให้ได้ยินอย่างต่อเนื่อง แต่ละเสียงที่ออกมาทักท้วง ล้วนแต่เป็นคนระดับแถวหน้าของสังคม
ทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
จนมาถึงกลุ่มนักวิชาการและนักศึกษา 146 คน นำโดย “อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” คณบดี คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า เข้ายื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่านโยบายรับจำนำข้าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และมาตรา 84 (1) หรือไม่ ซึ่งบัญญัติให้รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน
ถึงจะมีปัญหาเรื่องเอกสารในตอนแรก แต่สุดท้ายก็ยื่นเพิ่มสำเนาเอกสารจำนวน 9 ชุด ครบทั้งหมดแล้ว ครบถ้วนตามระเบียบของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
รอดูแค่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะหยิบขึ้นมาพิจารณาในการประชุมวันที่ 10 ต.ค.ทันหรือไม่เท่านั้น
เรื่องนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อรัฐบาลไม่น้อย จับอาการได้จากมีคนในพรรคเพื่อไทยหลายกลุ่มหลายก๊วนออกมาถล่มพวกต่อต้านจำนำข้าว ตามด้วยการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงที่นำเกษตรกรชุมนุมต่อต้านนิด้า
ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาลยังถูกท้าทายจากคนในด้วยกันเองอย่าง “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตแห่งชาติ (กยอ.) ออกมาวิพากษ์โครงการรับจำนำข้าวว่า อันตรายที่สุด
“ถ้ารัฐบาลจะพังก็เรื่องโครงการรับจำนำข้าว”
แต่จนแล้วจนรอด ยิ่งลักษณ์ ยังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องหลายฝ่ายพอสมควร
สอดรับกับท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่ตัวจริง ได้ประกาศผ่านสื่อต่างประเทศ สนับสนุนให้รัฐบาลของน้องสาวเดินหน้านโยบายจำนำข้าวต่อไป
“เราไม่ได้โยนเงินทิ้งเปล่าๆ โครงการดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายข้าวในสต๊อก อีกทั้งเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ และช่วยประคับประคองประเทศไทยจากผลกระทบของวิกฤตหนี้ในยุโรป” ไฟเขียวสำคัญจากนายใหญ่
เมื่อนายใหญ่และนายกฯ ส่งสัญญาณให้นโยบายจำนำข้าวเป็นน้ำมันขับเคลื่อนรัฐบาลต่อ ย่อมเอื้อให้บรรดากองทัพเพื่อไทยต่างออกตบเท้าเดินหน้าลุยพวกต่อต้านนโยบายนี้อย่างถึงพริกถึงขิง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตอนนี้ประเด็นเรื่องจำนำข้าวยังไม่สะท้านรัฐบาล แต่อีกไม่นานสถานการณ์จะเข้มข้นขึ้นจากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเตรียมใช้เป็นตัวชูโรงถล่มรัฐบาลในช่วงกลางเดือน พ.ย.
หวังถึงขั้นเป็นประกายไฟให้เกิดกระแสต่อต้านการทุจริตของรัฐบาลนอกสภา
เพราะฉะนั้น การดึงดันเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวนับจากนี้ต่อไป จึงไม่ต่างอะไรกับเส้นทางเสี่ยงของรัฐบาล โดยเมื่อใดเกิดพลาดพลั้งขึ้นมา ถึงเวลานั้นย่อมสะเทือนต่อเก้าอี้นายกฯ และเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น